วิธีสร้างตบะเดชะ อย่างสัจจะรามัญอธิษฐาน

28 ต.ค. 2566 | 23:28 น.

วิธีสร้างตบะเดชะ อย่างสัจจะรามัญอธิษฐาน คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

..ในความอึงอลสนธยาแห่งความเปนความตายนั้น 
 
ราว ๓ ทุ่มมีโจรคนหนึ่งเอาไม้ลูกบันไดมาเสียบ แล้วปีนขึ้นมาเอาไฟฉายส่องดู พอเห็นหน้าท่านก็โผเข้ามากอดแล้วกราบทั้งน้ำตา บอกท่านว่า “หลวงพ่อนั่นเอง... หลวงพ่อเปนพ่อของผม ใครจะมาฆ่าไม่ได้ หลวงพ่อจำผมได้ไหม ผมชื่อปะขิ่น คนที่เปนฝีดาษถูกทิ้งไว้ที่ป่าช้าเมืองสะเทิม”
 
ณ จุดนี้ใครจะคิดว่าโลกกลมเปนเรื่องบังเอิญก็ช่างเถิด 55
 
หลวงพ่ออุตตมะ พิจารณาภาพตรงหน้าแล้วหวนรฤกถึงความหลังเมื่อครั้งไปช่วยเขาสร้างกุฏิไม้ที่วัดแมดสะยา ค่ำวันหนึ่งท่านไปจงกรมในป่าช้า พบเด็กชายคนหนึ่งอายุราว ๘ ขวบ ป่วยเปนฝีดาษขึ้นทั้งตัว ถูกนำไปทิ้งไว้กันไว้มิให้แพร่เชื้อไปติดผู้อื่น หลวงพ่อเข้าไปดูเห็นเด็กยังไม่ตาย จึงเอาสบงห่อตัวแอบอุ้มเอาไปที่ศาลาพักของท่าน แล้วจัดการต้มน้ำสะเดาป่าให้เด็กทั้งดื่มทั้งอาบ ทำอยู่ ๑๐ กว่าวันเด็กจึงหายท่านตั้งชื่อให้เด็กน้อยนั้นว่า “ปะขิ่น” แล้วเอาไปฝากเจ้าอาวาสวัดแมดสะยาให้เปนเด็กวัด
 
ปะขิ่นเปนเด็กวัดอยู่จนถึงบวช ญี่ปุ่นเกิดบุกเข้าพม่า บ้านเมืองระส่ำระสายเปนทุรยศ เกิดกองกำลังต่อต้านขึ้นมากมาย ปะขิ่นเปนกะเหรี่ยงเผ่าตองซู่ถูกกวาดต้อนไปด้วย มีเขตอิทธิพลอยู่ใกล้เขตแดนไทย บัดนี้เด็กปะขิ่นนั้นโตใหญ่หน้าตาเปลี่ยนไป หลวงพ่อจึงจำไม่ได้ แต่ปะขิ่นจำท่านได้ดี เวลานี้ปะขิ่นเปนรองหัวหน้ากองโจร

ปะขิ่นขอให้หลวงพ่อลงจากห้าง แต่ท่านบอกว่ารับปากเขาไปแล้ว ลงไปก็จะเป็นการเสียสัจจะ ปะขิ่นจึงให้ไปตามโจรคนแรกมา สักครู่ก็มีคนมาบอกให้หลวงพ่อลง ท่านถามว่าเขาเป็นใคร โจรผู้นั้นก็ตอบว่า “ผมคือคนที่สั่งให้หลวงพ่ออยู่” หลวงพ่อจึงยอมลง!!
 
