บ้านเขาใหญ่ สงกรานต์ปีนี้แวะมาหลบร้อนอยู่ที่บ้านเขาใหญ่ ก็ให้บังเอิญพบว่ามีเจ้าประดาสัตว์ต่างๆมากมายแวะมาเยี่ยมหา เริ่มจากพวกกระรอกทั้งเผือกและไม่เผือก แวะมากินลูกเกาลัดไทยที่เพิ่งจะแย้มจากต้น ตามมาด้วยนกหัวขวานคู่ผัวเมีย ที่วิ่งปรู้ดแล้วมีเสียงเหมือนนกหัวขวานในการ์ตูน มาเจาะต้นหูกระจงจะทำรัง ตามมาด้วยลูกนกฮูกหลงทางมายืนอยู่ใต้เงากำแพงต้นชบา ต่อมาก็นกยูง บินมาจากไหนไม่ทราบชัด แต่ส่งเสียงร้องดังเหลือเกิน มาเดินสำรวจกองไม้เก่าหลังบ้าน ไม่นับประดาหมาทั้งเจตนาหลงและไม่เจตนา นกเงือกป่ามากินลูกไม้ นกกระปูดผัวเมียสีอย่างลูกไฟตัวอ้วนกลมร้องปู้ดๆๆดังกังวาฬบินโฉบยุงไปมา แซงแซวหางบ่วงจับกิ่งชบา งูสิงคารสีม่วงสดใสเลื้อยมาลอกคราบ ไหนจะผึ้งหลวงทำรังที่กอเฟื่องฟ้าให้น้ำหวานเต็มลำรวง ไปยันหนูไร่จากไร่ข้าวโพดข้างๆที่มองไม่เห็นตัวแต่ฝากผลงานกัดสายไฟรถยนต์ขาด!
ที่แปลงนี้มีซุ้มประตูทางเข้าเปนต้นยูงทองสูงใหญ่ปลูกเรียงราย ให้ความสงบร่มรื่นตัดด้วยสีเขียวจัดของพู่ระหงส์ดอกแดงที่เเซมไว้เปนแนวรั้ว พวกประดาสรรพสัตว์เหล่านี้ถ้าเลยขึ้นไปทางเขาใหญ่ฝั่งอุทยาน ก็มีครบหมดทั้ง เก้ง กวาง หมูป่า หมี ช้าง ไปยันเสือและจระเข้
ก็เปนจังหวะอันดีที่ชวนให้นึกถึงคาเเรกเตอร์ของสัตว์ทั้งหลาย ที่น่ารักด้วย น่าสนใจด้วย จนประดาเกจิผู้มีวิทยาคมต่างๆท่านดึงเอามาใช้ทำเครื่องราง วัตถุมงคลกัน เริ่มที่หมีกันก่อน ปีกลายได้ฝากเงิน คนในพื้นที่ท่านไปแสนหนึ่ง หวังใจได้สร้างประตูเข้าวัดบ้านสวน เมืองพัทลุง ซึ่งเปนสายศิษย์สืบวิชาตักศิลาเขาอ้อ มีความลือชื่อทางยารักษาโรคต่างๆและวิชาแก้บ้า เขาว่าเสร็จดีแล้วจะติดป้ายชื่อให้ชื่นใจ ก็จะไปรอดู
ทว่าบนเส้นทางสายควนขนุน เนินมะกอกแห่งพัทลุงนี้ สำนักเขาอ้อตั้งอยู่มานานเนพันปีมีวิชาหลักมาจากพราหมณ์ มีวิทยาการทางพราหมณ์ศาสตร์กระจายออกไปเปนสายๆ เช่นว่า พวกธนู/กระสุน นี่ไปเด่นที่วัดปากสระ พวกหุ่นพยนต์ไปเด่นที่วัดภูเขาทอง วิชาแก้เด็กโยเย ไปเด่นอยู่ที่ศรีบรรพตอย่างนี้เปนต้น ด้วยว่าศิษย์ต่างๆไม่อาจรับวิชาครูผู้อัจฉริยะได้หมดนั่นเอง ครูจึงเลือกเอาว่าคนไหนจะได้วิชาอะไรไป
