“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” คงเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทุกคน แต่นอกจากการที่เราจะมีสุขภาพกายที่ดีแล้ว การมีสุขภาพจิตที่ดี ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน
วันนี้ผมจะมาชวนคุยเรื่อง ความสมดุลของสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้เรามีองค์ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพกาย เช่น การกินอาหารที่ดี, การออกกำลังกาย ต่างๆ รวมถึงการรักษาและการ ป้องกันโรค การคิดค้นวัคซีนต่างๆ การหาเทคนิคใหม่ การรักษาโรค ทางการแพทย์ งานวิจัยต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย
แต่อีกมุมหนึ่ง จิตใจของผู้คนต่างๆ กลับมีสภาวะที่ผิดปกติมากขึ้น การรักษาทางจิตเวช ได้รับความนิยมมากขึ้น และมีผู้ป่วยทางด้านจิตเวชเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นได้ว่า การที่เรามีสุขภาพกายที่ดี ไม่ได้หมายความว่าเรามีสุขภาพจิตที่ดีเสมอไป เพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพจิต จึงมีความสำคัญ ไม่แพ้กับการดูแลสุขภาพกายเลยทีเดียว
เมื่อช่วงเดือนที่แล้ว ผมได้ไปงานเลี้ยง และได้พบกับอาจารย์แพทย์อาวุโสท่านหนึ่ง ท่านมาเล่นดนตรีให้ฟังในงานเลี้ยง ถึงแม้ท่านจะอายุมากแล้ว แต่ท่านยังกระฉับกระเฉง เหมือนคนหนุ่มสาว เล่นดนตรีได้อย่างไม่ผิดเพี้ยนและแถมยังมีความไพเราะ ผมได้ไปติดตาม และอ่านงานวิจัยที่ท่านเล่าให้ฟัง
จากการศึกษาของสถาบันทางประสาทวิทยาศาสตร์ของประเทศสเปนที่มีการทำงานร่วมกันกับสถาบันของเยอรมนีและฟินแลนด์ และตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Healthy Longev เดือน กรกฎาคม 2023 โดยได้ข้อสรุปว่า จากการศึกษาไลฟ์สไตล์และการดำรงชีวิตของคนสูงอายุ ที่มีอายุสมอง ยังแข็งแรง และสุขภาพจิตใจดี เกิดจากปัจจัยหลักๆที่เหมือนกัน 2-3 ข้อ เช่น
1) มีการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลาสม่ำเสมอ การออกกำลังกาย เพื่อให้หัวใจและปอดแข็งแรง ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น มีการเผาผลาญพลังงาน ช่วยลดคอเลสเตอรอล ทำให้โอกาสเกิดเส้นเลือดอุดตันน้อยลง แถมยังส่งผลดีต่อระบบการย่อยอาหารและการขับถ่ายของร่างกาย และยังช่วยให้นอนหลับสนิทพักผ่อนได้เต็มที่อีกด้วย
2) มีสุขภาพจิตดีเยี่ยมไม่หมกมุ่นอยู่กับความกังวล หดหู่ ซึมเศร้า เพราะความเครียดเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ นอนไม่หลับ ระบบขับถ่ายมีปัญหา อารมณ์แปรปรวน อ่อนเพลีย ไม่ทราบสาเหตุ บางคนอาจจะมีอาการของโรคซึมเศร้าตามมา
3) การเล่นเครื่องดนตรีไม่ว่าจะเป็นสมัครเล่นหรืออาชีพก็ตาม ตั้งแต่วัยกลางคน เรื่อยมาตลอด เนื่องจากเสียงดนตรีมีส่วนช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เพราะประกอบด้วยเสียงสูงต่ำที่มีส่วนให้สมองได้รับการบำบัดนั่นเอง เสียงของดนตรีสามารถบำบัดและบรรเทาอาการเครียดและซึมเศร้าได้ เพราะองค์ประกอบของดนตรีจะส่งผลต่อความรู้สึกเรา เช่น ดนตรีจังหวะเร็ว กระชั้นจะกระตุ้นให้เกิดความสนุกสนาน ดนตรีจังหวะเนิบช้าจะช่วยสร้างความผ่อนคลาย
นอกจากนั้น ฝึกการคิดและความจำ เพื่อจำตัวโน้ตและทำนองเพลง รวมถึงเนื้อร้อง การเล่นดนตรีจึงเป็นการกระตุ้นสมองให้เกิดการเรียนรู้และจดจำ อีกทั้งการเล่นดนตรีมักจะมีวิธีการเล่นใหม่ๆ เสมอ ซึ่งจะยิ่งช่วยพัฒนาการคิดและความจำอยู่ตลอด จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 ข้อ เป็นสิ่งที่อยู่รอบๆตัว และสามารถปฏิบัติได้ไม่ยากเลย
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการหมั่นสังเกต สุขภาพกายและสุขภาพจิตใจว่าอยู่ในภาวะสมดุลหรือไม่ ทำอะไรเกินหรือขาดไปบ้าง ให้ฟังเสียงของร่างกายและจิตใจ เพื่อจะได้รู้ว่าเราควรปรับตัวเองเพื่อให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาวะสมดุลอย่างไร จากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง มีแนวโน้มเกิดความเครียดมากขึ้น
จากการที่เราเห็นตามหน้าข่าวต่างๆ ถ้าเทียบกับคนที่อาศัยอยู่ตามต่างจังหวัด ซึ่งมีวิถีชีวิตเรียบง่าย โดยเฉพาะตามเมืองรองต่างๆ และมีการแข่งขันน้อยกว่าในเมือง เพราะฉะนั้นเราจึงต้องควรหมั่นสังเกต และตรวจสอบสภาวะจิตใจเราเป็นระยะ ควบคู่กับการดูแลสุขภาพร่างกาย เพื่อสร้างความสมดุลอย่างแท้จริง
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,958 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2567