แพบวชนํ้า

11 พ.ย. 2566 | 01:11 น.

แพบวชนํ้า คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เช้านี้แวะพาท่านมาเที่ยวเมืองสะแกกรังจังหวัดอุทัยธานี  เมืองเก่าแต่โบราณกาลซึ่งยังคงความสวยงามแบบดั้งเดิมในสไตล์ความเป็นไทยอยู่อย่างสมบูรณ์ครบเครื่อง 
 
อีทีนี้ท่านผู้มาร่วมเดินทางเขาก็ถามมาว่า อันที่ว่าสมบูรณ์ครบเครื่องนั้นเอาอะไรเป็นตัวชี้วัด? อันนี้ก็จะขอกราบเรียนตอบไปด้วยใจมิตร ว่าก็คือเรือนแพน่ะซี เป็นเรือนแพซึ่งยังคงเป็นเรือนแพที่มีชีวิต กล่าวคือมีการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนแพในน้ำนั้นจริงๆ ทำกับข้าวจริงๆ_นอนจริงๆ_ดูโทรทัศน์จริงๆ พายเรือไปไหนมาไหนจริงๆ มีบ้านเลขที่จริงๆ และสั่งซื้อสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ได้จริง แถมบุรุษไปรษณีย์นำส่งสินค้านั้นจริงทางเรือ มายังบ้านเรือนแพมีเลขที่ดังกล่าวจริงด้วย 55
 
เป็นการใช้ชีวิตแบบชาวเรือนแพขนานแท้แต่ครั้งกรุงเก่า ซึ่งยังดำรงอยู่เช่นนั้นมาอย่างต่อเนื่องและอนุวรรตปรับตัวอย่างกลมกลืนผ่านกาลเวลาโดยยั่งยืนมาจนปัจจุบัน ภาพในอดีตที่สวยงามและคลาสสิคเหล่านี้ จังหวัดอุทัยธานีโดยแม่น้ำสะแกกรังยังคงพิมพ์ความงามงดนี้ไว้ในใจของผู้มาเยือนตลอดมา ช่างเป็นภาพชีวิตอันยังคงเคลื่อนไหวสวยงามอยู่อย่างมีพลวัตไม่หยุดนิ่ง

ล่องเรือไปในแม่น้ำสะแกกรังวันนี้ ยังพบแพกอเตยหอมที่ชาวเรือนแพปลูกลอยน้ำไว้สำหรับตัดถวายพระเป็นเครื่องบูชาพร้อมดอกไม้ มีแพปลาย่างซึ่งรับซื้อปลาสดๆจากคนประมงท้องถิ่น ทำอบรมควันไว้ขายเก็บกินได้นานปีหอมละมุน บางบ้านทำกิจการเชิงท่องเที่ยว_เปิดเปนแพ เกสต์เฮ้าส์ รับรองแขกต่างบ้านมาเยือน นอนในน้ำบนเรือนแพ
 
มาบัดนี้ก็ให้สะดุดตากับแพไม้ลำใหญ่มีหลังคาจอดเทียบตลิ่งอยู่ตรงจุดอย่างที่เรียกกันว่า_หน้าวัด ชาวแพพี่ขับเรือพาชมแม่น้ำ แกใช้คำว่า ‘แพบวชน้ำ’
 
มาถึงจุดนี้ก็ให้รำลึกถึงพระเดชพระคุณหลวงพ่ออุตตมะผู้ซึ่งเพิ่งจะจบตอนเขียนไปได้ ในฉบับที่แล้วขึ้นมาทันที
 
ด้วยว่าแพบวชเช่นนี้หลวงพ่อเป็นผู้หนึ่งที่มีความชำนาญอย่างยิ่งในการดัดแปลงทรัพยากรธรรมชาติเท่าที่มีอยู่เป็นเครื่องมือประกอบสังฆกิจโดยใช้เงินลงทุนต่ำที่สุดและไม่เคยเรียกร้องอะไรจากผู้ใดมาก่อสร้างถาวรวัตถุเกินความจำเป็น
 
