เจ้าของเรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต เหตุลูกจ้างจับปลาในฤดูวางไข่!

05 ก.ค. 2567 | 02:35 น.

เจ้าของเรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต เหตุลูกจ้างจับปลาในฤดูวางไข่! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4007 หน้า 5 วันที่ 7 - 10 กรกฎาคม 2567

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูปลาวางไข่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นเวลาสำคัญของ “ปลา” แม่พันธุ์ปลาจะว่ายทวนนํ้าไปวางไข่เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ ซึ่งอีกนัยหนึ่งยังหมายถึงความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ในระยะยาว อีกด้วย ทำให้ต้องมีการออกกฎหมายมาคุ้มครองมิให้จับปลาในฤดูวางไข่

 

แต่ทว่า ... การลักลอบทำการประมงหรือจับปลาในพื้นที่และช่วงเวลาที่ปลาวางไข่ ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งหากไม่จัดการอย่างเอาจริงเอาจัง ปลาบางชนิดอาจสูญพันธุ์ได้ในไม่ช้า 

สำหรับคดีที่นำมาพูดคุยกันในวันนี้ เรื่องมีอยู่ว่า ... ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของเรือประมง ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ ประเภทอวนลาก ต่อมาเรือของผู้ฟ้องคดีได้ถูกจับกุม เหตุเพราะลูกจ้าง (ผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือ) กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการประมงที่ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์นํ้ามีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในบริเวณที่กำหนด โดยเรือของผู้ฟ้องคดีซึ่งมีผู้ควบคุมเรือและพวกรวม 5 คน ได้ฝ่าฝืนเข้าไปในเขตดังกล่าวกว่า 3 ชั่วโมง

 

 

เจ้าของเรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต เหตุลูกจ้างจับปลาในฤดูวางไข่!

 

 

ต่อมา คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง ได้มีคำสั่งยึดเครื่องมือทำการประมงของผู้ฟ้องคดีจนกว่าคดีจะถึง ที่สุด เพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ และกักเรือประมง ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม เนื่องจากตนไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับผู้ควบคุมเรือ ผู้ฟ้องคดีได้เคยห้ามปรามและสั่งไม่ให้นำเรือไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายหรือนำเรือเข้าไปในเขตหวงห้ามแล้ว (ผู้กระทำผิด 5 คน ได้ถูกดำเนินคดีอาญาและปรับคนละหนึ่งแสนบาท) จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า : เมื่อเรือประมงของผู้ฟ้องคดีได้ทำการประมงโดยฝ่าฝืนมาตรา 70 อันเป็นความผิดร้ายแรงตามมาตรา 114 (5) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยจับปลาในห้วงเวลาที่ห้ามทำการประมง ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตทำ การประมงจึงต้องรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าวของลูกจ้าง ทั้งนี้ การทำประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง มีอำนาจสั่งดังต่อไปนี้ (1) ยึดสัตว์นํ้าหรือผลิตภัณฑ์สัตว์นํ้าที่ได้จากการทำการประมงนั้น หรือเครื่องมือทำการประมง (2) ห้ามทำการประมงจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (3) สั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยจะสั่งห้ามมิให้ใช้เรือประมงนั้นจน กว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาตด้วยก็ได้ (4) เพิกถอนใบอนุญาต และประกาศให้เรือประมงนั้นเป็น เรือที่ใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (5) กักเรือประมง (มาตรา 113 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมงฯ)

 

การที่คณะกรรมการมาตรการทางปกครองใช้อำนาจออกคำสั่งพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 8/2567) 

 

สรุปได้ว่า : เจ้าของเรือซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ ต้องควบคุม ดูแล ทำความเข้าใจกับลูกจ้างเกี่ยวกับข้อห้ามต่างๆ ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และต้องรับผิดในการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายของลูกจ้างตามมาตรการทางปกครองที่กำหนดไว้ แม้ว่าจะมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำ ความผิดก็ตาม ทั้งนี้ การฝ่าฝืนจับปลาในฤดูวางไข่ถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง เช่นเดียวกับการลักลอบจับโลมาอิรวดี ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สงวนรักษาไว้เนื่องจากใกล้สูญพันธุ์ หรือการจับสัตว์นํ้าขนาดเล็กกว่าที่กำหนด ฯลฯ มาตรการทางปกครองหรือโทษที่ได้รับจึงมีความรุนแรง ... นั่นเองครับ

 

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ “สายด่วนศาลปกครอง 1355” และสามารถศึกษาความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีปกครองได้ที่ “ศูนย์การเรียนรู้ศาลปกครองออนไลน์”)