ทักษะการประเมินที่ไม่เกินประมาณ (3)

27 ต.ค. 2566 | 23:30 น.

ทักษะการประเมิน ที่ไม่เกินประมาณ (3) : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3934

คุณแมว ผู้ประสานงานของบริษัทรับจัดฝึกอบรม โทรหา อาจารย์เฮีย เงื่อนไขไม่เอื้อเพราะเฮียเขาไปทำกิจธุระอยู่ที่ฮ่องกง ผู้ช่วยงานบ้าน รับสายแล้วคุยกับลูกค้าว่า “อาจารย์เฮีย ท่านไปฮ่องกง จะกลับมาพรุ่งนี้ค่ะ” คุณแมว บอกให้จดเลขโทรศัพท์พร้อมกับกำชับว่า  “รบกวนเรียนท่านด้วยนะคะว่า กรุณาโทรคุยกับหนูด่วนภายในวันพรุ่งนี้นะคะ” 

วันรุ่งขึ้น วิทยากรรุ่นเฮีย กลับมาถึงบ้านหลังเที่ยง ผู้ช่วยงานบ้าน เธอเอาเบอร์โทรมาให้อาจารย์เฮียดู อาจารย์เฮียรับมาดูก็อุทานลั่นโต๊ะว่า “เฮ้ย! เบอร์โทรศัพท์ NT เขามีเลขเก้าตัว ทำไมเธอจดเอาไว้แค่หกตัวละเนี่ย”

 

ผู้ช่วยงานบ้าน ก็สารภาพว่า “เขาพูดเร็ว หนูจดไม่ทันค่ะ” อาจารย์เฮีย หน้าแดง ตาเขียว พูดประชดผู้ช่วยงานบ้าน ว่า “อีกสามตัวที่จดไม่ทัน ไปลูบขอท่านเจ้าแม่ตะเคียนโน่นไป!” (ฮา)

ชัดเลย ตอนที่รับเธอเข้ามาทำงาน อาจารย์เฮีย “ไม่ได้ประเมิน” และ “ละเลยการประมาณ”

ก่อนจะลากประเด็นไปไกลลิบ ผมขอหยิบความเห็นมาฉีดโด้ปวงการครูสักหน่อยว่า สังคมวิชาชีพยุคใหม่เขาตื่นตัวเรื่อง การเรียนรู้ตลอดชีวิต กระแสนี้มีคลื่นความรู้นอกตำราในเชิงสร้างสรรค์สาด ซัดเข้าไปในโซนของโรงเรียนระดับประถมกันสักกี่มากน้อย…น้อย…น้อย…น้อย…น้อย… (ฮา)

ขอทบทวนอีกสักรอบว่า “ปูนช้าง!” เคยเชิญผมไปเล่าความเห็นให้บุคลากรทั้งบริษัทฟังว่า “บุคลากรทุกคนทุกระดับของทุกฝ่าย คือ พนักงานขาย!” ลูกค้าไม่ได้ติดต่อหรือเดินเข้ามาถามแต่เฉพาะฝ่ายขายโดยตรง เขาโทรติดเบอร์ไหน หรือ เดินสวนทางกับใคร เขานึกออกฉับพลันก็จะถามทันทีว่า “ปูนช้างถุงละกี่ตังค์คะ!”

ใครตอบไม่ได้ แสดงว่า ไม่ใส่ใจความเป็นไปของบริษัท
 “นักเรียนชั้นประถม” รู้ใช่ไหมว่า “ประเมิน” ต่างกับ “ประมาณ” ตรงไหน?

“ประเมิน” คือ “หวัง!” หรือ “วัดผลตามเกณฑ์ที่กำหนด”
เราปรึกษาเพื่อนว่า “หนุ่มที่มีสเปค หล่อ ฉลาด รวย น่ารัก มีจริงหรือเปล่า” เพื่อนมันให้ความเห็นว่า “มีสิ สำคัญตรงที่ว่า แกคิดจะเอาเขา แต่เขาจะเอาแกรึเปล่า” (ฮา)

“ประมาณ” คือ “กะ!” หรือ “คะเนความเหมาะสมที่น่าจะ”
ถ้ายังหมายตาว่าไม่ลองไม่รู้จะต้องชั่งใจถึง “ความน่าจะเป็น” คำนวณ วัน เวลา โอกาส ในการตีสนิท ผูกมิตรเพื่อจะหาทางผูกข้อมมือ ลงทุนเช่นไรไม่ให้เสียหาย อย่าลืมความสมดุล คือ อ่อยหนุ่ม ควรจะ อ่อยแม่!

