เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งโดยเฉพาะโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และการอาศัยความลํ้าหน้านี้เป็นช่องทางก่ออาชญากรรม ทั้งล่อลวง แสวงหาผลประโยชน์ ละเมิดสิทธิ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชน ล้วนเป็นสถานการณ์ที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด เพราะจากสถิติคดีค้า มนุษย์เด็กและการแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านระบบออนไลน์ในประเทศไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (2559-ตุลาคม 2566) อ้างอิงข้อมูลจากชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต พบว่าเด็กไทยถูกล่วงละเมิดทั้งการค้ามนุษย์ ล่วงละเมิดทางเพศ ถูกครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก และนำข้อมูลอนาจารของเด็กเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้นแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2565 โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 24 เท่า และพบผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้นเป็น 56 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่เริ่มเก็บสถิติ
ประเทศไทยเองมีกฎหมายเอาผิดเรื่องสื่อลามกอนาจารเด็ก หรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) เรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งมีการแก้ไขคำนิยามโดยเพิ่มคำว่า “สื่อลามกอนาจารเด็ก” เข้ามาเป็นครั้งแรก และเพิ่มอีก 2 มาตรา คือ มาตรา 287/1 และมาตรา 287/2 เป็นความผิดฐานครอบครอง ผลิตและจำหน่ายสื่อลามกเด็ก ตั้งแต่ปี 2558
แต่การเดินหน้าแก้ไขวิกฤตปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็กในประเทศไทย ที่ดูเหมือนรุดหน้าและมีประสิทธิภาพหลังมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ทว่า ความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ฝ่ายปฏิบัติงานโดยการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงกลุ่มนักวิชาการจากภาครัฐ ภาคเอกชน และ NGO ที่ทำงานเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิเด็กทั้งระดับประเทศและนานาชาติ
ในเวทีเสวนาพิเศษ “ขั้นตอนสำคัญช่วยลดการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและเยาวชนทางออนไลน์” (Key steps to reduce child sexual abuse online) และ “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากการล่วงละเมิดทางเพศ : ความท้าทายและก้าวต่อไปเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น” (Protecting children from sexual abuse: challenges and key steps forward) ที่จัดขึ้นในงานประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก Child Protection Summit, Bangkok 2024 โดย มูลนิธิเด็กโลก (World Childhood Foundation) ในสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ร่วมกับ มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Safeguardkids Foundation) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย
ได้เสนอจุดสังเกตที่น่าสนใจ พร้อมแนะแนวทางเพื่อให้การร่วมมือแก้ไขปัญหาที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน และผูกพันการทำงานกับหลายกระทรวงจากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ได้แก่ กระทรวง มหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อเกิดผลช่วยปกป้องเด็กไทยจากอาชญากรรมได้จริง
โดย ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้อัปเดตสถานการณ์การครอบครองภาพลากมกและล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ในปัจจุบันว่า จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสายด่วนอินเทอร์เน็ตไทยฮอตไลน์กับฮอตไลน์สากลอินโฮป 54 แห่ง ครอบคลุม 50 กว่าประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนเคสการละเมิดมากขึ้นทุกปี