หลายคราวหลวงพ่อได้รับอาราธนาให้ไปสร้างวัด จะเปนการเข้าไปจัดการวัดร้างผีดุก็ตามหรือลงมือสร้างวัดใหม่ก็ตาม หัวใจสำคัญของสิ่งที่จะเรียกได้ว่าวัดคือเขตพระอุโบสถ โบสถ์ที่ล้อมพัทธสีมา อันเปนที่อนุญาตให้พระภิกษุร่วมกันประกอบสังฆกิจ “สังฆกรรม” กันได้

ทว่าปัจจัยทุนทรัพย์การสร้างอาคารโบสถ์นั้นหาไม่ง่าย ทั้งมอญ กะเหรี่ยง กะหร่าง ปะโอ มีแต่แรงงานให้กับหัวใจเด็ดเดี่ยว การจะดำรงศรัทธาของเหล่าศาสนิกให้มั่นคงนั้น จำจะต้องอาศัยเทคนิฆบางประการ
 
ก็ด้วยปณิธานแก่กล้าท่ามกลางทุนทรัพย์อันน้อย_ น้อยจนถึงขั้นไม่มี หลวงพ่อตัดสินใจสร้างเขตพุทธาวาสเพื่อให้สงฆ์ทำสังฆกรรมบวชพระ/ สวดปาติโมกข์ได้ ด้วยการทำแพกลางน้ำ แทนโบสถ์อิฐ/ไม้ ล้อมใบเสมา (*ปล. โบสถ์ไม้ทุกวันนี้หากอยากจะชม-เชิญแวะไปที่วัดลำทับ จ.กระบี่ )
 
อันว่าแพกลางน้ำนี้จะเปนโบสถ์ตามพระวินัยทรงบัญญัติให้ต้องอยู่ในลำน้ำเท่านั้น หากจะเปนสระน้ำ ก็ต้องเปนสระธรรมชาติห้ามขุดและตัวแพอยู่ห่างฝั่ง 12 ศอกขึ้นไป เรียกระยะหัตถบาสใหญ่ แพนี้หลวงพ่อใช้วิธีผูกไว้กับชายตลิ่ง เมื่อลงโบสถ์สังฆกรรมก็ถ่อออกไปกลางน้ำ เสร็จกิจก็จูงสาวเชือกราวกลับมาที่ชายน้ำ 
 
ความแม่นยำในพระวินัยของหลวงพ่อนี้ช่วยแก้ขัดปัญหาไปได้เปลาะหนึ่งที่วัดปะรังกาสี ท่านสร้างโบสถ์แพกลางน้ำนี้กลางแควน้อย ที่สำนักสงฆ์ นิเถะ ท่านก็ทำไว้ที่กลางน้ำบีคลี่
 
เวลานั้นประดาชนเผ่าชาติพันธุ์ตะเข็บชายแดนที่เลื่อมใสในพระศาสนายังมีมาก เมื่อถึงวัยเวลาก็ปรารถนาจักอุปสมบทบวชเรียน ชั่วแต่ว่าหาที่จะบวชมิได้
 
คราวกึ่งพุทธกาล ชาวพุทธนับเปนงานบุญใหญ่ มีผู้ประสงค์จะอุปสมบทระยะสั้น เปนจำนวนมากถึงร้อยยี่สิบ บวชเณรอีกสองร้อยหลวงพ่อสนองศรัทธา ว่าเรือเกลือมาจากแม่กลอง ส่วนข้าวสารอาหารแห้งมาจากหมู่ชาวบ้าน ทำการอุปสัมปทังแล้ว ที่ “แพโบสถ์กลางน้ำ” เปนการเอิกเกริก
 
อิ่มบุญไม่ทันไร ก็มีลิขิตจากเจ้าคณะจังหวัดผู้มีสายหูสายตากว้างไกล ส่งไปถึงสถานีตำรวจทองผาภูมิ ความว่าได้รับลิขิตนี้เมื่อใดให้หลวงพ่อเข้าพบท่านเจ้าคณะจังหวัด ด่วนที่สุด! ทำนองว่า ท่านยังไม่ได้รับแต่งตั้งเปนพระอุปัชฌาย์ตามกฎหมายไทย!?!
 
ลิขิตนั้นมาถึงเวลาบ่ายสี่โมงเข้าแล้ว หลวงพ่อปรึกษาปลัดอำเภอว่าควรทำอย่างไร ปลัดกำลิขิตนั้นจนชื้นจากมือชุ่มเหงื่อ แล้วว่า หลวงปู่ดีดุอย่างกะเสือ เห็นว่าควรต้องรีบไปตามลิขิตเรียกตัว


 
ทีนี้ว่าหากท่านได้ผ่านตาข้อเขียน “คุณคุรุปูชนียาจารย์อ้าง อาจสู้สาคร” ซึ่งได้เลาะลัดไปอรรถาธิบายถึงกระแสลมใต้ปีกที่หนุนเนื่องนำส่งให้พระภิกษุเจริญ สุวัฑฒโน มีสมณคุณสูงสุดถึงที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวง ก็จะพบว่าต้นธารความหนุนเนื่องนี้จะเปนผู้ใดไปมิได้ นอกจากท่านเจ้าคุณพระเทพมงคลรังษี หลวงปู่ดี วัดเหนือ เทวสังฆาราม ผู้อุปัชฌาย์ซึ่งต่อมารั้งตำแหน่งทางปกครองเปนที่เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีที่เรากำลังกล่าวถึงกิตติศัพท์ของท่านเจ้าคุณเฒ่าผู้นี้ เลื่องลือกันไปทั้งบางถึงความ “ดุ” และเข้มงวด ไม่ใช่แต่ทางพระเท่านั้น เหล่าข้าราชการ ฆราวาส ต่างอุบอิบพนมมือ “ถ้าว่าต้องไปธุระแต่หลวงปู่ดี, ไปหาเสือในป่าเสียยังหายใจทั่วท้องกว่า”...ถึงขนาดนั้น
 
หลวงพ่ออุตตมะในวัยหนุ่มชวนใครไปเปนเพื่อนก็ล้วนแต่บ่ายเบี่ยงส่ายหน้า ด้วยว่าฟ้าใกล้มืดแล้วประการหนึ่ง ด้วยต้องพบเจ้าคณะจังหวัดผู้ลูกนัยน์ตากร้าวแกร่งอย่างเสืออีกประการหนึ่ง
 
นาทีนั้น ท่านตัดสินใจขอแรงชาวประมงกะเหรี่ยงชื่อผู้ใหญ่ชวยฉ่องพายเรือไปส่งท่านขึ้นฝั่งที่วังปะโท่ ลัดขึ้นหาทางรถไฟ แล้วท่านเดินไปตามทางรถไฟทั้งมืดๆเช่นนั้น โดยก้าวเปนจังหวะไปตามไม้หมอน จนถึงห้วยลึกแห่งหนึ่งรางรถไฟเหล็กนั้นทอดข้ามห้วยไปมีแต่ราง ไม่มีไม้หมอน! ท่านต้องหาไม้ไผ่มาทำไม้ค้ำรางฟากหนึ่งแล้วเดินเท้าแปบนรางอีกข้างหนึ่ง จึงพยุงสัจจะอธิษฐานตามลิขิตข้ามเหว มุ่งไปตัวเมืองกาญจนบุรีอย่าง “ด่วน” ให้สัมฤทธิได้
 
คืนนั้นท่านพักนอนที่ข้างรางรถไฟนั่นเอง รุ่งแล้วจึงเดินตามไม้หมอนเข้าตัวอำเภอทองผาภูมิ ด้วยจังหวะสม่ำเสมอก้าวละ 3 ช่วงไม้หมอน ระหว่างทางคนทำไม้พบท่านก็ต้มข้าวถวายเพล เที่ยงแล้วท่านชักจีวรคลุมศีรษะบังแดดแผดกล้าแล้วเดินต่อไปถึง ท่าทุ่งนา ค้างข้างทางรถไฟอีกคืน รุ่งเช้าเดินตามไม้หมอนต่อไปถึงท่ากิเลน เดินอีกหนึ่งวันถึงเขตบ้านเก่ารุ่งเช้าขึ้นจึงถึงตัวจังหวัด
 
เมื่อถึงแล้วท่านก็เคว้งอยู่ด้วยตัวท่านพูดไทยไม่ชัด และไม่แน่ใจว่าวัดท่านเจ้าคณะจังหวัดอยู่ที่ไหน!
 