นี้เปนตัวอย่างว่าบารมีฝ่ายสัจจะอธิษฐานของพระเดชพระคุณหลวงพ่อมีกำลังแรงถึงเพียงนี้
 
ปะขิ่นพาหลวงพ่อไปที่พักของเขาและนิมนต์ให้ท่านพักด้วย หลวงพ่อบอกว่าตอนนี้ฝนไม่ตก ท่านอยู่กลางแจ้งได้ (พระไม่อยู่ร่วมชายคาฆราวาส) ขอให้ปะขิ่นตามกลดของท่านมาให้ด้วย เพราะกลดของหลวงพ่อเปนกลดอย่างดีมีมุ้ง พวกโจรที่จับท่านจึงถือโอกาสเอาไปใช้ หลวงพ่อรออยู่จนเที่ยงคืนกว่าจึงได้กลดคืนมา  ท่านปักกลดแล้วห้ามปะขิ่นไม่ให้เข้าในกลด เพราะท่านจะนั่งกรรมฐาน ปะขิ่นบอกว่าเมื่อหัวค่ำก็เกือบจะตายอยู่แล้ว ยังจะนั่งกรรมฐาน อีกหรือ หลวงพ่อก็บอกว่า
 
“ก็กรรมฐานนี่แหละ...ที่ช่วยเราไว้”

คืนนั้น ปะขิ่นเปนยามเฝ้าดูแลหลวงพ่อด้วยตนเองตลอดทั้งคืน หลวงพ่อทราบภายหลังว่าโจรก๊กนี้มีโจรชื่อภารตะเปนหัวหน้า ภารตะเปนชาวกระหร่าง เดิมเปนคนหาปลาภารตะหรือปลาสร้อย จึงได้ฉายาว่า ภารตะ
 
เช้าวันรุ่งขึ้น พวกโจรที่เป็นลูกน้องของปะขิ่นแห่กันมาหาท่าน รุมล้อมเข้ามาขอของขลัง โดยเชื่อว่าท่านต้องมีอยู่แน่ๆ หลวงพ่อบอกว่าไม่มีก็ไม่มีใครเชื่อ
 
ตอนเพลวันนั้น ปะขิ่นนำอาหารมาถวาย มีทั้งกุ้งปลาที่ปล้นมา หลวงพ่อทราบก็ไม่ยอมฉัน ฉันแต่ข้าวคลุกเกลือกับพริกที่พวกโจรปลูกกันเองเท่านั้น หลวงพ่อถามพวกโจรว่ามีกันกี่คน พวกโจรบอกว่าปะขิ่นมีลูกน้องราว ๓๐๐ คน ภารตะมีเกือบ ๕๐๐ คน พอฉันเสร็จหลวงพ่อก็ไปเก็บกรวดก้อนเล็กๆมาไว้เต็มบาตร จากนั้นท่านก็เข้ากลดแล้วบอกให้พวกโจรรับศีล ท่านอธิบายว่าตามปกติพระจะให้ศีลต้องมีตาลปัตร ท่านจึงใช้กลดต่างตาลปัตรโดยมีมุ้งกั้น เมื่อโจรรับศีลเสร็จท่านก็แปลให้ฟังแล้วบอกว่าจะให้ของขลังไว้ป้องกันตัว ถ้าคนไหนปฏิบัติตามศีลได้ ของที่ให้ก็จะศักดิ์สิทธิเหมือนตัวท่าน โจรทั้งหลายรับคำ ท่านจึงแจกกรวดในบาตรให้คนละก้อน พวกโจรต่างรับไปด้วยความศรัทธา
 
พอแจกของขลังเสร็จ ปะขิ่นก็บอกว่าหลวงพ่อควรรีบเดินทางได้แล้ว ถ้าอยู่ต่อไปจะมีอันตราย ถึงตัวเขาเองก็เหมือนกัน ถ้าภารตะหัวหน้าโจรรู้ก็จะถือว่าขัดคำสั่ง ต้องขุ่นเคืองแน่ๆ ปะขิ่นจึงจัดลูกน้อง ๑๐ คนนำทางและคุ้มกันหลวงพ่อมุ่งเข้าสู่เขตแดนไทย โดยต้องใช้เวลาเดินทางไม่หยุดพักถึง ๓ วัน ๓ คืน
 
กรณีทั้งสองนี้เปนตัวอย่างแต่เพียงเล็กน้อยในชีวิต 97 ปี ของหลวงพ่ออุตตมะ 

เพื่อให้บทความหลายตอนนี้จบลงได้สมบูรณ์ ตรงตามเป้าหมายของการเรียนวิชาสมภารกับหลวงพ่ออุตตมะดังได้จั่วหัวเรื่องไว้ จึงสมควรสกัดบทเรียนสรุปออกมาเปนข้อๆเกี่ยวกับกลไกการเจริญสติของท่าน ดังนี้
 
