มัดตัวผู้ทุจริต จากคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของหมึก!

17 ก.ย. 2566 | 03:30 น.

มัดตัวผู้ทุจริต จากคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของหมึก! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,923 หน้า 5 วันที่ 17 - 20 กันยายน 2566

ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน ... สุภาษิตไทยโบรํ่าโบราณที่ยังคงปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย อันหมายความถึง การดำรงตนเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งต่อหน้าที่การงานและการกระทำใดๆ ย่อมจะสามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างสง่างาม

การประกอบสัมมาอาชีพหรือทำมาหากินโดยสุจริต แม้ไม่รํ่ารวยอย่างรวดเร็วแต่ก็สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ เปรียบเสมือนนํ้าซึมบ่อทราย หากแต่ผู้ที่มีนิสัยคดโกง ไม่ซื่อตรง เมื่อถูกจับได้ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่ได้รับการเชื่อถือไว้วางใจและเสียโอกาสดีๆ ในชีวิต และหากเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยมิชอบจากตำแหน่งหน้าที่การงานด้วยแล้ว ย่อมจะต้องได้รับโทษและเสียอนาคตในที่สุด

 

วันนี้นายปกครอง ... ได้หยิบยกประเด็นอุทาหรณ์เกี่ยวกับการทุจริตโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่การงาน ซึ่งท้ายสุดแล้วก็หนีไม่พ้นถูกจับได้ และถูกสั่งลงโทษทางวินัย ด้วยจำนนต่อพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร ไปจนถึงผลการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์! 

โดยเรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า ... สถาบันที่มีหน้าที่จัดฝึกอบรมพัฒนาข้าราชการแห่งหนึ่ง ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ตรวจราชการระดับกระทรวง และมีการเชิญวิทยากรหลายท่านมาบรรยายในหลักสูตร แต่หลังเสร็จสิ้นโครงการไปแล้ว 3 เดือนกลับตรวจสอบพบว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าสมนาคุณวิทยากร โดยที่ไม่ได้มีการบรรยายจริง !

 

เมื่อเรื่องแดงขึ้น… ย่อมนำไปสู่การสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษทางวินัย กรณีนี้แม้จะผ่านไป 3 เดือน แต่ก็ยังพอจะจับมือใครดมหรือสามารถพิสูจน์หลักฐาน มัดตัวผู้กระทำผิดได้ โดยมีผู้ต้องสงสัยแค่เพียง 2 คน ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงิน หลักฐานที่ว่าคืออะไรไปดูกันครับ... 

ในการพิสูจน์ข้อกล่าวหา เลขาธิการสำนักงานซึ่งสถาบันดังกล่าวสังกัด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ผลปรากฏว่า มีการจ่ายเงิน ค่าสมนาคุณวิทยากร แต่วิทยากรที่มีชื่อต่างให้ถ้อยคำยืนยันตรงกันว่า ไม่ได้ไปบรรยายในวันที่ระบุ และไม่ได้รับเงินค่าสมนาคุณวิทยากร อีกทั้งลายมือชื่อในใบสำคัญรับเงิน ก็ไม่ใช่ลายมือชื่อของตนแต่อย่างใด อันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง 

แสดงว่างานนี้... มีผู้ทุจริตเอาเงิน ค่าวิทยากรและลงชื่อแทนเป็นแน่แท้!

 

มัดตัวผู้ทุจริต จากคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของหมึก!

 

เมื่อมีมูล เลขาธิการฯ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงนายเสือ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงินของโครงการดังกล่าว โดยเป็นผู้ที่น่าสงสัยมากที่สุด 

ผลการสอบสวนพบว่า มีการจัดทำใบสำคัญรับเงินค่าสมนาคุณวิทยากรอันเป็นเท็จ และปลอมลายมือชื่อวิทยากร จากนั้นได้นำใบสำคัญรับเงินดังกล่าวไปใช้ประกอบการล้างเงินยืม (การยืมเงินงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดฝึกอบรม) เพื่อที่จะไม่ต้องส่งเงินยืมคืนให้แก่ทางราชการ โดยเจตนาที่จะเก็บเงินดังกล่าวไว้เอง ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดคือนายเสือตามที่สงสัย