                       ทักษะการประเมินที่ไม่เกินประมาณ (3)

หนุ่มสาวที่คิดจะมีคู่ก็อย่ามัวใฝ่รู้อยู่กับ AI ด้านเดียว ใจผมก็ยอมรับนะว่า AI เขามี “ชุดความคิด” มหาศาล แต่ทว่า จะปรึกษาเรื่องแฟนคงคุยกันยาก เนื่องจาก AI ไม่มี “ชุดความคึก” เป็นล่ำเป็นสัน (ฮา) ยังไม่เคยปรากฏข่าวว่า AI จีบกัน จนกระทั่งตั้งครรภ์คลอดทายาทออกมาเป็น ROBOT (ฮา)

สามีถามภรรยาว่า “ที่รักยาหยอดตาผมอยู่ไหน” เธอก็บอกว่า “อยู่ในห้องนอน แถวๆ ชั้นวางทีวี ใต้สวิตซ์เปิดไฟ ติดแหง็ก อยู่ข้างกำแพง” (ฮา)

“หากความรัก คือ ความฝันอันน่าอัศจรรย์ การแต่งงานก็คือ นาฬิกาปลุก” (ฮา)

“หากต้องการเปลี่ยนโลก จงทำตอนที่คุณยังเป็นโสด” (ฮา)
 “เมื่อแต่งงานแล้ว คุณไม่สามารถเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ได้” (ฮา)

“เวลาใดที่สามีกับภรรยาทะเลาะกัน ควรจะมีกฎหมายบัญญัติ ให้ถอดเสื้อผ้าออก ทั้งคู่อาจจะหัวเราะจนลืมไปว่า เรากำลังจะทะเลาะกัน” (ฮา)

แม่กำลังก้มหน้าสนุกสนานอยู่กับติ๊กต๊อก

ลูกพูดกับแม่ “หนู………..…หิว”

แม่พูดกับลูก “สวัสดีจ้ะ…หิว นี่ แม่เอง” (ฮา)

ถ้า AI สามารถขบคิด ถ้อยคำ และ เนื้อหา เรียก เสียงฮา หรือ รอยยิ้ม ในทำนองนี้ได้ ใครจะสั่งซื้อ AI เอาไปอยู่กินฉันสามีภรรยา ผมไม่ว่าสักคำ เผลอๆ อาจจะทุปกระปุกนับตังค์เอามาอ็อฟเพื่อซื้อความหรรษา

ฝากหลักให้เอาไปขบ วิธีการประเมิน คน สัตว์ สิ่งของ ขอตั้งชื่อว่า “อ่านขาดสามปราชญ์ราชครู!”

ผู้นำครอบครัว ติวกันเองเลย วิธีประเมินที่ทดลองได้ง่ายต่อการพิสูจน์ คือ ชวนคิด ชวนคุย ชวนคลำ

ชวนคิด คือ เข้าถึงก้นบึ้งของความรู้ ชวนคุย คือ เข้าใจในการสื่อกันให้ได้ความ ชวนคลำ คือ นำไปใช้ให้เป็น 

ลองเดาแบบลองของสิว่า แบบแรก 1.ชวนคลำ (นำไปใช้) 2.ชวนคุย (เข้าใจ) 3.ชวนคิด (เข้าถึง) แบบสอง 1.ชวนคิด (เข้าถึง) 2.ชวนคุย (เข้าใจ) 3.ชวนคลำ (นำไปใช้)

ชุดใดเหมาะสมที่ควรจะนำไปเสนอแนะให้ ลูก ลูกศิษย์ ลูกน้อง มีทักษะพื้นฐานในการประเมินความสามารถและผลลัพธ์ประจำวัน!