ชะรอยอาจเปนด้วยอำนาจสัจจะเดชะอธิษฐานตั้งใจจะปฏิบัติตามคำสั่งไม่ขัดขืน ทำให้ท่านบังเอิญได้พบ จ่าตำรวจที่เคยประจำการ ณ ทองผาภูมิ เขายินดียิ่งนักได้พบหลวงพ่อ แต่ขลาดหลวงปู่ดีเหลือเกินด้วยชั้นยศเพียงจ่าประทวน ไม่กล้าจะพาท่านเข้าพบเจ้าคณะจังหวัดผู้สถิตในที่สูง คิดตรองดูแล้วจึงพาท่านไปพบแพทย์แผนไทยผู้หนึ่งซึ่งเปนมรรคนายกวัดเหนือ ซึ่งจ่าพิเคราะห์แล้วว่าเปนผู้ใหญ่พอจะพาหลวงพ่อเข้าพบได้
 
ไปถึงบ้านหมอพลบค่ำแล้ว หมอปฏิเสธจะช่วยด้วยว่ามืดแล้วหมอกลัวหลวงปู่ดีดุพอๆกันหลวงพ่อจึงควักลิชิตชุ่มเหงื่อออกมาให้หมอได้ดู และชี้ตรงคำว่า ‘ด่วน’ อธิบายว่าท่านเดินไม่หยุดมาสี่วันทั้งกลางวันกลางคืนตามคำสั่งหลวงปู่มาถึงนี่แล้ว จะรั้งรออยู่อีกท่าจะไม่สมควร หมอจึงยอมตามพาท่านเข้ากุฏิเจ้าคณะที่วัดเหนือ
 
พลันคำแรกที่หลวงปู่ทักทาย ผ่านพระเลขาออกมาจากกูฏิ ก็สร้างความสะพรึงแก่พระหนุ่ม หมอแก่และจ่ากลางคน “นี่ไม่รู้จักเวลาเสียเลย” หมอจึงนำหนังสือลิขิตยับย่นนั้นส่งมอบให้พระเลขา ไปกราบเรียนหลวงปู่ว่ามาด่วนตามคำสั่งพลันที่ประสบพบหลวงพ่อเสือ พระเทพมงคลรังษีผู้อาวุโสพรรษาเดชะตบะกล้าแกร่ง แถมทรงอำนาจทางปกครองชี้เปนชี้ตายได้ ท่านก็แทบสั่น


 
“พระอุตตมะรึ? ได้ข่าวว่าบวชพระที่โน่นเยอะแยะ ใครให้บวชล่ะ”
 
“ไม่มีใครให้บวชหรอก ผมคิดว่าบวชได้ก็เลยให้เขาบวชฉลองกึ่งพุทธกาล”
 
หลวงปู่ดีถาม “บวชที่ไหนล่ะ”
 
หลวงพ่อว่า “ที่โบสถ์น้ำ”
 
หลวงปู่ดีว่า “สร้างเป็นรึ”
 
หลวงพ่อ“ผมก็ตัดไม้บงมาทำแพ”
 
หลวงปู่ดีไม่หัวเราะ แต่ถามใหม่ว่า “ไม่ใช่ โบสถ์น้ำตามวินัยน่ะ สร้างถูกไหม”
 
“ผมคิดว่าถูกนะ” ท่านตอบ
 
หลวงปู่ดีจึงถามเป็นการทดสอบ “แพต้องห่างจากริมฝั่งเท่าไร”
 
หลวงพ่อตอบว่า “๓ วา”
 