หลังจากนั้น อ.ก.พ. สำนักงานพิจารณาแล้ว ได้มีมติให้ลงโทษไล่ นายเสือออกจากราชการ เลขาธิการฯ จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

นายเสือจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งลงโทษไล่ออกชอบด้วยกฎหมาย และอัตราโทษมีความเหมาะสมแก่กรณีการกระทำความผิดแล้ว จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ 

โดยที่มาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผลอุทธรณ์จะต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทราบ หรือ ถือว่าทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. 

เมื่อนายเสือไม่เห็นด้วยจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ตนออกจากราชการ และให้เลขาธิการฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) คืนสิทธิพึงมีพึงได้ โดยมีผลย้อนหลังไป ณ วันที่ออกคำสั่ง

คดีนี้... ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงินของโครงการพิพาท มีหน้าที่ต้องเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับตามที่กฎหมายกำหนด ให้ตรงตามความเป็นจริงเท่านั้น

เมื่อพิเคราะห์พยานบุคคลซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นวิทยากรรับเชิญให้ไปบรรยายในโครงการพิพาท ที่ต่างยืนยันสอดคล้องต้องกันว่า ในวันที่ระบุ พยานทั้งห้าไม่ได้เป็นวิทยากร และไม่ได้รับเงินค่าสมนาคุณวิทยากรแต่อย่างใด โดยที่พยานทั้งห้าดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ ต่างเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในระดับสูง ย่อมให้การตามความเป็นจริง และไม่มีเหตุผลใดที่จะให้การปรักปรำผู้ฟ้องคดี 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผลการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลางยืนยันว่า ใบสำคัญรับเงินที่ผู้ฟ้องคดีกรอกรายละเอียด รวมทั้งการลงลายมือชื่อ “ผู้รับเงิน” และลายมือชื่อผู้ฟ้องคดีในฐานะ “ผู้จ่ายเงิน” เป็นหมึกที่มีคุณสมบัติทางฟิสิกส์เป็นอย่างเดียวกัน (เมื่อทำการทดสอบจะมีลักษณะการเรืองแสงเหมือนกัน)

จึงเห็นว่า การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างมั่นคง สามารถนำมาประกอบกับคำให้การพยาน ที่เป็นวิทยากรทั้งห้ารายดังกล่าวได้

ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีนำใบสำคัญรับเงินอันเป็นเท็จ ไปใช้เป็นหลักฐานการล้างเงินยืม จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตตามมาตรา 85 (1) และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. จึงชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ. 3/2565) 

คดีดังกล่าว นอกจากจะเป็นอุทาหรณ์เตือนใจที่ยืนยันสุภาษิตข้างต้นที่ว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” แล้ว ยังมีความน่าสนใจเกี่ยวกับการนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพิสูจน์พยานหลักฐาน ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำมารับฟังประกอบการรับฟังพยานหลักฐานอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการตรวจสอบ และมัดตัวผู้ทุจริตได้

ดังเช่นในกรณีนี้ที่ถูกจับทุจริต เพราะหมึกที่ผู้ฟ้องคดีใช้กรอกข้อมูลรวมถึงที่ลงลายมือชื่อผู้จ่ายเงิน และที่ใช้ปลอมลายมือชื่อวิทยากรในการรับเงิน ล้วนมีคุณสมบัติทางฟิสิกส์เป็นอย่างเดียวกัน (เรืองแสง) อันระบุได้ว่า เป็นการกระทำของผู้ฟ้องคดี 

อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่จะตรวจพิสูจน์หลักฐานที่เป็นเอกสารอีก เช่น การตรวจพิสูจน์คุณสมบัติทางเคมีของหมึก การตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงลายมือเขียน ลายมือชื่อ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความใดๆ ในเอกสาร ฯลฯ เพื่อให้สามารถมัดตัวผู้กระทำผิดได้ครับ 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)