เป้าลมในการผลักดันจีดีพีให้โต 3 % ในปี 2567

11 มิ.ย. 2567 | 10:09 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2567 | 10:16 น.

เป้าลมในการผลักดันจีดีพีให้โต 3 % ในปี 2567 คอลัมน์ บ้านเมืองของเรา โดย สมหมาย ภาษี

การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจครั้งที่ 2 เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน ที่ได้มีการแถลงข่าวโดยท่านรองนายกรัฐมนตรีพิชัย ชุณหวชิร ให้ผู้สื่อข่าวและประชาชนได้ฟังกันทั่วไปแล้วนั้น ผมอ่านดูแล้ว อดที่จะเป็นห่วงว่ามาตรการที่รัฐบาลคิดจะทําเพื่อให้บรรลุเป้าที่จะให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ให้ได้ถึง 3 % นั้น จะเป็นเป้าลมเสียมากกว่า แทนที่จะโตได้ถึงเป้าอีก 6 เดือนที่เหลือของปี อาจโดนลมพัดกรรโชกไม่กี่ครั้ง 3 % ก็ไม่ได้แต่อาจลดลงมาเหลือ 2 % เป็นไปได้มากทีเดียว 

ที่ผมกล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่จะไปดูถูกดูแคลน ครม. เศรษฐกิจชุดนี้ โดยเฉพาะท่านพิชัย รัฐมนตรีคลังและรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ผมรู้ฝีมือของท่านดี ว่าเป็นผู้ที่จัดจ้านในเรื่องการเงินและการบริหารธุรกิจที่เก่งหาตัวจับยากคนหนึ่ง แต่ตัวท่านนั้น แม้จะผ่านงานเอกชนและผ่านงานองค์กรใหญ่อย่าง ปตท. แต่ไม่เคยรับราชการ ซึ่งระบบราชการนี่แหละ คือตัวปัจจัยลบที่สําคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน บวกกับธรรมเนียมการคอร์รัปชันที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงของราชการ รวมทั้งการสั่งการหรือวิ่งเต้นโดยทางการเมืองเพื่อจะเอาโครงการไปให้พรรคพวกในวงการเมืองได้โครงการไปทํา เป็นต้น 
 

ปัจจุบันสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ยิ่งมีมากกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปนัวเนียเป็นกระแสลมเข้าไปกระทบเป้าทุกวี่ทุกวัน ในที่สุดเป้าลมก็ค่อยๆ ยุบ มันจะพองเต่งตึงและขยายเป็นถึง 3 % ไม่ได้หรอกครับ 

ผมจะขอให้ความเห็นว่าจะไปไม่ถึงเป้าได้อย่างไร ทั้งนี้ขอให้ ครม. เศรษฐกิจอย่าคิดอย่างโน้นอย่างนี้นะครับ ผมขอติเพื่อไม่ให้เป้าลมมันแฟบเกินไปมากกว่า 

เป้าแรก คือ การผลักดันการท่องเที่ยว ที่ตั้งเป้าไว้ 35.7 ล้านคน จะให้เพิ่มขึ้นไปอีก 1 ล้านคน เป็น 36.7 ล้านคน และจะให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น เรื่องนี้ควรจะเป็นไปได้ หรือจะให้เพิ่มขึ้นอีก 2 – 3 ล้านคน ก็อาจเป็นไปได้ แต่อย่าลืมว่าขณะนี้ สถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกไม่ดี ถ้ามีเรื่องรุนแรงมากขึ้น หรือเกิดโรคระบาดที่รุนแรงสักอย่างที่ไหนสักแห่ง เป้าที่ว่าไว้ที่ 35.7 ล้านคน ก็จะไปไม่ถึงแน่ เรื่องนี้บอกได้ว่าความเสี่ยงยังมีมากอยู่ดี  

เป้าที่สอง คือ การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐปี 2567 ที่มียอดทั้งหมด 8.5 แสนล้านบาท โดยรัฐจะพยายามขับเคลื่อนให้มีการเบิกจ่ายให้ได้ถึง 70 % ภายในปีนี้ (เข้าใจว่าภายในธันวาคม 2567) เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยรวมทั้งกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นคนคุมการจ่ายเงินเขาเร่งกันตลอดทุกรัฐบาล แต่ก็ทํายาก ที่ยากคนที่เป็นรัฐมนตรีทั้งว่าการและรัฐมนตรีช่วยต่างก็ทราบกันดี เหมือนสวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ เพราะรัฐมนตรีมัวเจรจากับคนของผู้รับเหมาไม่เสร็จ หรือคนของรัฐมนตรีกําลังแย่งกันขอโครงการจากหน่วยงานเจ้าของโครงการอยู่ บางโครงการน่าหมํ่าท่าทางอิ่มหมีพีมันดี รัฐมนตรีหรือนักการเมืองที่เข้ามารุมล้อมขอทํากันตรงๆ ก็มีมากอยู่ เรื่องเช่นนี้ต่างหากที่ทําให้โครงการล่าช้า บางโครงการเช่น โครงการรถไฟฟ้าส่วนสร้างอุโมงค์ลอดแม่นํ้าเจ้าพระยาก็เริ่มโครงการกันไม่ได้สักที ช้ามาร่วม 2-3 ปีเห็นจะได้ 

เป้าที่สาม คือ การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ที่บอกว่าขณะนี้ภาคเอกชนขอการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลผ่านสํานักงานบีโอไอ มีเม็ดเงินเตรียมลงทุนอยู่ถึง 800,000 ล้านบาท ถ้าสามารถดึงเงินลงทุนมาปีนี้สัก 3 - 4 แสนล้านบาท ก็จะช่วยเพิ่มจีดีพีได้ ผมว่าเรื่องนี้ ครม. เศรษฐกิจคงฝันไปกระมัง เพราะจริงๆ ที่เริ่มเห็นกันตอนนี้ในประเทศไทย คือ การจ้างงานคนไทยให้รื้อโรงงานอุตสาหกรรมที่ถอนตัวไปหรือย้ายถิ่นฐานไปจากเมืองไทยมากกว่า 
 
ท่านผู้อ่านพอจะเห็นภาพของเป้าลมแล้วหรือยังครับ ผมบอกตรงๆ ตามที่ได้ฟังมาและที่เป็นความเห็นของผมเองว่ารัฐบาลนี้ยิ่งเดินยิ่งเป๋ มองและแยกแยะสิ่งดีและชั่วไม่ออก ฟังบางท่านในคณะรัฐมนตรีพูดว่าการที่ทุกวันนี้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตกตํ่ามากกว่าประเทศอื่นไม่ใช่เพราะรัฐบาล ผมไม่ได้โทษใครนะครับ แต่เสียงจากนักธุรกิจ ผู้รู้ และผู้ที่ไม่ฝักใฝ่การเมืองทั้งหลายพูดเหมือนกันว่าเป็นเพราะรัฐบาลเป็นสําคัญ เพราะรัฐบาลนี้ไปก้าวก่ายกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่บริหารงานด้านเศรษฐกิจและการเงินตามหลักธรรมาภิบาลอย่างมั่นคง ในขณะที่ทางฟากรัฐบาลไม่เคยมีใครพูดถึงและกระทําในเรื่องธรรมาภิบาลให้ประชาชนและโลกเขาเห็นบ้างเลย แล้วมันจะเอาดีตรงไหนมาลงทุนครับ