พูดถึงเสือแล้ว งานพุทธศิลป์ฝ่ายเสือที่ออกแบบมาสวยงาม ควรต้องยกให้ฝีมือช่างเทวดา นามว่าช่างเกษม มงคลเจริญ ผู้ซึ่งมีฝีมือมากทางการแกะแบบเหรียญพระ รูปหล่อต่างๆ ในลักษณะว่าร่วมสมัย คือ contemporary งานของท่านมันอยู่ยุคกึ่งพุทธกาลมาสักสิบยี่สิบปีเรื่อยๆมา ท่านนายช่างเกษม มงคลเจริญ เพิ่งจะลาลับไปไม่ถึงสองปีมานี้ด้วยชนมายุเกือบร้อย ผู้คนทั้งหลายในวงการยอมรับกันว่า ช่างเกษม มงคลเจริญเปนช่างเทวดา
ผลงานงานแกะของท่านมี signature_ลายเซ็นเฉพาะตัว ดูอย่างเสือหลวงพ่อมุม วัดนาสัก ตัวนี้ที่ท่านแกะพิมพ์ เสือกำดัดนี้กำลังแฮ่ มันแยกเขี้ยว ขมึงตา หนวดเปล่งเกร็งกรงเล็บ ช่างดูแล้วเข้มขลังมีกำลังสูง ลักษณะการสร้างน่าเชื่อว่าใช้เทคนิคเดียวกันกับพระกริ่งรูปเหมือนสมเด็จพุฒาจารย์โต 101 ปี และพระกริ่งพันตำลึงทอง ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อเงินหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม คือที่ก้นจะกลึงเปนวงเดือนที่ก้นก่อนอุดกริ่งอุดผง เสือหลวงพ่อมุมตัวนี้หางกระดกเสียด้วย
หลวงพ่อมุม เปนคนเมืองนคร เมื่อเด็กสูญเสียบิดาจึงบวชเณรให้พ่อ ต่อมาถึงวัยอุปสมบทเจ้าคุณม่วง พระธัมธัชมุนี ผู้เรืองนามบวชให้ ศึกษาวิทยาการต่างๆจนถึงวัยแล้ว คณะสงฆ์ให้ท่านไปครองวัดนาสักที่ร้าง ก็รุ่งเรืองขึ้นไปทั้งวัดและชุมชน ถึงวัยชราแล้วลูกศิษย์คิดเองเออเองสร้างรูปเหมือนท่านขนาดเท่าตัวจริง แล้วนิมนต์ท่านไปเจิม ในฐานะครูผู้ใหญ่ท่านก็รับนิมนต์ ถึงที่แล้วท่านเจิมไปก็รำพึงว่า ‘สร้างรูปข้า ไม่บอกข้าสักคำ จากนี้ไปข้าคงอยู่อีกไม่นาน’
ต่อมาท่านเกิดอาพาธ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลชุมพร ท่านได้สั่งมัคทายกให้นำน้ำมารดตัวท่าน ด้วยว่าท่านใกล้จะละสังขารแล้ว แล้วกำชับว่า ‘เวลาที่ข้าจะไปคือเวลาที่หยุด’
มัคทายกสงสัยยกนาฬิกาที่ผูกเเขนไว้ขึ้นดู เห็นว่านาฬิกาหยุดเดิน นึกว่านาฬิกาเสีย ถามหมอที่เดินเข้ามา เพื่อจะพบว่า นาฬิกาหมอก็เสียอีก ทุกคนถลันไปดูหลวงพ่อที่เตียง ก็พบว่าท่านละสังขารแล้ว วันนั้นนาฬิกาที่โรงพยาบาลชุมพรหยุดเดินพร้อมกันทุกเรือน!
