“สังคมไร้ลูกหลาน” กับโมเดลธุรกิจ ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (จบ)

10 ธ.ค. 2566 | 07:12 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2566 | 07:14 น.

“สังคมไร้ลูกหลาน” กับโมเดลธุรกิจ ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (จบ) : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ทำให้ปัจจุบันบ้านพักคนชรามีหลายรูปแบบ ทั้งเป็นบ้านที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จัดสัดส่วนสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และทำเป็นบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียมหรือห้องพักที่มีการชำระค่าใช้จ่ายแบบรายเดือนหรือรายปี หรือการขายขาดในรูปแบบของการมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น ส่วนใหญ่จะพบในบ้านพักคนชราที่ดูแลโดยภาคเอกชน

ขณะเดียวกันที่ดูแลโดยภาครัฐ มีทั้งแบบที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายและแบบที่ชำระค่าแรกเข้าและดูแลไปตลอดชีวิตก็มี ซึ่งที่ไหนที่ได้รับความนิยมก็มักจะมีการรอคิวที่ค่อนข้างนานในขณะเดียวกันห้องพักก็มีจำกัดทำให้มีข่าวว่าบ้านพักคนชราที่ดูแลโดยภาครัฐบางแห่ง ต้องรอนาน นานจนผู้สูงอายุเสียชีวิตไปแล้วก็มี

(2) บ้านหรือคอนโด ผู้สูงอายุ

ปัจจุบัน มีโครงการเฉพาะที่มุ่งเน้นกลุ่มผู้อาศัยที่เป็นคนสูงวัยหลังเกษียณ ซึ่งในการออกแบบมีความจำเพาะเพื่อดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ต่างจากบ้านพักคนชรา ตรงที่จะไม่มีแพทย์ หรือพยาบาลคอยดูแลเราใกล้ชิด เช่นเดียวกับการทำความสะอาดที่พัก ผู้สูงวัยก็ต้องทำด้วยตัวเอง ต่างจากบ้านพักคนชราที่จะมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ตลอดเวลา ส่วนใหญ่โครงการจะอยู่ในรูปแบบของการเช่า หรือขายขาดก็มี ขณะเดียวกันในแง่ของราคาก็จะมีความจำเพาะและอาจจะไม่ได้สูงมากเนื่องจากไม่ได้พ่วงบริการต่างๆ เข้าไป อาจจะเหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีการจ้างผู้ดูแลข้างนอกอยู่แล้ว

(3) เนอร์สซิ่งโฮม

เนอร์สซิ่งโฮม มีความแตกต่างจากบ้านพักคนชรา เนื่องจากเนอร์สซิ่งโฮมนั้น เป็นธุรกิจที่มุ่งฟื้นฟู และดูแลสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ ซึ่งหมายความว่าจะมีบุคลากรทางการแพทย์ เข้ามาร่วมดูแลผู้สูงอายุ แม้จะไม่ได้พักอยู่ด้วยแต่ก็แสตนบายดูแลรักษาได้ โดยส่วนใหญ่ธุรกิจเนอร์สซิ่งโฮมจะไม่ได้เป็นการขายขาด แต่เป็นการชำระเป็นรายเดือน (พ่วงบริการพิเศษ)

“สังคมไร้ลูกหลาน” กับโมเดลธุรกิจ ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (จบ)

ซึ่งต่างจากบ้านพักคนชราที่สามารถซื้อหรือเช่าอยู่ได้ ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายราคา ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่น ในปัจจุบันบางคนอาจจะเรียกรวมระหว่างบ้านพักผู้สูงอายุกับเนอร์สซิ่งโฮม ในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งรวมแล้วจากข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในเดือน พฤศจิกายน 2566 พบว่าปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 749 แห่ง (ที่ผ่านการรับรองแล้ว)

ดังนั้นหัวใจสำคัญในธุรกิจประเภท เนอร์สซิ่งโฮม ก็คือรูปแบบธุรกิจนั่นเอง ทำให้ปัจจุบันจึงมีโมเดลธุรกิจเนอร์สซิ่งโฮม ที่เปิดโอกาสให้กับคนที่มีอสังหาริมทรัพย์ ปรับเปลี่ยนบ้านหรือที่พักเป็นเนอร์สซิ่งโฮมได้ เปลี่ยนพื้นที่ว่างให้กลายมาเป็นพื้นที่ในการดูแลและฟื้นฟูด้วยการทำกายภาพบำบัดให้กับผู้สูงอายุที่มีอาการบาดเจ็บ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาคอยร่วมดูแลอย่างใกล้ชิด

ย้อนตอบคำถามที่ว่าเหมาะกับรูปแบบอะไร? “ก่อนตายยังใช้เงินไม่หมด แต่ยังดีกว่าใช้เงินหมด แล้วยังไม่ตาย” ประโยคนี้ฟังแล้วไม่ผิดนัก การวางแผนการเงินเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะบริการด้านเฮลท์แคร์ที่พ่วงกับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย และมีผลต่อคุณภาพชีวิตในช่วงวัยที่โรยรา อีกด้านก็เป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะทำให้เราสามารถมุ่งเติมเต็มบริการสาธารณสุขร่วมกันได้ในภาวะที่มีความต้องการรองรับในภาวะสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,946 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม  พ.ศ. 2566