อันการณ์วิชาต่างๆนี้ ก็ให้ยังมีพ่อท่านแสงวัดในเตาอีกรูปนึง ท่านไปอยู่ถ้ำที่เมืองตรัง มีศิษย์รับทอดวิชาคือ อาจารย์ประสูติ ปัจจุบันว่า วัดในเตา ท่านทำอะไรๆตามครูได้หลายอย่าง หนึ่งในนั่นคือ วิชาหมี_พญาหมี
นานมาแล้วรัชทายาทเมืองใหญ่ในอนุทวีปอินเดียแกไปเที่ยวป่า แล้วเกิดพลัดหลงกับทีมราชองครักษ์ เปะปะไปเจอเสือเข้า ก็รีบปีนขึ้นต้นไม้_หนีเสือ ก็ให้บังเอิญว่าบนไม้ใหญ่นั้นมีพญาหมีอยู่ตัวนึง มันก็ให้ความคุ้มกันเจ้าชายน้อย ให้น้ำผึ้งกิน และตกดึกลมหนาวกรรโชกมาก็ให้นอนซุกอก_หลับลงได้
ครั้นเจ้าชายนี้แกมีกำลังวังชาดีขึ้นแล้วนึกว่าจะกลับวังได้ ก็ให้บังเอิญอีเสือตัวเมื่อวานมาร้องกระโจนจะตะปบโฮกๆอยู่โคนไม้ คุณเจ้าชายก็จึงคิดอกตัญญู รีบถีบส่งพญาหมีกะให้หล่นไปเปนเหยื่อเสือแทนตน
แม้จะโดนถีบพลั่กเข้ายังงั้น พญาหมีของเราก็ไวทายาท คว้ามือเหนี่ยวกิ่งไม้ไว้ไม่ตก ในทันใดนั้นก็ร่ายมนต์สำคัญสี่พยางค์ สาปใส่ ไอ้เจ้าชายว่า สะ/สิ/มิ/ระ
พลันไอ้เจ้าชายนี่ก็ตกที่นั่งนะจังงัง หลอนเพ้อพร่ำแต่คำว่า สะ/สิ/มิ/ระ ไม่เปนอันกินนอน ส่วนเสือร้ายอยู่ข้างล่างเจอสถานการณ์นี้เข้า เสือก็หลอนเช่นกัน แล้วก็หนีหายไป
เสด็จพ่อที่ในวังจัดกำลังมาเร่งตามหา เจอเจ้าชายนั่งซึมอยู่โคนไม้ พาเอากลับวังได้แต่ยังหลอนพร่ำอยู่ แต่ว่า สะ/สิ/มิ/ระ ปุโรหิตราชครูพิเคราะห์แล้วกราบบังคมทูลว่าต้องเรียกตัวพญาหมีมาแก้คาถา กษัตริย์ผู้บิดาจึงพาทีมงานออกไปเชิญพญาหมีมีการตั้งปะรำที่กลางป่าพญาหมีนวดนาดเสด็จมาถึงปะรำพิธี จึงพูดใส่หน้าเจ้าชาย ว่า
“สะ- ฉลาดนักหรือที่จะฆ่าผู้มีคุณให้อกเปนที่ซบนอน_หืม?”
“สิ - ผู้ทรยศต่อสหาย มีทางใดจะไถ่บาปได้บ้าง?-ไม่มีหรอก”
“มิ /ระ - ผู้ทรยศต่อมิตร ผู้อกตัญญู ผู้ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ ละชีพไปแล้วย่อมตกนรกภูมิแสนนาน-จำไว้!”