หากว่าการบริหารร่างกายทำให้กล้ามเนื้อเขม็งเกลียวยืดคลายไม่ฝ่อแถมมีพัฒนาการดีอย่างที่ทางการแพทย์ยอมรับ การฝึกสตินั้นเล่าก็ย่อมจะอำนวยผลให้การพัฒนาการทางจิตภายในมีผลไปในทางเจริญขึ้นฉันนั้นหลวงพ่อนั้นได้รับการยอมรับว่าเปนผู้มีกำลังจิตที่เข้มแข็ง มีตบะเดชะแรงกล้า น่าเชื่อว่าก็ด้วยกลไกการสัจจะอธิษฐาน
 
กล่าวคือลงว่าท่านมีความตั้งใจจะทำอะไรแล้วท่านจะสมาทานสัจจะความตั้งใจนั้นแก่ตนเองไม่ยอมจะเสียคำพูดหรือความตั้งใจที่มีให้กับตนเอง ไม่อ่อนข้อท้อถอยกับอะไรๆก็ตามที่จะทำให้ความมีสัจจะแก่ตนนั้นสูญไปหลายครั้งและเกือบทุกครั้งสิ่งที่ท่านประสงค์จะทำนั้น_ยาก ยากเกินวิสัยปุถุชนที่นิยมความสุขสบายล่องลอยไร้การบังคับท่านทำอะไรบ้างในการทำสัจจะบำเพ็ญนี้ ลองพิจารณาจากปฏิปทาของท่านดูจะพบว่า


 
1. กรรมฐานอาการ 32 หลวงพ่อฉันภัตตาหารเพียง 32 คำ ไม่ว่าจังหันนั้นจะมากน้อยท่านตั้งสัจจะบังคับตัวให้ฉัน32 คำ เปนอนุโลมพิจารณาอาการ 32 อาการ 32 นี้ได้แก่ เกสา(ผม) โลมา(ขน) นะขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) ตะโจ(หนัง) มังสัง (เนื้อ) นะหารู(เอ็น) อัฏรี(กระดูก) อัฏฐิมิญชัง(เยื่อกระดูก) วักกัง (ม้าม)...ไล่ไปจน มะตถะเก มัตถะลุงคัง (เนื้อสมอง) ลองพิจารณาดูว่าชนมพรรษา 97 พรรษา 87นั้น มีวันทั้งสิ้นหมื่นกว่าวัน หากท่านได้เจริญสติทุกคำกลืนเปนความถี่ในการฝึกจิตสูงเพียงไหน...ขออภัยหากจะคิดว่าท่านเริ่มทำสัจจังบังคับใจกายเมื่อตอนเปนพระ_ หามิได้_หลวงพ่อเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ยังเปนเณร!
 
2. ทวีคูณและตติยคูณของอาการ32 นอกจากนี้ท่านได้เฉลยว่า การพิจารณาอาการ32 ของท่านนั้นนอกจากยามฉันจังหัน ท่านยังเอาผูกไว้กับเวลา รอบเช้า / รอบเที่ยง/ รอบเย็น เปนตติยคูณสามเท่าความถี่ของข้อ 1.เรียกได้ว่ามีสติจับรู้ตัวอยู่ตลอดด้วยอุบายคาถากรรมฐานนี้เอง
 
(หมายเหตุ กรรมฐานนี้ยามนาคไปขอบวชพระอุปัชฌาย์จะต้องให้แก่ผู้ขอบวชทุกคนไปเปนข้อพิจารณา, ให้- คือบอกด้วยว่าจาในระหว่างพิธีบวช ขาขึ้นว่า เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ขาลงว่า ตะโจ ทันตา นะขา โลมาเกสา ผู้ที่งุนงงสงสัยอยู่ว่าบอกทำไม ขอได้กราบอนุโมทนาสาธุการที่หลวงพ่อได้เมตตาเฉลยวิธีใช้เอาไว้ให้ เทอญ)

ต่อตอนจบ ฉบับหน้า

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,935 วันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566