แต่ละปีได้รับรายงานการแจ้งมากกว่า 10,000 URL และแต่ละ URL ไม่ได้มีเหยื่อเด็กแค่ 1 คน หรือภาพอนาจารแค่ 1 ภาพ แต่อาจเป็น 100 เป็น 1,000 ภาพ อายุเด็กที่ถูกละเมิดจากช่วงชั้นมัธยมกลับลดลงเป็น 3-13 ปี ซึ่งมีมากถึง 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ แม้ แต่เด็กที่อายุ 0-2 ขวบก็มีถึง 2% เหล่านี้คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะจากการสำรวจเด็กกลุ่มตัวอย่าง 30,000 กว่าคนในปี 2565 ประมาณ 81% มีมือถือเป็นของตัวเอง ในจำนวนนี้แอคทีฟบนสื่อโซเชียลมีเดียถึง 85% ซึ่งเพิ่มโอกาสให้เด็กเสี่ยงภัยออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 40% อีกประการที่น่าห่วงคือค่านิยมการสร้างคอนเทนต์ปลดเปลือยจากตัวเด็กเอง ถ่ายกันเองแล้วก็ชวนกันแชร์ขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลุ่มผู้ร้ายมักจะเก็บภาพเหล่านี้ไปรวบรวมและใช้ข่มขู่เแบล็คเมล์เด็ก เป็นต้น
“ภาพลามกอนาจารเด็กที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต ถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนและวนเรียนทำร้ายเด็กไม่มีที่สิ้นสุด เราไม่มีทางมั่นใจได้เลยว่าจะตามลบออกได้หมด เด็กจึงมีบาดแผลทางใจ ทนทุกข์ทรมาน บางคนต่อสู้กับสิ่งนี้ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน บางคน 1 ปี สู้ไม่ไหวทำร้ายตัวเองฆ่าตัวตายก็มีอันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย” กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม
เช่นเดียวกับ นายกีโยม แลนดรี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักงานเลขาธิการ องค์การเอ็คแพท ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศเด็กไทยทางออนไลน์ว่า จากการทำงานในระดับนานาชาติประเทศไทยคือ 1 ใน 25 ประเทศ ที่อยู่ในกลุ่มน่าเป็นห่วง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่เด็กกลุ่มเปราะบางเท่านั้น แต่ปัญหาดังกล่าวข้ามศาสนา ข้ามสังคม เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน และไม่มีความแตกต่างว่าจะเป็นเด็กหญิงเด็กชาย เด็กในเมืองหรือชนบท ดังนั้นต้องดูแลเด็กๆ ทุกกลุ่ม ควรเน้นรับฟังและให้ความช่วยเหลือเด็กซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะที่ผ่านมามักใช้โครงการหรือยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ซับซ้อนเข้าไปช่วยเหลือ แต่โครงการเหล่านั้นไม่ได้มีผลทำให้ชีวิตเด็กดีขึ้น เด็กและเยาวชนกว่า 70% ไม่เชื่อมั่นในโครงการหรือยุทธศาสตร์ว่าจะช่วยพวกเขาได้จริงๆ ด้วยซํ้า
ด้าน ดร.กัณฐมณี ลดาพงษ์พัฒนา จากเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ให้ข้อสังเกตที่ชวนฉุกคิดโดยเธอระบุว่า เด็กและเยาวชนที่อยู่ในสถานรองรับประเภทต่างๆ คือกลุ่มเปราะบางหนึ่ง ที่ถูกละเมิดทางเพศได้ง่ายและไม่มีใครคาดคิด จากตัวเลขประมาณการมีเด็กเสี่ยงอยู่ในสถานการณ์นี้อย่างน้อย 120,000 คนทั่วประเทศ อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ 30 กว่าแห่ง ของเอกชน 700 กว่าแห่งทั่วประเทศ ในศาสนสถานของทุกศาสนา ในสถานพินิจ โรงเรียนประจำ โรงเรียนประจำศาสนาอีกหลายพันแห่งทั่วประเทศ
ซึ่งแค่ในสถานสงเคราะห์เอกชนที่มีจำนวนเด็กในการดูแลเฉลี่ย 58 คนต่อแห่ง แต่มีผู้ดูแลเพียง 2 คน จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะให้การดูแลเหมือนที่ทุกท่านดูแลลูกอยู่ที่บ้าน และการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น กฎหมายจดทะเบียนขอรับใบอนุญาตดำเนินการสถานสงเคราะห์ ทำให้สถานสงเคราะห์ส่วนมากในประเทศไทยผิดกฎหมายอยู่อย่างน้อย 70% ยังมีงานวิจัย ชี้ชัดว่าสถานสงเคราะห์เด็กในประเทศ ไทยมีจำนวนมากเกินพอแล้ว ควรผลักดันให้เด็กและเยาวชนกลับไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุด
“เด็กและเยาวชนที่มาอยู่ในสถานรองรับจะขาดทักษะการใช้ชีวิตเพราะมีคนจัดการให้ มีสภาพจิตใจที่เปราะบางจากภาวะพร่องรัก จะวิ่งหาคนที่มาเยี่ยมเพราะโหยหาความรัก คนทั่วไปที่มาทำกิจกรรมจึงเข้าถึงเด็กได้ง่ายมาก นอกจากนี้ยังถูกกลั่นแกล้งหรือถูกล่วงละเมิดโดยรุ่นพี่หรือผู้ดูแลสถานรองรับ ตัวเด็กไม่กล้ามีปากมีเสียง เพราะคิดว่าพูดไปก็ไม่มีใครได้ยิน บอกไปก็ไม่มีใครเชื่อ อยู่ในสภาวะจำยอมด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แตกต่างกัน เราจึงเห็นพฤติกรรมเด็กรุนแรงมากขึ้น ยังพบปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้นมากในสถานรองรับทุกประเภท เด็กเริ่มมีภาวะซึมเศร้าไปจนถึงทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตาย เช่น ในจังหวัดแห่งหนึ่งที่เพิ่งไปเก็บข้อมูลมาเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้ว พบว่าเด็กมีความสัมพันธ์ทางเพศครั้งแรกกับเพื่อนในสถานรองรับที่ปรากฏว่ามีการระบาดของ HIV” ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย กล่าว
ขณะที่การตีแผ่ข้อเท็จจริงบนเวทีของ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำให้ทราบถึงแรงจูงใจในการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งพบว่าคดีที่ DSI เข้าไปตรวจค้นจับกุม 90% ขึ้นไป ผู้กระทำผิดจะมีภาพลามกอนาจารเด็กอยู่ในความครอบครองและพัฒนาไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ
ในอดีตการจับกุมผู้กระทำผิด 1 คน DSI จะพบการการละเมิดทางเพศต่อเด็ก 1-2 คน แต่เมื่อเริ่มสืบจากภาพลามกอนาจารที่ปรากฏในออนไลน์ตามอำนาจทางกฎหมายโดยไม่ต้องรอการให้ปากคำจากเด็ก ซึ่งบางคนกว่าจะพร้อมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เวลาก็ล่วงไป 10-20 ปี ร.ต.อ.เขมชาติ บอกว่า ปัจจุบันผู้กระทำผิด 1 คน สามารถแชร์ภาพละเมิดทางเพศเด็กได้หลายแสนภาพ ซึ่งการทำงานและขยายผลจนนำไปสู่การจับกุมของ DSI ที่ร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ สามารถช่วยเหลือเด็กในประเทศและที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ได้หลายคดี
“หลังจากที่มีกฎหมายคุ้มครอง DSI มีอำนาจในการดำเนินคดีละเมิดทางเพศเด็ก รวมถึงการพยายามที่จะศึกษาและพัฒนาบุคลากรให้เท่าทันอาชญากรและเทคโนโลยีที่คนร้ายใช้ในการปิดบังอำพราง ส่งต่อหรือแชร์ภาพลามกอนาจารเด็ก พูดได้ว่าไม่มีคดีไหนเลยที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู มาร้องเรียน แต่เป็น DSI สืบสวนจากอินเทอร์เน็ตแล้วเอาความจริงนั้นไปบอกคนในครอบครัวว่าลูกหลานของคุณถูกละเมิดทางเพศ ซึ่งเปรียบได้กับคนประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บเสียชีวิต แล้วเราต้องไปแจ้งข่าวร้ายให้ทราบ ผู้ปกครองหลายคนแทบจะครองสติไม่ได้ถึงขนาดเข่าทรุดลงไปแล้วก็กลั้นนํ้าตาไม่อยู่” ผอ. ศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก DSI กล่าว
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ภาคปฏิบัติ กลุ่มนักวิชาการ และนักกฎหมายบนเวทีเสวนาพิเศษ Child Protection Summit, Bangkok 2024 ยังแสดงความเห็นตรงกันอีกว่า กฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทยยังไม่เพียงพอ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหลังจากเด็กถูกล่วงละเมิดแล้ว และหลายส่วนไม่เอื้อต่อการทำงาน ...จะดี กว่าหรือไม่ หากเร่งคลอดกฎหมายที่สามารถสกัดกั้นการล่วงละเมิดทางเพศทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ก่อนเหตุร้ายจะเกิด!
ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครพนม เสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เมื่อพูดถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ เช่น ถูกข่มขืนหรือกระทำชำเราต่อเด็กและเยาวชน หลายคนอาจไม่กังวลเพราะเห็นว่าบ้านเมืองมีกฎหมายบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว แต่หากพิจารณาเครื่องมือจัดการปัญหาดังกล่าวอีกครั้ง จะพบว่าการตีความของกฎหมายที่คุ้มครองเรื่องการละเมิดเด็ก จะเป็นในลักษณะการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายแล้วเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับในพฤติกรรมการพูดคุยเรื่องทางเพศที่ไม่เหมาะสม (Sexting) การชักจูงใจหรือล่อลวงให้กระทำเรื่องไม่สมควรทางเพศออนไลน์ (Grooming) และการข่มขู่เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ในเรื่องทางเพศ (Sextortion) ซึ่งเป็นความต่างด้านกฎหมายที่ประเทศไทยไม่มี ในเวทีอาเซียนมี 4-5 ประเทศ ที่มีกฎหมายคุ้มครองด้าน Sexting แล้ว แต่ไทยไม่ใช่หนึ่งในนั้น และการ Grooming คือพฤติกรรมเตรียมเด็กให้พร้อมเป็นเหยื่อ
“ตอนประจำอยู่ภูเก็ตที่มีต่างชาติอาศัยอยู่มาก บางคนเป็นกลุ่มคลั่งเด็ก คนกลุ่มนี้จะสร้างบ้านหลังใหญ่ มีสนามฟุตบอล มีสระว่ายนํ้า มีทีวีจอใหญ่ เพื่อหลอกล่อให้เด็กมาเล่นที่บ้านและอาศัยจังหวะในการล่วงละเมิดทางเพศ ในประเทศเราต้องรอให้ผู้ร้ายกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของสวงนเด็กก่อนถึงจะจับกุมได้ แต่หากเป็นในสหรัฐฯ หรือใน 4-5 ประเทศอาเซียนข้างต้น การกระทำเช่นนี้เพื่อล่อลวงเด็กตำรวจสามารถจับดำเนินคดีและติดคุกได้เลย และยังมีกฎหมายอีกหลายส่วนที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน เช่น การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทั้งที่การละเมิดทางเพศเด็กส่วนมากมักทำเป็นเครือข่าย เท่ากับว่าประเทศไทยมีรูโหว่ที่ผู้กระทำผิดรู้ก่อนใช้เป็นประตูสวรรค์ในการหลบซ่อน” ดร.มาร์ค กล่าวและบอกต่อด้วยว่า
ตนเข้าใจว่าหลาย ๆ ท่านในที่นี้ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ขอให้ใช้ความเป็นมนุษย์ที่ถ้าบุตรหลานในครอบครัวถูกใครสักคนส่งข้อความมาคุยเรื่องทางเพศ อยากกอด อยากจูบ อยากหอม อยากมีเพศสัมพันธ์ แต่อย่างอื่นเขาไม่ได้ทำ ไม่ได้ส่งคลิปวีดิโอโป๊ ไม่ได้ส่งใด ๆ มาเลย แต่ตำรวจทำอะไรเขาไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ฉะนั้นจึงควรปรับปรุง แก้ไข และผลักดันกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และยูนิเซฟ ช่วยดำเนินการให้กฎหมายครอบคลุม Sexting, Grooming และ Sextortion
“ร่างกฎหมายที่ว่าถูกเสนอต่อวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดก่อนให้ความเห็นชอบในหลักการ ขณะนี้อยู่ในความดูแลของสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ซึ่งถ้าไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ผมเป็นอัยการ ผมไม่สามารถทำงานได้ ตำรวจหน้างานไม่สามารถจับผู้กระทำความผิดได้ เพราะกฎหมายยังไม่ได้กำหนดว่าเป็นความผิด ไม่มีบทลงโทษ เราดำเนินการใด ๆ ไม่ได้เลยครับ เมื่อมันไม่มีการดำเนินการ ผู้กระทำผิดก็จะอาศัยช่องโหว่นี้กระทำความผิดไปเรื่อย ” อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครพนม อธิบายเพิ่ม
นอกจากการพัฒนาปรับปรุงตัวกฎหมายให้เท่าทันพฤติกรรมผู้กระทำผิดและความลํ้าหน้าของเทคโนโลยีแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติงานและเหล่านักวิชาการต้องการให้เกิดขึ้นในสังคมคือ การสร้างวัคซีนไซเบอร์ หรือ Digital Literacy ให้แก่เด็ก รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และสังคม เพราะหากจะแก้ไขปัญหาวิกฤตให้บรรเทา ต้องพัฒนาทุกมิติให้เท่าทันไปพร้อมกัน และการป้องกันที่ดีด้วยการสร้างวัคซีนไซเบอร์จะเกิดการสูญเสียน้อยกว่าการแก้ไขที่ปลายเหตุ