เจ้าชายได้ฟังพญาหมีแก้คาถาก็ได้สติคลายหลอน รับเอาคำสั่งสอนของพญาหมี มุ่งหน้าทำดีรักษามิตรสร้างเครดิตเกื้อกูลต่อมา
เรื่องวิทยาคมฝ่ายหมีนี้ เมื่อก่อนเสด็จพระองค์ชายใหญ่แห่งราชสกุลยุคล ยังเคยมุ่งไปเขาอ้อ รับวิชา ท่านพระครูกาชาดทำพิธี กินน้ำมันงาเสก โดยในระหว่างเข้าพิธีจะต้องวางหนังหมีไว้เรียกกำลังบนพระเศียร ยังปรากฏภาพเดลินิวส์ถ่ายเปนสกู๊ปข่าวไว้ ว่าเสด็จทรงเข้าใจเข้าถึงวัฒนธรรมเก่าแก่โบราณกาล
วันนี้ อ.ประสูติทำรูปพญาหมีกายสิทธิ์ เรียกตบะเข้าตัว ยามมีคนทำชั่วทำร้ายมิตร หมีไม่มีเลยจะรู้สึกรู้สา ด้วยคาถาสะสิมิระ หมีท่องไว้ประจำแก่ตัว ความชั่วความบาปทั้งนั้นก็สะท้อนกลับไปหลอนหลอกอ้าย/อีคนกระทำ เหมือนดังสัจจะกิริยาสมัยอีตาเจ้าชาย!
ต่อมาก็เรื่องนกฮูก ซึ่งบางท่านเรียก นกเค้า เค้าอะไร? ตอบว่าเค้าแมว เพราะเข้าเค้าว่าหน้าเหมือนแมวอย่างนึงล่ะนกอะไรมีหูโผล่มาทรงสามเหลี่ยม อีกนัยยะหนึ่งคือชอบจับหนูกิน_นิสัยเหมือนแมว!
ทางเมืองเหนือเรานี้นับถือนกฮูกนกเค้า(เก๊า) ว่าเปนสัตว์เครื่องแสดงแห่งปัญญา ด้วยว่าเวลากลางคืนอันมืดมิดนั้น นกนี้กลับมีสายตาคมชัดมองฝ่าความมืดอันคนเหนือเราตีความว่าอวิชชาทะลุออกไปได้ เปนเครื่องเปรียบเทียบข้อธรรมะ ผ่านธรรมชาติบุคลิกของสัตว์ ที่ยังให้คนต้องฉุกคิดและหาทางปฏิบัติขัดเกลาให้ได้อย่างเขาบ้าง
นกฮูกไม่เหมือนนกแสก นกแสกแกหน้าขาวว่อกรูปหัวใจ เปรียวกว่า นกฮูกอ้วนกว่าสีเทากว่า หน้าอูม นกฮูกนกเค้านี้มันมีขนพิเศษ บางเบา เวลากระพือปีกแล้วเงียบกริบ ไม่มีจะมาพั่บๆๆ แบบนกอื่น เราจึงไม่ได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวแห่งมัน_เท่จริงๆเงียบอย่างกะโรลสรอยซ์ silver ghost!
