จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ : การฝึกจิตเป็นความดี
จิตฺตํ ทนฺตํสุขาวหํ : จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้
จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี : ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต
พุทธศาสนสุภาษิตที่นายปกครองยึดถือเป็นแนวทางในการฝึกตนท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันสูง และมีภาวะความเครียดสะสม อาจทำให้หลายๆ ท่าน เมื่อมีโอกาสก็อยากจะฝึกจิต ทำสมาธิ หรือปฏิบัติธรรม เพราะนอกจาก จะทำให้จิตใจสงบและมีสติในการใช้ชีวิตแล้ว ยังส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นอีกด้วยนะครับ ...
วันนี้ก็มีประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการลาไปฝึกจิตเจริญปัญญาของอาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งที่สอนด้านปรัชญาและศาสนา ซึ่งได้ใช้สิทธิลาไปถือศีลและปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 3 เดือน เป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่มีผลงานตามข้อตกลงและไม่ได้เลื่อนเงินเดือน โดยอาจารย์ท่านนี้เห็นว่า การลาไปปฏิบัติธรรมถือเป็นการปฏิบัติงานและทำนุบำรุงศาสนา ผู้ประเมินควรนำมาชดเชยคะแนนด้านงานสอนให้กับตน ข้ออ้างเช่นว่านี้ ... จะ รับฟังได้หรือไม่? เชื่อว่าหลายๆ ท่าน ก็อยากจะทราบ กรณีหากมีการลาไปปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกจิตเช่นกัน
เหตุของคดีเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ ... รศ.ท่านหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์สาขาวิชาปรัชญาและศาสนาสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง ได้รับอนุมัติให้ลาไปถือศีลและปฏิบัติธรรมตามมติคณะรัฐมนตรี (เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550) ซึ่งให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นสตรีมีสิทธิไปถือศีลและปฏิบัติธรรม เป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่ถือเป็นวันลา และต่อมาได้ลาออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยที่ไม่ได้รับการเลื่อนเงินเดือน ในรอบที่ลาไปปฏิบัติธรรมดังกล่าว อันมีผลต่อการคำนวณบำนาญ
หลังจากทราบว่าตนไม่ได้เลื่อนเงินเดือน อาจารย์จึงยื่นเรื่องร้องทุกข์และผู้มีอำนาจพิจารณามีคำวินิจฉัยเพิกถอนผลการประเมินและให้ดำเนินการประเมินใหม่ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของอาจารย์รายนี้ใหม่ ซึ่งภายหลังจากที่อาจารย์ได้กรอกภาระงานและผลการปฏิบัติงานแล้ว ทางภาควิชาแจ้งขอให้ส่งตำราและสื่อการสอน 8 เรื่อง งานวิจัย 2 เรื่อง เพื่อประกอบการพิจารณา แต่อาจารย์แจ้งว่าไม่สามารถส่งเอกสารดังกล่าวให้ได้
ภายหลังจากที่คณะกรรมการประเมินได้ประชุมพิจารณาผลงานแล้ว (แบ่งเป็นด้านผลงานและด้านพฤติกรรม ซึ่งด้านผลงานพิจารณาจาก 1. การเรียนการสอน 2. งานวิจัย 3. งานพัฒนานักศึกษา 4. งานบริการวิชาการ 5. งานบริหารและงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย และ 6. อื่นๆ เช่น ทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม) ทางภาควิชามีหนังสือแจ้งให้อาจารย์ทราบผลประเมินว่าอยู่ในระดับปรับปรุงและไม่ได้เลื่อนเงินเดือน เนื่องจากอาจารย์ไม่ได้สอนในรอบการประเมินที่ผ่านมาและไม่ได้จัดส่งตำราทางวิชาการที่ใช้ประกอบการสอนให้แก่คณะกรรมการประเมิน ทั้งนี้ ยังได้นำการลาไปถือศีลและปฏิบัติธรรมมาคิดเป็นคะแนนในส่วนทำนุบำรุงศาสนาให้แล้
อาจารย์ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ (ก.อ.ร.) แต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนผลการประเมินและให้ดำเนินการประเมินใหม่เฉพาะในหมวดการเรียนการสอน (ตำราและงานสอน) รวมทั้งขอให้คืนสิทธิย้อนหลัง และขอให้มหาวิทยาลัย (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการ กระทำละเมิด ซึ่งต่อมาศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อาจารย์ (ผู้ฟ้องคดี) จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว
ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ การที่คณะกรรมการประเมินได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีให้อยู่ในระดับปรับปรุงจนเป็นเหตุให้ไม่ได้เลื่อนเงินเดือน ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า มหาวิทยาลัยได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 และประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ประกาศ ก.พ.อ.) กำหนดแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์แบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านผลงาน (ร้อยละ 70) และด้านพฤติกรรม (ร้อยละ 30) โดยด้านผลงานจะให้นํ้าหนักการเรียนการสอน 40 งานวิจัย 10 ส่วนที่เหลืออย่างละ 5 โดยผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์มีภาระงานตามมาตรฐานขั้นตํ่าและตามที่ทำข้อตกลงก่อนการปฏิบัติงานไว้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (1) งานสอนโดยตรง (ต้องบรรยาย 3 รายวิชา รวม 31.5 ชั่วโมง/สัปดาห์) และ (2) งานตำราและสื่อการสอน
เมื่อผู้ฟ้องคดีกรอกผลการปฏิบัติงานในส่วนงานสอนโดยตรงว่า “ไม่มีผลการปฏิบัติงาน” การที่ คณะกรรมการประเมินให้คะแนนในส่วนนี้ 0 คะแนน ถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนการไปปฏิบัติธรรมโดยสภาพย่อมไม่ใช่ผลงานในด้านการเรียนการสอน ประกอบกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้กำหนดให้นำการไปปฏิบัติธรรมมาประเมินเป็นผลงานในส่วนการเรียนการสอนได้
ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีกรอกผลการปฏิบัติงานในส่วนงานตำราและสื่อการสอนว่า “มีตำราและสื่อการสอน 8 ชิ้นงาน” และ “งานวิจัย 0 ชิ้นงาน” ประธานกรรมการประเมินจึงแจ้งให้ส่งตำราและสื่อการสอน 8 เรื่อง และงานวิจัย 2 เรื่อง แต่ผู้ฟ้องคดีได้ส่งให้เฉพาะสำเนาร่างปก ปกใน คำนำเต็ม บทนำบางส่วนของตำราและสื่อการสอน และงานวิจัย โดยไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่างานจำนวนดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว การที่คณะกรรมการประเมินให้คะแนนในส่วนงานตำราและสื่อการสอน 0 คะแนน และงานวิจัย 30 คะแนน จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อรวมผลการประเมินทุกด้านแล้วได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 49.40 ซึ่งอยู่ในระดับปรับปรุงและไม่ได้เลื่อนเงินเดือน จึงถือเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของ
คณะกรรมการประเมินจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 253/2566)
คดีดังกล่าวนับว่าเป็นอุทาหรณ์สำหรับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งประสงค์จะใช้สิทธิลาไปถือศีลและปฏิบัติธรรมตามมติคณะรัฐมนตรีว่า แม้จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงภาระหน้าที่และการปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายเป็นสำคัญด้วย ดังเช่น กรณีข้างต้นที่อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยใช้สิทธิลาไปถือศีลและปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งมีภาระงานตามมาตรฐานขั้นต่ำและตามข้อตกลง อันถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะรูปแบบหนึ่งที่โดยสภาพแล้วการไปปฏิบัติธรรมไม่อาจถือเป็นผลงานในด้านการเรียนการสอน รวมถึงด้านตำราและสื่อการสอน จึงไม่อาจนำมาชดเชยคะแนนในด้านงานสอนได้ สำหรับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ก็น่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน หากมิได้มีข้อกำหนดไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้น ก่อนลาจึงควรมีการวางแผนเกี่ยวกับ การทำงานและการส่งผลงานร่วมกับผู้บังคับบัญชาเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนครับ ...
(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ “สายด่วนศาลปกครอง 1355”)