“อยากฟ้องคดี แต่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล จะทำอย่างไรดี ?”
เรื่องนี้ ... อาจเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ประสงค์จะฟ้องคดีปกครองในคดีที่มีทุนทรัพย์ หรือฟ้องเพื่อเรียกร้องเงิน หรือ ค่าเสียหาย ที่จะต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมศาลด้วย วันนี้ ... นายปกครองมีคำตอบมาให้ครับ !
“การฟ้องคดีปกครอง” โดยปกติแล้วผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายสามารถยื่นฟ้องคดีได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กล่าวคือ ไม่บังคับให้ต้องมีทนายความ และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลแต่อย่างใด
เว้นแต่ ...การฟ้องคดีที่ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงิน หรือ ส่งมอบทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด หรือ ความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง
แต่ทว่า!...การฟ้องคดีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามที่ว่ามานี้ หากคู่กรณีไม่มีเงิน หรือ ทรัพย์สินเพียงพอ ที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือโดยสถานะของตนถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล จะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ก็สามารถยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องคดี หรือ การอุทธรณ์คำพิพากษาได้
โดยยื่นคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลและพยานหลักฐาน เท่าที่จะทำได้ต่อศาลปกครองพร้อมกับคำฟ้องหรือคำอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี ดังเช่นคดีที่นายปกครองนำมาเล่านี้ ...
เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า... จังหวัดได้ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดให้ปรับปรุงถนนรอบอ่างเก็บน้ำ อันเป็นสัญญาทางปกครอง จำนวนเงินค่าจ้างกว่า 11 ล้านบาท หลังจากที่ลงนามในสัญญาแล้ว ปรากฏว่า บริเวณพื้นที่ก่อสร้างเกิดน้ำท่วมทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ซึ่งในระหว่างสัญญา จังหวัดได้มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีเพื่อแจ้งสิทธิการเรียกค่าปรับ และเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
และได้ส่งเอกสารการคำนวณค่าปรับ พร้อมทั้งแจ้งว่า ค่าปรับตามสัญญาจ้างเกินร้อยละ 10 ของวงเงินค่าจ้างแล้ว จังหวัดจะบอกเลิกสัญญา เว้นแต่ผู้ฟ้องคดีจะยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น และหลังจากนั้นจังหวัดก็ได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างและสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า จังหวัดใช้สิทธิปรับผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยข้อสัญญาและกฎหมาย ประกอบกับจังหวัดได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีแล้ว ย่อมต้องให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยจังหวัดต้องชดใช้ค่าแห่งการงานที่ทำแล้วให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงได้ยื่นฟ้องจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จังหวัดชำระค่าการงาน คืนเงินค่าปรับ คืนหลักประกันสัญญา และชำระค่าเสียหายจากการที่ผู้ฟ้องคดีต้องเสียดอกเบี้ยของหลักประกันสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นเงินทั้งสิ้น จำนวนกว่า 6 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในคดี
พร้อมกันนี้ผู้ฟ้องคดี ได้มีคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินคดีนี้ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เพื่อขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด โดยอ้างว่า ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (เปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้เพื่อให้ยังสามารถชำระหนี้ได้โดยไม่ผิดนัด) ทำให้ไม่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จึงไม่สามารถประกอบกิจการได้ ผู้ฟ้องคดีและหุ้นส่วนผู้จัดการไม่มีรายได้ทางอื่น และมีภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หากไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด จะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร
เหตุผลของผู้ฟ้องคดีจะรับฟังได้หรือไม่ และศาลจะยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้ทั้งหมดตามที่ขอหรือไม่ ไปติดตามกันต่อเลยครับ ...
ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของผู้ฟ้องคดี คำชี้แจงของหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ฟ้องคดีที่แสดงทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงรายได้ และรายจ่าย และพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจงแล้ว เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีผลเป็นเพียงการเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ให้เหมาะสมกับรายรับที่ลดลง หรือ ความสามารถในการชำระหนี้ที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ผู้ฟ้องคดียังสามารถชำระหนี้ได้โดยไม่ผิดนัด ผู้ฟ้องคดียังคงสามารถประกอบกิจการได้อยู่ ผู้ฟ้องคดีจึงอยู่ในฐานะที่พอจะชำระค่าธรรมเนียมศาลได้
แต่โดยที่ผู้ฟ้องคดีและหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ฟ้องคดี มีภาระค่าใช้จ่าย และหนี้ค้างชำระหลายรายการ การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด (ทั้งหมดจำนวน 121,882 บาท ลดให้ 60,941 บาท) ยังอาจทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรอยู่ จึงเห็นสมควรให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นจำนวน 3 ใน 4 ของจำนวนเงินค่าธรรมเนียมศาลที่ต้องชำระ (เหลือที่ต้องชำระเพียง 1 ใน 4 ส่วน)
ศาลปกครองสูงสุดจึงแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจำนวน 3 ใน 4 ของค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด และให้ชำระค่าธรรมเนียมศาลในส่วนที่เหลือ 1 ส่วน (จำนวน 30,470.50 บาท) ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งศาล (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 442/2566)
สรุปได้ว่า… คู่กรณี หรือ ผู้ฟ้องคดีที่ไม่มีเงิน หรือทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือโดยสถานะของตนถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ก็สามารถยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาตามข้อเท็จจริง เหตุผลความจำเป็น และความเหมาะสมในแต่ละกรณี ในการที่จะยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้หรือไม่ เพียงใด ?
ดังเช่นในคดีนี้ ที่ศาลเห็นว่าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กรณีของผู้ฟ้องคดี ไม่เป็นเหตุถึงขนาดที่จะต้องยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้ทั้งหมด โดยผู้ฟ้องคดียังคงสามารถประกอบกิจการได้ และอยู่ในฐานะที่พอจะชำระค่าธรรมเนียมศาลได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วศาลยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน 3 ใน 4 ของจำนวนเงินค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด เหลือชำระเพียง 1 ใน 4 ส่วน เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การชำระค่าธรรมเนียมศาลเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการฟ้องคดีปกครอง ที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องชำระให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วย หากไม่ชำระให้ครบถ้วนศาลก็จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ทั้งนี้ เหตุผลที่จำเป็นต้องมีการกำหนดค่าธรรมเนียมศาลไว้ ก็เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้มีการไตร่ตรอง หรือ ยับยั้งชั่งใจในการฟ้องเรียกเงิน หรือ ค่าเสียหายไม่ให้เกิน หรือ สูงไปจากความเป็นจริง นั่นเองครับ ...
(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)