ทักษะการประเมินที่ไม่เกินประมาณ (10)

15 ธ.ค. 2566 | 23:30 น.

ทักษะการประเมินที่ไม่เกินประมาณ (10) : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3949

ล่าสุดผมได้พูดคุยกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ท่านเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ ท่านใจกว้างเปิดทางให้เสนอแนะแง่คิด ผมจึงถือวิสาสะปรารภกับท่านแบบทีเล่นทีจริงว่า “ผมขอประทานอนุญาตตั้งชื่อเล่นให้กับกระทรวงวัฒนธรรมสักหน่อยจะได้ไหมครับ” ท่านก็พยักหน้ายิ้มรับว่า “ได้สิ...” ผมยกมือไหว้แล้วก็บอกกับท่านว่า “กระทรวงวัฒนธรรมน่าจะมีนิคเนมว่า กระทรวงกำลังภายใน!” (ฮา) 

ผมอธิบายต่อให้จบสิ้นกระบวนความว่า “เหตุผลที่ตั้งชื่อเล่นอย่างนั้นก็เพราะว่า กระทรวงนี้อุดมไปด้วย Soft Skills คือ ความคิดที่แยบยล วิธีที่ปราณีต และ นำเสนออย่างสุนทรีย์ ครับท่าน” ท่านรัฐมนตรีฟังแล้วก็พยักหน้ายิ้มแป้น มุกฮาเชิงวิชาการดอกนี้ ผมชั่งใจก่อนจะเอ่ยปากพิจารณาโดย  “กะ” คือ “คะเนจากการพูดคุยของท่านสักพักใหญ่ เล็งไว้แล้วว่าท่านใจกว้าง จึง “หวัง” คือ “วัดใจในผลลัพธ์” ได้ว่า พูดมุกนั้นมันต้องออกมาดี

“วันรวมน้ำใจไว้ในวันขอบคุณ” เป็นวันนัดพบแฟนคลับสายวัฒนธรรมของ “สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย” จุดมุ่งของงานนี้เขามีความหวังครั้งสำคัญอยู่ว่า สังคมไทยควรจะรณรงค์ให้มี “วันขอบคุณสังคม” ไว้เป็น “สัญลักษณ์สังคมในมิติซอฟต์สกิล” ให้ทุกสังคมหันหน้าเข้ามาร่วมวงผูกไมตรีต่อกัน บ้านเมืองจะได้สงบสุข ท่านนายกสมาคม สภท. แต่งตั้งให้ผมเป็น “ที่ปรึกษา” จึงมีวาสนาได้เข้าร่วมงานนี้อย่างใกล้ชิด

“วันขอบคุณสังคม” จึงมีลมหายใจลุกขึ้นมาแจ้งเกิดใน วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ท่านเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรตเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ท่านพูดแบบกันเองๆ

“ขอบ” แปลว่า “ทดแทน หรือ ตอบรับ” และ “คุณ” แปลว่า “ความดีที่มีประจำอยู่ในสิ่งนั้นๆ” รวมกันให้ได้ความโดยย่อว่า “ขอบคุณ หมายถึง การทดแทนความดีที่เขามีให้”

คนไทย คือ คนไทย ไม่ว่าจะคุยอะไร เรามักจะขอยิงขึ้นฟ้าแก้เซ็ง จึงมีโพสต์โลดโผนกันเล็กน้อย

ขอบคุณ ที่สอนให้กู ระวัง ขอบคุณที่แทงข้างหลังกู ขอบคุณ ความไม่รู้ ที่ทำให้กูได้รู้จักกูรูชื่อว่าประสบการณ์ ขอบคุณ สถานการณ์ให้เราได้รู้สันดานของกันและกัน  (ต๊ะหลึ่งตึ่งโป๊ะ......)

