Blue Zone กับชีวิตที่ยืนยาว (ตอนจบ)

03 มี.ค. 2567 | 05:58 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2567 | 06:05 น.

Blue Zone กับชีวิตที่ยืนยาว (ตอนจบ) : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

การมีชีวิตที่ยืนยาวที่เราได้พบเห็นในมุมต่างๆ ทั่วโลกนั้น ยังมีอีกหลายประเทศ ที่น่าสนใจ นอกเหนือจากเกาะโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น เกาะซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาและมีอากาศอบอุ่นเกือบตลอดทั้งปี ซึ่งผู้คนได้ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยนิยมใช้การเดินมากกว่าการโดยสารด้วยรถ

นอกเหนือจากนั้นอาหารยอดนิยมของที่นี่ คือ ชีส โดยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ทำให้ได้ชีสนมแกะที่มีคุณภาพดีและอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่สูง นอกจากนั้น ชาวซาร์ดิเนียน ยังชอบดื่มนมแพะ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของที่มักเกิดกับคนสูงอายุคือ โรคหัวใจและ โรคอัลไซเมอร์ อีกด้วย

Blue Zone กับชีวิตที่ยืนยาว (ตอนจบ)

นอกจากนั้นยังเลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำและผักในมื้ออาหารหลัก ส่วนคาร์โบไฮเดรตมาจากขนมปังและพาสต้า ส่วนโปรตีนมาจากธัญพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ เพราะเนื้อสัตว์สำหรับชาวซาร์ดิเนียถือเป็นเพียงเครื่องเคียงหรือไว้ทานสำหรับมื้อพิเศษในวันอาทิตย์หรือโอกาสสำคัญเท่านั้น อีกทั้งยังชอบดื่มไวน์แดง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน วันละไม่เกิน 2 แก้วต่อวันกับเพื่อนหรือครอบครัว

ซึ่งในไวน์แดงมีสารที่ชื่อว่า “เรสเวอราทรอล” (Resveratrol) ซึ่งพบได้ในองุ่น และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีสรรพคุณช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ต่อต้านอาการอักเสบของร่างกาย และต้านอนุมูลอิสระที่อาจก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนั้น “เรสเวอราทรอล” ยังช่วยลดปริมาณของไขมันเลว หรือ HDL ลงได้ ช่วยให้เลือดไม่จับตัวเป็นก้อน ไม่อุดตันในเส้นเลือด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงโรคไขมันในเลือด ความดัน และโรคหัวใจลงได้ 30-40% ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้ว ยังเพิ่มชั่วโมงแห่งความสุขด้วย

นอกจากนี้ สิ่งที่ชาวซาร์ดิเนียให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่งคือครอบครัว พวกเขาจึงใส่ใจในเรื่องของการจัดสรรเวลาระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานให้สมดุล และชอบอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น โดยผู้สูงวัยของที่นี่มักช่วยทำงานบ้าน งานสวนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ได้ขยับร่างกายในแต่ละวัน ทั้งหมดนี้เป็นเคล็ดที่ไม่ลับที่ชาวซาร์ดิเนีย ได้ค้นพบโดยธรรมชาติมานานหลายร้อยปี

Blue Zone กับชีวิตที่ยืนยาว (ตอนจบ)

ขณะที่เมืองโลมา ลินดา (Loma Linda) ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นเมืองเดียวในสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่ GDP per capita ต่ำมากๆใน USA และที่ถือเป็น Blue Zones โดยชาวโลมา ลินดานั้นมีอายุเฉลี่ยที่สูงกว่าคนอเมริกันทั่วไปถึง 10 ปี ซึ่งในซีรีส์ยังเปรียบเทียบการกินของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ในปัจจุบันกับการกินของคนในเมือง เมืองโลมา ลินดา เห็นว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่กินแต่อาหารฟาสต์ฟู้ด กินเกินแคลอรี่ที่มนุษย์ต้องการต่อวัน และมีอายุสั้นกว่าคนในเมืองนี้มาก

ซึ่งจากงานวิจัยบ่งชี้ว่าอาจเป็นผลมาจากการนับถือคริสตจักรเซเวนธ์เดย์แอดเวนีทิสต์ ที่มีข้อห้ามด้านอาหารอย่างเคร่งครัด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มประเภทโซดาน้ำหวาน และบางคนที่เคร่งครัดมากๆ จะไม่แตะต้องน้ำตาลเลย และเลือกเติมความหวานจากผลไม้แทน อีกทั้งพวกเขายังนิยมการบริโภคอาหารวีแกนที่เน้นธัญพืชตามพระคัมภีร์เป็นหลัก รวมถึงให้ความสำคัญกับอาหารมื้อเช้าและมื้อเที่ยง ส่วนมื้อเย็นทานแต่น้อยและทานแต่หัวค่ำ เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้ปริมาณแคลอรีเอ่อล้นร่างกายในช่วงเวลาที่ไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก ซึ่งจะทำให้การนอนหลับดีขึ้นด้วย

Blue Zone กับชีวิตที่ยืนยาว (ตอนจบ)

ในส่วนของชุมชนที่นี่ มีความเข้มแข็งและปลอดภัยเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีภูมิทัศน์แบบ Active Landscape จึงทำให้ประชากรส่วนใหญ่นิยมใช้การเดินไปยังที่ต่างๆ ในเมือง มากกว่าการโดยสารด้วยรถยนต์ ที่นอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้ว ยังช่วยให้ได้ขยับร่างกายต่อวันอย่างสม่ำเสมอ พร้อมส่งเสริมให้มีกิจกรรมร่วมกัน อย่างจุดนัดพบ พูดคุย ออกกำลังกายที่บริเวณจัตุรัสกลางเมือง

กล่าวโดยสรุป เราจะเห็นได้ว่าบทสรุปของชาว Blue Zone จะมีสิ่งที่คล้ายๆกัน คือ การออกกำลังกายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน การทานอาหารแต่พอดี ไม่อิ่มจนเกินไป เน้นทานผักมากกว่าเนื้อสัตว์ การที่มีเป้าหมายในชีวิต รู้จักปล่อยวางความเครียด ยึดมั่นในหลักศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และสุดท้าย คือการอยู่ในชุมชนที่เข้มแข็ง และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่อบอุ่น  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเคล็ดที่ไม่ลับของชาว Blue Zones

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,970 วันที่ 29 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2567