หลวงพ่ออธิบายว่า มีพุทธานุญาตให้ประกอบสังฆกรรมในโบสถ์น้ำได้ แต่โบสถ์น้ำ (เขตหัตถบาสใหญ่ก็ประมาณนี้คือ ๑๒ ศอกกับ ๑ คืบ) และต้องเป็นลำน้ำธรรมชาติไม่ใช่ที่คนขุดขึ้นมา
 
หลวงปู่ดีทำการทดสอบความรู้ของหลวงพ่ออยู่เป็นเวลานานให้สวดปาติโมกข์สำเนียงมอญและจำแนกอรรถกถาข้ออธิบายทางสงฆ์ต่างๆรวมถึงแนวทางการอุปสมบทพระต่างๆจนเป็นที่พอใจแล้ว
 
ด้วยความแตกฉานในพระวินัยของท่าน ส่งผลให้เจ้าคณะใหญ่ผู้ลือนามออกปากอนุญาตให้ท่านเปนอุปัชฌาย์นอกระบบได้ ตราบเท่าที่ท่านยังมีอำนาจปกครองคณะสงฆ์อยู่! (ด้วยเหตุที่ท่านไม่มีสัญชาติไทยเจ้าคณะจังหวัดแม้มีความประสงค์เพียงใดอยากได้ตัวท่านไว้ในการทำนุบำรุงกิจการฝ่ายพระศาสนา ก็ไม่อาจออกใบอนุญาตให้เป็นอุปัชฌาย์ตามระเบียบข้อบังคับได้)
 
อันสีมาที่ทำขึ้นในแพกลางน้ำนี้ เรียกว่า “อุทกุกเขปสีมา” ซึ่งเป็นสีมาชนิดหนึ่งในพระบาลีกำหนดให้มีน้ำล้อมรอบชั่ววิดน้ำสาดของคนมีอายุและกำลังปานกลาง ดังนั้นโบสถ์น้ำหากทำสังฆกรรมจึงต้องมีพื้นที่น้ำล้อมรอบตามสมควร ในอดีตนั้นนอกจากชาวบ้านจะอยู่แพแล้ว วัดก็อยู่บนแพด้วย ปัจจุบันวัดทุกแห่งขึ้นอยู่บนบกกันหมดแล้ว คงเหลือเพียง แพโบสถ์น้ำ ที่ผูกไว้หน้าวัด ไม่มีหน้าที่ใช้งานเป็นโบสถ์อีกต่อไป 
 
นอกจากงานศพหรืองานบวชนาค ชาวบ้านจะขอลากแพโบสถ์น้ำจากท่าน้ำหน้าวัดไปต่อกับแพของตนหรือท่าน้ำหน้าบ้าน ใช้สำหรับตั้งศพสวดศพ ทำพิธีทำขวัญนาคในงานบวชนาคและเลี้ยงพระกันในแพ   
 
‘พื้นที่กลางแพโบสถ์น้ำจะยกพื้นสูงสำหรับประกอบพิธีและเป็นอาสนสงฆ์ หลังคาทรงจั่ว ผนังเปิดทั้งสี่ด้าน เนื้อที่พอๆ กับโบสถ์ขนาดย่อมๆ สักหลังหนึ่ง เมื่อจะทำพิธีก็จะใช้เรือไปรับพระที่วัดซึ่งไปขอยืมแพโบสถ์น้ำมาใช้เพราะใช้ทำพิธีบวชกันมาก จึงเรียกชื่อ “แพโบสถ์น้ำ” ว่าเป็น “แพบวชน้ำ” กันแทบทั้งนั้น แพโบสถ์น้ำ คือร่องรอยชีวิตชาวแพที่ยังมีหน้าที่การใช้งานแม้จะไม่ตรงตามชื่อที่เรียกกันก็ตาม’
 
ท่อนท้ายนี้ มูลนิธิ เล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ทำข้อสรุปไว้ให้ และเครดิตภาพสวยจาก@lar_la

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18  ฉบับที่ 3,939 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566