แม้แต่เมื่อนำร่างหลวงพ่อมุมมาถึงที่วัดนาสัก นาฬิกาของวัดนาสักก็หยุด และรวมถึงเมื่อทายกแจ้งข่าวให้ทางวัดโพธิเกษตรทราบข่าวการมรณภาพของหลวงพ่อมุม นาฬิกาของวัดโพธิเกษตรก็หยุดด้วยเช่นกัน งานนี้เชื่อโดยสุจริตใจว่าอิทธิคุณของหลวงพ่อที่หนุนอยู่หลังเสือพยัคฆ์ทักษิณนี้คือ ลักษณะที่เรียกว่านะจังงัง หยุดเวลา ท่านให้ชื่อเสือนี้ของท่านว่า “พยัคฆ์ทักษิณ”
ย้อนกลับมาพูดถึงว่ากรณีช่างเกษม แกะรูปลอยตัวนี้ ท่านสร้างพระกริ่งพันตำลึงทอง ตามคำสั่งหลวงพ่อเงินวัดดอนยอยหอมเมื่อปี 2513 เปนพระศิลปะนครปฐมที่มีรอยยิ้มแบบบายนอันลึกลับ เปนยิ้มชนิดพิเศษที่เหมือนจะอ่อนโยนแต่กลับเข้มแข็งมีกำลังปกป้องคุ้มครอง แต่ในเวลาเดียวเหมือนจะดุขึ้งแค่กลับมีเมตตา เปนงานออกแบบที่สวยงามล้ำค่าน่าพิศวงยิ่งนัก
พระนี้ขัดสมาธิราบอุ้มบาตร ในบาตรอันเล็กจิ๋วนั้น ท่านประจงแกะสลักจารึกคำว่า “เงิน” เอาไว้ข้างใน บ่งนัยยะว่าเปนพระของหลวงพ่อเงินด้วย บาตรอันเปนบริขารมีความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์อีกด้วย ทีนี้ว่าเมื่อหงายฐานพระขึ้นมา จึงจะเห็นรหัสนัยพิเศษ ท่านทำฝาปิดฐานกริ่งเปนรูปเสือแยกเขี้ยว หนวดคมเขี้ยวแหลมอ้าปากคำราม สวยงามเข้มขลัง ลูกศิษย์ถามกับหลวงพ่อเงินถึงการออกแบบให้มีเสือนี้ว่ามีอิทธิคุณอย่างไร ตามประสาวิสัยนักเลงนครปฐมพูดซึ่งเสงี่ยมอยู่ในโสรัจจะกิตติคุณถ่อมตน เทพเจ้าแห่งดอนยายหอมพูดเบาเบาเพียงแค่ว่าก็ฉันเกิดปีขาลปีเสือ
เลยไปทางท่าน้ำนครชัยศรีในยุคถัดมา เสือละแวกนี้จะมีของผู้ใดโดดเด่นไปกว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อเปิ่น เจ้าคุณพระอุดมประชานารถ วัดบางพระ เป็นไปไม่ได้ ลือกันโดยสนิทเชื่อใจว่าหลวงพ่อเปิ่นท่านสำเร็จวิชาเสือ มีตบะเดชะมาก
ข้างหลวงพ่อเคยกล่าวไว้ว่าท่านชอบเสือด้วยเหตุผลว่าเสือเป็นสัตว์ที่มีอำนาจเพียงเสียงคำรามของเสือสัตว์ทั้งหลายเมื่อได้ยินก็จะเงียบกริบ จัดอยู่ในทางมหาอำนาจ ทั้งยังเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างสง่างามเต็มไปด้วยบารมีจึงจัดอยู่ในมหานิยมเช่นกัน
เรื่องนี้เคยได้รับคำอธิบายจากโยมคุณตา นายสมบุญ อิ่มโอชา ว่าใดๆในโลกล้วนมิได้มีมิติเดียว “มันเป็นทวิภาวะ” ท่านว่า
“ดูทีรึ คนไปสวนสัตว์อยากดูเสือเปนอย่างแรก แต่พอคนเข้าป่ากลับภาวนาขอไม่ให้เจอเสือ”
หลวงพ่อเปิ่นเจอเสือโคร่งขวางทาง ระหว่างเดินธุดงค์อยู่ในป่ากาญจนบุรี ท่านได้ใช้สติพิจารณาอากัปกิริยาลักษณะท่าทางและจิตใจของมัน มีความประทับใจในธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้มากจึงกลับมาสร้างคิตตี้วัตถุต่างๆเกี่ยวกับเสือ
