จากการศึกษาความความเหมือนและความแตกต่างของธุรกิจครอบครัวด้วยการสำรวจบริษัทชั้นนำในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี อินโดนีเซีย และอินเดีย ที่เป็นประเทศยักษ์ใหญ่ เนื่องจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนีเป็น 3 ใน 5 ประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก
ขณะที่อินโดนีเซียและอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วที่สุด หลังจากปีค.ศ. 2000 ทั้งอินเดียและอินโดนีเซียมีเศรษฐกิจโตขึ้นถึง 5 เท่า ได้ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจประการแรกคือ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรมีธุรกิจขนาดใหญ่เพียง 5% ที่ครอบครัวเป็นเจ้าของ
แม้จะมีการพูดถึง Waltons ที่เป็นเจ้าของ Walmart Pritzkers เจ้าของ Hyatt หรือ Travis Knight เจ้าของ Nike แต่ธุรกิจครอบครัวก็ยังมีสัดส่วนน้อยอยู่ และยังพบว่าผู้ก่อตั้งไม่ได้ส่งต่ออำนาจการบริหารให้กับคนในครอบครัว เห็นได้ชัดเจนที่สุดในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Microsoft Apple หรือ Google เป็นต้น ขณะที่ในอินเดียและอินโดนีเซียมีสัดส่วนกิจการที่ยังคงดำเนินธุรกิจแบบครอบครัวมากกว่า โดยบริษัทใหญ่ที่สุดในแต่ละประเทศเป็นธุรกิจครอบครัวมากกว่า 40% ขณะที่เยอรมนีก็มีแนวโน้มคล้ายคลึงกับทั้ง 2 ประเทศในเอเชียนี้ (ดังภาพที่ 1)
เมื่อศึกษาต่อไปว่าธุรกิจครอบครัวบริหารงานอย่างไร ก็พบความแตกต่างที่ชัดเจนคือ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ธุรกิจครอบครัวมักไม่ได้รับการบริหารโดยเจ้าของ แต่ครอบครัวจะทำหน้าที่เป็นนักลงทุนที่มีบทบาทในธุรกิจ (Activist Investor)
เช่น มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท หรือบางครั้งก็เป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่มีบทบาทในธุรกิจ (Passive Shareholders) ซึ่งต่างจากในอินเดียและอินโดนีเซียที่มักมีรูปแบบเจ้าของเป็นผู้บริหารงาน โดยซีอีโอมาจากสมาชิกในครอบครัว และสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆมักดำรงตำแหน่งผู้บริหาร คำถามคืออะไรทำให้เกิดความแตกต่างที่สำคัญเช่นนี้
ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นนี้ จึงทำการสำรวจบรรทัดฐานทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ (Economic Institutions) และตลาดทุนเพิ่มเติม พบข้อมูลชัดเจนว่าสถาบันครอบครัวในอินเดียและอินโดนีเซียนั้นมีความแข็งแกร่งกว่าในสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักรมาก การแต่งงานมักถูกจัดการโดยครอบครัว อัตราการหย่าร้างก็ต่ำกว่า และประเพณีตามปรัชญาฮินดูในอินเดียนั้นได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องราวในรามเกียรติ์และมหาภารตะ
ซึ่งเกี่ยวกับค่านิยมครอบครัวและบรรทัดฐานทางสังคม จึงไม่น่าแปลกใจที่ในอินเดียจะเห็นเด็กทำงาน หรือคนที่แต่งงานแล้วยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และในภายหลังเมื่อพ่อแม่สูงอายุก็อาจจะอาศัยอยู่ร่วมกับลูกหลานของตน สอดคล้องกับในอินโดนีเซียโดยเฉพาะครอบครัวที่มีเชื้อสายจีน จะมีความใกล้ชิดกันมากและสถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง
ในขณะที่รากฐานทางปรัชญาในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานั้นถูกสร้างขึ้นบนแนวคิดเรื่องปัจเจกนิยม (Individualism) การแต่งงานจำนวนมากจบลงด้วยการหย่าร้าง โดยทั่วไปทายาทเจ้าของธุรกิจมักจะแสวงหาเส้นทางอาชีพที่ตนสนใจนอกเหนือจากกิจการของครอบครัว แม้ว่าจะส่งผลให้ครอบครัวต้องขายธุรกิจของตนก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของตลาดทุนทำให้เป็นการง่ายที่ครอบครัวจะสามารถหาผู้ซื้อกิจการ ซึ่งมักเป็นกองทุนที่มีบทบาทในธุรกิจ (Activist Fund) และเมื่อถึงเวลาก็จะถอนเงินออกจากการลงทุนหรือสินทรัพย์นั้นๆ
ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงสามารถนำมาอธิบายความแตกต่างของรูปแบบการเป็นเจ้าของได้ ขณะที่ในเยอรมนีพบว่ามีธุรกิจครอบครัวจะมีความภาคภูมิใจในครอบครัวและธุรกิจของครอบครัวที่มีธุรกิจบทบาทต่อการเติบโตของประเทศ แต่ก็ยังมีวัฒนธรรมปัจเจกนิยม (Individualism) ที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้หาผู้สืบทอดได้ยากขึ้น การมีกองทุนที่มีบทบาทในธุรกิจและบริษัทที่บริหารหุ้นนอกตลาด (Private Equity Firm) เพิ่มมากขึ้นในเยอรมนี ทำให้บริษัทที่ไม่มีผู้สืบทอดเหล่านี้ถูกซื้อกิจการได้ง่ายขึ้น
ที่มา: Janmejaya Sinha. 2019. The global variations in family business structures. Available: https://www.hindustantimes.com/analysis/the-global-variations-in-family-business-structures/story-NrikbnqLCGQUVlw0VEwTcO.html
ข้อมูลเพิ่มเติม: http//www.familybusinessthailand.org
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,950 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566