ทักษะการประเมินที่ไม่เกินประมาณ (9)

08 ธ.ค. 2566 | 23:30 น.

ทักษะการประเมินที่ไม่เกินประมาณ (9) : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย... ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3947

“ภาพรวมของสองถ้อยคำหลัก” ประเมิน (หวัง) กับ ประมาณ (กะ) คือ  “การเล่าเรื่องสำคัญ!” อย่างเช่น ในหลวง ร.9 ท่านเสด็จไปทรงงานในหมู่บ้านของชาว “ปกาเกอะญอ” อยู่บนภูเขา นายทหารซึ่งทำหน้าที่เป็นพลขับ “กะ” เอาไว้แล้วว่า “จะลงจอดตรงกลางหมู่บ้าน” ในหลวง ร.9 ท่านก็ทรง “กะ” เอาไว้เช่นกันว่า “ให้หาพื้นที่ลงจอดก่อนจะถึงหมู่บ้านสัก 2 กิโลเมตร” (ฮา)  

ประเด็นนี้ไม่ได้ฮาสุ่มสี่สุ่มห้า ของมันต้องฮา เพราะว่า จุดที่ ในหลวง ร.9 ท่านทรง “กะ” เอาไว้ เป็นเนินเขาลาดชัน คงจะเดากันได้นะว่า พลขับ กับ ในหลวง “กะ”  หรือ “ประมาณ” แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เหตุผลที่ความคิดไม่เหมือนกัน เนื่องจาก พลขับ กับ ในหลวง “หวัง”  และ “กะ” กันคนละเรื่อง

พลขับ “หวัง” หรือ “ประเมิน” ที่จะ “ปักหมุดตรงจุดที่มีความสะดวก”

ในหลวง “หวัง” หรือ “ประเมิน” ที่จะ “ปักหลักสร้างประโยชน์สุข” ให้กับ “ปกาเกอะญอ”

จุดมุ่ง อันดับ 1 ได้แก่ (ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า!) ในหลวง ทรงมีพระประสงค์ที่จะ เซอร์เวย์ พื้นที่นอกหมู่บ้าน ว่ามีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าบอกล่วงหน้าให้รู้ไว้ก่อน อาจจะเห็นแต่ ผักชี ล้วนๆ (ฮา)

จุดมุ่ง อันดับ 2 ได้แก่ (ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า!) ท่านทรงมีพระประสงค์ที่จะระงับไว้ซึ่งความชุลมุน ไม่งั้น หลังคาหลายบ้านมันจะปลิวว่อน แถมด้วย ฝุ่นจะฟุ้งกระจัดกระจาย ชาวบ้านที่รอรับเสด็จบางส่วน ก็อาจจะแว่บไปผ้ดแป้งแต่งหน้ากันใหม่ (ฮา)

ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ผมเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ที่เขาว่ากันว่า ในหลวง ร.9 ท่าน “ทรงพระปรีชา” คือ ทรงมีพระทักษะ Hard Skills และ Soft Skills ผมขีดเส้นใต้เอาไว้ในใจว่า “วาสนามันแข่งกันไม่ได้” ตราบใดที่เราไม่ได้สร้างวาสนานั้นๆ เอาไว้!

คำว่า “วาสนา” เรามีอยู่สองนัย หนึ่ง “การทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเอาไว้ดี หรือ เลว อย่างต่อเนื่อง” ผู้นั้นย่อมจะได้รับผลย้อนกลับมาสู่ตนเองอย่างนั้นบ่อยครั้ง สอง การได้แอ้มนับว่าเป็นวาสนา (ฮา) ส่วนใหญ่เรามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับ “วาสนาแอ้ม” จึงไม่ค่อยจะได้รับ “วาสนาเอก” อิๆ…

ด้วยเหตุนี้แหละ หนังจีนจึงมี “สำนวนอมตะโหล” อยู่ว่า “ลี้กิมฮวง คือ ลี้กิมฮวง” แปลว่า “เขาเป็นของเขาอย่างนั้น ยากนักที่จะแปรผันเหมือนผู้อื่น”

                         ทักษะการประเมินที่ไม่เกินประมาณ (9)

ในทำนองเดียวกัน “เด็กก็คือเด็ก!” ครูตั้งคำถามว่า “วิทยาศาสตร์คืออะไร?” นักเรียนท่านหนึ่งตอบว่า “วิทยาศาสตร์ คือ สิ่งที่หาคำตอบในเรื่องต่างๆ เพื่อที่จะนำเหตุผลไปสู้กับพวกงมงายปัญญาอ่อน” (อัดโต๋ย…) อันที่จริงก็ไม่ผิดใน “หลักการ!” เพียงแต่ ก็น่าเป็นห่วงว่า ถ้าไม่จำเป็น ก็อย่าพรวดพราดใน “หลักกาล!” 

ผมไม่ตำหนิ นักเรียนท่านนั้น เพราะว่า ผมก็เคยพูดในทำนองเดียวกัน ผมโชคดีที่มีครูสอนว่า “นิสัย” เกี่ยวกับ การควบคุมและปรับจิตใจ การนำเสนอ การแสดงปฏิกริยา ที่ สุนทรีย์ มีศิลปะใน การขบคิดอย่างปราณีต (Soft Skills) เราจะ “มีเสน่ห์” มากกว่า “ลวดลายห้าวเป้ง” 

ผมได้อ่านข่าว เสน่ห์ผู้เยาว์ หลังจาก นัท มีเรีย ปล่อยคลิปน่ารัก เมื่อ น้องสุขใจ ลูกชาย เต๋า สมชาย เล่ากันตามท้องเรื่องมีอยู่ว่า เพื่อนที่โรงเรียนเขาถาม น้องสุขใจ ว่า “ทำไมพ่อถึงได้เลิกกับแฟนเก่า?” น้องสุขใจ “แอ่นสมอง” รับหน้าเสื่อเป็น “โฆษกพรรคมีเรีย” (ฮา) เขาชี้แจงว่า “ฟังเพลง รักไม่ช่วยอะไร เดี๋ยวก็รู้หมดเลย” ว้าว ทำการบ้านล่วงหน้าเอาไว้ดีมว่าก ลีลาพูดจาไม่ต่อว่าต่อขานให้เกิดศัตรู ให้ A+ เลย

เนื้อเพลง “รักไม่ช่วยอะไร” ในท่อน ที่สอง มีเนื้อความว่า  “ยื้อก็เหมือนเราจะยิ่งเหนื่อย รักไม่ช่วยอะไรเลย ฉันไม่ยอมเปลี่ยน เธอไม่ยอมเปลี่ยน ยังคงทำตัวเหมือนเคยๆ ปรับความเข้าใจกันไปมันก็ซ้ำเก่า ทั้งๆ ที่รักกันแต่เราเข้ากันไม่ได้เลย เมื่อเราต่างไม่เคยจะยอมลด ก็ควรจะลา”

สมมุติกันว่า ถ้า ท่านผู้อ่าน เป็น ลูกพี่ สองกรณีต่อไปนี้ ท่านจะแช่แข็งคนไหนก่อน อิๆ…

ลูกพี่ เขาเสนอแง่คิดในที่ประชุม ไม่มีใครถามแม้แต่คนเดียว ลูกพี่ ก็ยั่วอีกว่า “คนที่ถามคำถามแรกจะได้เงินเดือนเพิ่ม คนถามคำถามที่สอง จะได้เลื่อนตำแหน่ง คนถามคำถามที่สาม จะได้เงินล้านดอลลาร์!” หนูจึงยกมือขึ้นแล้วพูดว่า “หนูอาสาถามทั้งสามคำถามเลยค่ะ!” (ฮา)

ลูกพี่ เดินมารำพึงกับหนูตอนมื้อเที่ยงว่า “เธอไปอยู่ที่ไหนมา ฉันตามหามาตั้งแต่เช้า!” ฉันก็ยักไหล่แล้วพูดว่า “ลูกพี่เคยพูดไม่ใช่เหรอว่า พนักงานดีๆ หายาก! ” (ฮา)

ทักษะ ประเมิน (หวัง) กับ ประมาณ (กะ) ไปเก็บเกี่ยวได้ ที่ร้านกาแฟ  กับ ร้านตัดผม (ฮา)