ผู้หญิงบ่นว่า “คุณมาสายไปหนึ่งทศวรรษเลยเนี่ย” ผู้ชาย ขัดขืนกระแสว่า  “แหม คุณก็น่าจะรู้นะว่ากรุงเทพรถติด” ถ้าเอา “ขอบคุณ” มาเหยาะปรุงรสมันก็จะแซ่บใจ “ขอบคุณที่คุณยังอดใจรอต้อนรับผม”

 “สมูธคุณค่ายิ่งกว่า “สะอึก”

คนที่ไม่ได้ ประเมิน  ทำให้ชี้วัดได้ว่า “เขามีความคิดเชิงเดี่ยว ไม่ได้พกชุดความคิดเอาไว้หลายแพ็ค” เขาจึงหงุดหงิดบ่นอุบอิบแจกจ่ายความไม่เห็นออกมาว่า “ทำไมเราจะต้องขอบคุณอาหาร ไม่ จำเป็นอะไรจะต้องขอบคุณ เราซื้อมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง” ในมุมกลับกัน ถ้าเราเป็นพนักงานบริการ ลูกค้าขอกันทีละนิดสองนิด 

ในขณะที่ลูกค้าคนอื่นเข้าคิวรอกันตรึม ยืนหน้ามาพึ่งพาอาศัยว่า “ขอถุงก๊อบแก๊บอีกใบสิ” เราก็เดินไปหยิบมาให้ ลูกค้าเดินไปแล้วก็เดินกลับมามาขออีกว่า “ขอหนังยางด้วย”เราก็เดินไปหยิบเอามาให้ตามคำขออีก ถ้าลูกค้า “ขอโทษ” และ “ขอบคุณ” เราจะชอบใจไหมว่า เขาเห็นหัวเราอยู่ในสายตา

เวลา 19.00 น. เตี่ย กำลังจะออกจากบ้านไปท่องราตรีเพราะช่วงนี้มีแววว่าจะได้เถลไถลได้ดึกดื่น

ซิ้ม “เตี่ยเอ๊ย ค่ำแล้ว ลื้อ ก็อยู่บ้านบ้างสิ ลื้อทิ้งอั๊วะให้อยู่คนเดียว อั๊วก็เหงาเป็นเหมือนกันนะ”

เตี่ย “ลื้ออยู่คนเดียวน่ะ ดีแล้ว ถ้า อั๊วะ กับ ลื้อ อยู่ด้วยกันสองคน เราจะเหงากันทั้งคู่เลย” (ฮา)

 เตี่ย จะเป็น “สามีดีเด่น” ถ้า เตี่ย พูดกับ ซิ้ม ว่า

โอ้โห ขอบคุณ นะ ซิ้ม ปลื้มจนไปไม่เป็นเลยนะเนี่ย อั๊วะ เป็นคนสำคัญสำหรับ ลื้อขนาดนั้นเลยเชียวเหรอ ไม่ไปก็ไม่ไป นอนตักลิ้อดีกว่า…” ซิ้ม ขนลุก ใจเต้นตุบตับ (ฮา)

“ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” น่าเห็นใจมากกว่า “ผู้ป่วยโรคซึมเหล้า” (ฮา)

นักจิตวิทยาช่วยเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำ เด็กที่มีอาการซึมเศร้าด้วยการชี้ชวนให้นึกถึงสิ่งดีงามที่เคยเจอ อย่างเช่น “คนมีน้ำใจที่เคยดูแลช่วยเหลือ” พี่เลี้ยง จูงใจให้ลองฝึกเขียนถ้อยชมเชย “ผู้มีน้ำใจที่เราใฝ่หา” เขาเลือกเขียนคำว่า “ขอบคุณ” ให้เขาทำทุกวัน ผลปรากฏว่าอาการดีขึ้น แสดงว่า “ความคิดเชิงบวก” เริ่ม ผลิดอก ออกใบ 

เมล็ดคิดดีสำนึกดีงอกเงยขึ้นในใจที่ปัดกวาดแล้ว!