ข้างนกถึดทือ หรือ นกพิทิด ในคำใต้ ก็เปนสกุลของนกล่าเหยื่อในวงศ์นกเค้า ลักษณะของนกทึดทือนี่ก็คือนกฮูกหรือนกเค้าแมวขนาดกลาง ลำตัวสีนํ้าตาล มีลายกระขาว ตัวด้านบนและปีกสีเข้มกว่าด้านท้อง ขนคิ้วยาว เห็นได้ชัด ตาสีเหลือง หน้าแข้งไม่มีขน หากินในเวลากลางคืน
การที่ได้ชื่อว่า “ทึดทือ” นั้น มาจากเสียงร้อง ที่เปนเสียงต่ำทุ้ม โดยเฉพาะช่วงจับคู่ในฤดูหนาว ปวงมันทั้งสองเพศจะร้องประสานเสียงกันให้ได้ยินบ่อย ๆ ยามพลบค่ำและรุ่งสาง ท่านว่าพวกนี้อาศัยอยู่ในป่าใกล้แหล่งน้ำ เพราะจับสัตว์น้ำเช่น ปลา, ปู, กุ้ง, กบ, เขียด กินแก้หิว ฝรั่งเรียก fish owl_นกฮูกปลา คงจะคล้ายเสือปลาที่กินแต่ปลาล่ะกระมัง
ผู้เอาลักษณะนกฮูกนกถึดทือมาใช้ ยุคเเรกๆคือหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่ชัยนาท เปนเครื่องรางที่ใช้ถล่มเจ้ามือการพนันตามบ่อนต่างๆได้ดี ด้วยอิทธิคุณนกถึดทือคือมาเงียบๆ จับเหยื่อยามค่ำมืด (บ่อนเปิดกลางคืน) ผู้คนไปหากินกับการลงบ่อนก็เปนเวลาหากินของนกนี้ ยุคหลังมานี่ ท่านอาจารย์ชู ที่นครสวรรค์สร้างเครื่องรางนกถึดทือ สวยๆงามๆหลายรุ่น ราคาพุ่งไปไกลถึงหลักแสนสำหรับรุ่นแรกๆ
นอกนี้ก็คือผึ้งหลวง ซึ่งเมืองไทยไม่ค่อยมีเครื่องรางทางนี้ มีแต่กุชชี่เอาไปใส่ในคอลเลกชั่นต่างๆ_สวยงามดึงดูดใจบุเรงนองกะยอดินนรธา พระเจ้าเมืองพม่าผู้ชนะสิบทิศเวลาท่านนั่งบนราชอาสนะบัลลังก์ที่หงสาวดีนั่นก็เป็นบัลลังก์ผึ้ง!
คนไทยถูกจับเปนเชลยอยู่ในพม่ารู้เห็นว่าวิทยาการของขุนแผนเสกต่อเสกแตนออกไปจากใบไม้นั้น ฝ่ายพม่าเขามีมากก็ลักษณาการเดียวกันแต่เป็นผึ้ง!
ภมราสนะ หรือ บัลลังก์ผึ้ง ทำจากไม้บุนนาค (Mesua ferrea) ประดิษฐาน ณ หอแก้ว หรือ พระตำหนักทรงพระสำราญ ทั้งนี้ พม่าก็ถือว่าผึ้งหลวงเป็นสัตว์มงคลไปเกาะทำรังที่ใดมักนำโภคทรัพย์โชคลาภมาให้ ต่อมายุคพระเจ้ามินดงทรงโปรดมาก มักเสด็จมาบรรทมที่บัลลังก์นี้ อ่านภาษาพม่ากระท่อนกระแท่นได้ว่า บะมะยาตะนะปะลีน
อย่างไรก็ดีก็เปนที่น่าสังเกตว่า อันบัลลังก์นี้มันผึ้งรึแมลงภู่กันแน่ ?!?
