ข้อคิดจากจีนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทย

28 ส.ค. 2565 | 05:54 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2565 | 12:55 น.

ข้อคิดจากจีนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทย : คอลัมน์บทความ โดย พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,813 หน้า 5 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม 2565

พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลข้อคิดเพื่อการขยายผลจากความสอด คล้องของแผนการขับเคลื่อนแนวคิดตามข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt  and Road Initiative : BRI) ของจีน กับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย กล่าวคือ

 

1. ความเชื่อมโยงด้านนโยบาย โดยไทยและจีนต่างให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคการผลิต เน้นการสร้างมูลค่าการค้าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งนโยบาย Made in China 2025 กับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curves ของไทย กำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

2. ความเชื่อมโยงด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ โครงข่ายรถไฟ/รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ และสนามบิน จะช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการขนส่ง รวมทั้งช่วยสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ในการนี้ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) และ Silk Road Fund จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการลงทุนและการดำเนินโครงการต่างๆ 

 

 

ข้อคิดจากจีนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทย

 

 

3. ความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและดิจิทัล โดยเฉพาะนโยบาย Internet Plus & Information Highway ของจีน และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย เน้นการใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ ด้วยระบบดิจิทัลและอินเตอร์ เน็ต รวมถึงการรองรับรูปแบบการค้าสมัยใหม่ผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และระบบชำระเงินดิจิทัล

 

4. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยไทยและจีนต่างให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจ Startups เพื่อให้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจมีการแบ่งปันอย่างทั่วถึง

 

ตลอดจนเป็น การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งภาครัฐต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้อกับการประกอบธุรกิจและการใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้าใหม่ๆ อาทิ e-Commerce เป็นต้น

 

5. ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจ และเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน

 

ดังนั้น ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของจีน ในการขยายบทบาทและแสวงหามิตรประเทศที่จะช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมาย ในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง อิทธิพลทางการเมืองต่อประเทศที่อยู่ตามรายทางใน “สายแถบและเส้นทาง” (BRI) และประเทศคู่ค้า 

 

สำหรับประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน (China-Indochina Economic Corridor) ควรใช้ช่องทางและโอกาสนี้ในการผลักดันโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ BRI ของจีน เพื่อให้ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนให้กับนักลงทุนของจีน

 

รวมทั้งขยายโอกาสไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ด้วย อันจะทำให้บรรลุเป้าหมายทั้งในการเชื่อมโยง (Connectivity) และความร่วมมือ (Cooperation) อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป