“ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” กับชีวิตที่ต้องวางแผน (ตอนจบ)

23 ต.ค. 2567 | 22:09 น.

“ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” กับชีวิตที่ต้องวางแผน (ตอนจบ) : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์

จากความเดิมตอนที่แล้ว ผมย้ำเรื่องศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่เป็นได้มากกว่าศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ มากกว่าบ้านพักคนชราที่หลายคนกำลังเข้าใจ หลายท่านอาจกำลังสงสัย เนื่องจากมีความเชื่อเดิม ๆ ว่าการให้บุพการีไปอยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นการทอดทิ้ง เพราะลูกหลานไม่รัก แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้น

โดยเฉพาะในยุคที่ประชากรผู้สูงวัยเติบโตมากกว่าประชากรวัยเด็ก ทำให้โครงสร้างของประชากรเปลี่ยนไปประกอบกับสังคมและวัฒนธรรมลักษณะของครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยว มากกว่าครอบครัวขยายในสมัยอดีต ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเป็นส่วนที่ยังมีความต้องการอยู่สูงต่อเนื่อง

“ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” กับชีวิตที่ต้องวางแผน (ตอนจบ)

สำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Nursing Home เป็นสถานที่ดูแล พักฟื้น สำหรับผู้สูงอายุ ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ อย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือผู้สูงอายุติดเตียง ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสม่ำเสมอ ทำให้ในแต่ละที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะมีความเฉพาะทางที่แตกต่างกันไปบางส่วนที่เน้นไปที่การดูแลรักษาและฟื้นฟูผู้สูงอายุให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี บางศูนย์เป็นลักษณะการดูแลแบบเช้าไป-เย็นกลับ ขณะที่บางส่วนดูแลเน้นเป็นการพักระยะยาว เป็นต้น

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ดีควรเป็นแบบไหน

การศูนย์ดูแลผู้สูงอายุดี ๆ สักแห่งคงเป็นการตัดสินใจที่ยากไม่น้อยเลยสำหรับครอบครัว ดังนั้นเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนที่คุณรัก ให้ได้รับการดูแลที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด อย่างถูกต้องตามหลักการทางการแพทย์ โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านใหญ่ ๆ คือ

1. ด้านโภชนาการ ควรเป็นการคัดเลือกอาหารและเตรียมอาหารโดยมีนักนักโภชนาการคอยควบคุมในทุกมื้อ ครบทั้ง 3 มื้อต่อวัน รวมไปถึงของว่างระหว่างวัน ที่ต้องควบคุมเป็นพิเศษ ไปตามแต่ละบุคคล เนื่องจากโรคประจำตัวที่ต่างกัน และข้อจำกัดที่ต่างกันไป

“ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” กับชีวิตที่ต้องวางแผน (ตอนจบ)

2. ด้านบุคลากร ควรมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ พยาบาล และควรมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุโดยตรง เพียงพอต่อความต้องการในศูนย์นั้น ๆ ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง และทั่วถึง

3. ด้านสุขอนามัย ไม่ว่าจะเป็นความสะอาดของร่างกายผู้สูงอายุ ความสะอาดของเล็บ ร่างกาย เส้นผม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ต่าง ๆ และสถานที่ ควรต้องสะอาดอยู่ตลอดเวลา โดยแยกของใช้ส่วนตัวอย่างชัดเจน หรือมีการทำความสะอาด และอบฆ่าเชื้ออยู่เสมอ เพื่อลดการติดเชื้อ

4. ด้านสังคม ควรมีการทำกิจกรรมอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้สูงอายุผ่อนคลาย ไม่รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว โดยเป็นการทำให้ได้คุยกับคนรุ่นเดียวกัน และเสริมสร้างทักษะการออกกำลังกายไปในตัว เช่น การทำกิจกรรมนันทนาการ

“ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” กับชีวิตที่ต้องวางแผน (ตอนจบ)

ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าคนที่คุณรักจะได้รับการดูแลที่เหมาะสมและถูกต้อง ด้วยโรคภัยไข้เจ็บของผู้สูงอายุนั้น ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จนบางครั้งเราอาจไม่สามารถดูแลเองได้ รวมถึงคนในครอบครัวที่อาจไม่มีความรู้ความเข้าใจที่จะดูแลผู้สูงอายุที่มากพอ และเพื่อให้ผู้สูงอายุได้พูดคุยพบปะสังสรรค์ เข้าสังคม และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

ทำให้ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Nursing Home จึงเป็นทางออกที่ดีในการเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ ให้อยู่กับลูกหลานให้นานที่สุด ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ ต่อการวางแผนการให้คุณภาพชีวิตของคุณและคนที่คุณรักให้มีความสุขที่สุดในบั้นปลายชีวิต

 

คอลัมน์ Healthcare Insight หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,038 วันที่ 24 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2567