ด้วยว่าทางไทใหญ่หรือฝ่ายรัฐฉานให้ความนับถือบูชาในเครื่องรางชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่าแมลงภู่คำ (คำ=ทองคำ หมายถึงมีค่ามาก)
เรื่องแมลงภู่เป็นสัตว์วิเศษนี้เคยปรากฏในวรรณคดีสำคัญของเอเชียอาคเนย์คือในเรื่องรามเกียรติ์ กล่าวถึงการฝากหัวใจของพญายักษ์ไมยราพเอาไว้ในแมลงภู่ ซึ่งถ้ามีลักษณะสำคัญบอกเล่ากันมาเช่นนั้นจริงเผลอเผลอบัลลังก์ผึ้ง อาจจะเปนบัลลังก์แมลงภู่ขึ้นมาก็ได้ เพราะภุมราตามภาษาบาลีสันสกฤตมันตีความยาก ไม่เหมือนละตินที่แยกวงศ์และสปีชี่ส์กันไปเลย
ครูบาวิมาละ วิมะโร อดีตนายทหารไทยใหญ่ซึ่งท่านจำพรรษาอยู่ดอยจอมแว่เชียงดาวสร้างเครื่องรางคือแมลงภู่คำ เด็กๆไทใหญ่ทั้งหญิงชายมีห้อยคอไว้ทุกคน ปวงเขาเล่าว่า ยามมีภัยจะได้ยินเสียงแมลงภู่กระพือปีกหึ่งๆ จะฉุกใจคิดไว้ ยามสร้างบ้านแปงเรือนก็เอาใส่หัวเสาสี่มุมไว้คุ้มภัย ลักษณะในทางศิลปะก็สวยคมงามงด
ข้างฝั่งผึ้งหลวงนั้น ผึ้งราชา (ราชินี) เขามีบุคลิกพิเศษ กล่าวคือนอนเฉยๆ ผึ้งทั้งหลายก็จะเที่ยวไปหาของมีค่าทั่วแผ่นดินมาให้ คือคอยหาอาหารมาป้อนถึงปาก สะสมทรัพย์โภคสมบัติเปนนมผึ้ง- bee jelly ของบำรุงราคาแพง
ด้วยตรรกะ analogy อุปมาน นี้วิชาผึ้งหลวงราชาใครมีก็ไม่แปลกที่คนทั้งหลายจะหอบทรัพย์สินหอบเงินหอบทองมาให้ดังผึ้งงานหาเงินหาทองหาของมีค่ามามอบให้พญาผึ้งหลวงฉันนั้น ทั้งยังมีผึ้งแสนตัวรีบแย่งปรนนิบัติพัดวีฝูงผึ้งงานก็อยู่ในอาณัติทำงานถวายตายแทนพญาราชาผึ้งแต่ตนเดียว ผึ้งทั้งโขลงต้องมาพะเน้าพะนออ้อล้อรุมหลงเรียกยอดเสน่ห์ยอดรัก ยอดเมตตา อะไรเปรียบไม่มี ผึ้งราชา(ราชินี)ยอดเสน่หา ผึ้งหนุ่ม ผึ้งสาวมารุมล้อมอ้อนออดทะนุถนอมให้รักให้หลงให้สวาทอยู่กับผึ้งราชาตนเดียวไม่เปลี่ยนใจ_อ่ะฟังดังนี้มันก็น่าจะมีชีวิตอย่างผึ้งบ้าง
ต่อมาก็คือตุ๊กแก เกาะอยู่โรงรถ สีสันเขาฉูดฉาด พื้นตัวสีฟ้า_indigolte blue แต้มจุดจ้ำๆสีแดง เคลื่อนไหวยึกย้างกวนบาทา มารอกินแมลงอื่นเช่นแมงเม่าบินมา และว่ากันว่ารอให้งูเขียวมากินตับ! ซึ่งมันควรจะกลับกันมากกว่าคือ raptile อย่างตุ๊กแกน่ะแหละริอาจจะกินงูเขียวตัวเพรียวตัวป้อม!
ท่านผู้ทำเครื่องรางตุ๊กแกคือ หลวงปู่ครื้น เมืองสุพรรณ ซึ่งทอดสายวิชาต่อมายังหลวงปู่หล่ำ วังทองหลาง
อันว่าตุ๊กแกนี้ท่านว่ามือมันนั้นเหนียวหนับดีนัก ใครโดนตุ๊กแกเกาะจับต้องนั่งกินน้ำไปสามตุ่มกว่าจะแกะมือตืนมันออกได้ ซึ่งเปนลักษณาการความตุ่มละเอียดของมันที่มือมีความเปนสุญญากาศดูดจึ่บๆ มากกว่าเปนยางเหนียว เปนไปได้ว่าหลวงปู่หลวงพ่อดึงข้อดีด้านการจับแม่นจับหมานของตุ๊กแกมาเปนคาแรกเตอร์แห่งอิทธิคุณฝ่ายมันให้ค้าแม่นขายหมาย จับลูกค้าไม่มีหลุด ก็เปนได้
ตอนต่อไปก็จะถึงคิวของเจ้านกยูง งู หนู หมา..