นาทีนี้ขอนำเสนอวัตถุมงคลที่ชื่อว่าเสือลูกอมของหลวงพ่อเปิ่นเพิ่งสร้างไว้ก่อนมรณภาพ 3 เดือน ลงยาสวยงามน่ารักตาฝังทับทิมวิบวับๆ ท่านให้ชื่อว่า ตะกรุดลูกอมเจ้าพญาเสือโภคทรัพย์ ปี 45 บูชาครู
ไหนๆก็ไหนๆแล้วที่ ท่ายาง ทางไปหาดเจ้าสำราญเมืองเพชรบุรี ยังมีพระเดชพระคุณฝ่ายธรรมยุตอยู่รูปหนึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในความดุของท่าน ท่านผู้นี้ก็คือหลวงพ่อตัด วัดชายนา หรือท่านเจ้าคุณพระพุทธวิริยากร หลวงพ่อตัดเป็นผู้มีตบะเดชะสูงตะกรุดของท่านนักเลงเมืองเพชรต่างนิยมหวงแหน เพราะลือกันอย่างหนาหูว่าปืนยิงไม่ออก หลวงพ่อตัดพูดจาเสียงดังกังวาล ถ้าใครทำอะไรผิดแล้วท่านไม่ประหยัดถ้อยคำ ไม่นิยมพูดหวานหูเอาใจญาติโยมพระเณร วิทยาการของท่านถ่ายทอดให้พระครูสารธรรมฯ อาจารย์ทิน เจ้าอาวาสรูปถัดมา โดยเฉพาะวิชาสร้างผงวิเศษจากเยี่ยวชะนีที่มีคุณทางการดึงดูดผู้คนอย่างว่า ฟีโรโมน และวิชาพระขรรค์ที่สมกับชื่อท่าน คือมีไว้ตัด_ตัดอุปสรรค ซึ่งสืบกระแสวิชามาตามลำน้ำจากปากคลองบางครก หลวงพ่อโศก
ท่านอาจารย์ทินนั้นเป็นพระที่มีสายเลือดศิลปินการช่างวัตถุมงคลต่างๆท่านสร้างเองทำเอง ในรูปนี้ท่านทำเสือหัวโม่ง แกะจากกะลาตาเดียวตัวจิ๋วๆเท่า ปลายนิ้วหัวแม่มือ รายละเอียดทรวดทรงก็สวยงามมากลักษณะการยืนก็แตกต่างจากสำนักอื่นที่จะสร้างกันอยู่ สมกับเป็นงานศิลปของผู้มีสายเลือดศิลปินในหัวใจอย่างแท้จริง ได้นำมาเลี่ยมเงินบริสุทธิ์จับขอบเพื่อรักษาสภาพงานศิลปอย่างนี้ให้มีความทนคงอยู่ไปนานเท่านาน
อย่างไรก็ดีหากพูดถึงว่าทรวดทรงของเสือที่มีลักษณะเข้ารูปเข้ารอยสวยงามตามกายวิภาคศาสตร์แล้วก็ต้องยกให้เสือซึ่งปรากฏตัวในลอตเตอรี่ฉบับล้านบาทของประเทศไทย ในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 นำมาเเสดงให้ท่านชมไว้พร้อมนี้
ส่วนคอลเลกชั่นเสือ สำหรับบ้านเขาใหญ่เดือนนี้ คิวบิสม์เสือก็มีนัยยะน่าค้นหา เจ้าเสือตัวนี้ในแวบแรกที่ได้เห็น หัวหูอันโตอย่างกระบุง ตัวล่ำตันเล็บก็ฟู ก็รู้สึกว่า มันเปนเสือแห่งความเคลื่อนไหว ...หมายว่ามันมีกำลัง มันมีพลัง พลังและกำลังที่จะขับเคลื่อนภารกิจอย่างเสือๆ ของมันในวาบความคิดบางแวบนั้น ก็ให้นึกถึงว่าเสือแห่งความเคลื่อนไหวนี้ มันมีความเปนตัวแทนของเสือทั้งปวงได้ในความรู้สึก มันไม่ได้อ้วน แต่มันพ่วงพี มันมีกำลัง และกรงเล็บ หน้าเหี้ยมของมันมีหุ่นที่ขี้เล่นบางทีมันก็มองเหมือนแมวใหญ่ๆตัวหนึ่ง สมดังภาษิตที่ว่า เสือทุกตัวเปนแมว แต่แมวทุกตัวไม่ได้เปนเสือ