สมาชิกในครอบครัวเดียวกัน จะมีบุคลิกภาพเหมือนกันหรือไม่

17 ก.พ. 2567 | 08:20 น.

สมาชิกในครอบครัวเดียวกัน จะมีบุคลิกภาพเหมือนกันหรือไม่ : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

โดยทั่วไปแล้วคนเราจะมีบุคลิกภาพบางด้านที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ขณะที่บุคลิกภาพบางด้านก็สามารถหล่อหลอมขึ้นจากสภาพแวดล้อมในครอบครัวได้เช่นกัน ทั้งนี้ผลการศึกษาล่าสุดจากการวิจัยระยะยาวที่ติดตามผู้คนตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยกลางคน พบว่าแต่ละครอบครัวมีโปรไฟล์บุคลิกภาพที่ใช้ร่วมกัน

และที่สำคัญกว่านั้นคือรูปแบบบุคลิกภาพเหล่านี้ยังสามารถส่งผลต่อสุขภาพและความสุขของแต่ละคนได้จนถึงวัยผู้ใหญ่เลยทีเดียว โดยการศึกษาระยะยาวของ The Fullerton Longitudinal Study ใช้เทคนิคทางสถิติขั้นสูง (Latent Profile Analysis) ในการวิเคราะห์บุคลิกภาพของครอบครัวที่ใช้ร่วมกัน

กลุ่มตัวอย่างคือเด็กวัยรุ่นและพ่อแม่ในครอบครัวที่เข้าร่วมในการศึกษานี้ ทำการประเมินโดยใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ (Big Five Personality) เพื่อวิเคราะห์ว่าโปรไฟล์บุคลิกภาพของพ่อแม่และลูกมีองค์ประกอบที่เหมือนกันหรือไม่ โดยสามารถแบ่งกลุ่มตามโปรไฟล์บุคลิกภาพได้ 3 แบบดังนี้

Ordinary Family มีองค์ประกอบการเปิดตัว (Extraversion) และการเปิดรับประสบการณ์ (Openness to Experience) ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ความเป็นมิตร (Agreeableness) และการมีจิตสำนึก (Conscientiousness) ระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และความไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Neuroticism) ระดับเท่ากับค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นโปรไฟล์บุคลิกภาพของครอบครัวที่พบมากที่สุด โดยมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของครอบครัวทั้งหมด

Resilient Family มีองค์ประกอบการเปิดตัว (Extraversion) ความเป็นมิตร (Agreeableness) การมีจิตสำนึก (Conscientiousness) การเปิดรับประสบการณ์ (Openness to Experience) ระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย และความไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Neuroticism) ระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

สมาชิกในครอบครัวเดียวกัน จะมีบุคลิกภาพเหมือนกันหรือไม่

Unhealthful Family มีองค์ประกอบลักษณะการเปิดตัว (Extraversion) ความเป็นมิตร (Agreeableness) และการมีจิตสำนึก (Conscientiousness) ระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ระดับการเปิดรับประสบการณ์ (Openness to Experience) เท่ากับค่าเฉลี่ย และความไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Neuroticism) ระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นโปรไฟล์บุคลิกภาพของครอบครัวที่พบน้อยที่สุด

ผลลัพธ์ที่ได้ ทำการศึกษาระยะยาวจนถึงเมื่อลูกๆ อายุ 38 ปี จึงให้ทำการประเมินตนเองด้วยแบบวัดความสุข (Happiness) และสุขภาพโลก (Global Health) (ประเมินตนเองทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต) พบว่า ลูกจาก Resilient Family รายงานว่ามีความสุขในระดับสูงสุดเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ตามมาด้วยลูกจาก Ordinary Family

ขณะที่ลูกจาก Unhealthful Family รายงานความสุขในระดับต่ำที่สุด ทำนองเดียวกันกับสุขภาพโลก (Global Health) พบว่าลูกจาก Resilient Family และ Ordinary Family มีระดับสุขภาพที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับลูกจาก Unhealthful Family โดยลูกจาก Resilient Family และ Ordinary Family ไม่มีความแตกต่างทางสถิติในเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตจากการประเมินตนเอง

ผลกระทบที่ตามมา นับเป็นการศึกษาชิ้นแรกที่บ่งชี้ถึงบุคลิกภาพของครอบครัวที่ใช้ร่วมกัน โดยรวมเอาบุคลิกภาพของแม่ พ่อ และลูกจากการประเมินด้วยแบบทดสอบ จากนั้นวัดผลกระทบที่มีต่อลูกในอีกหลายสิบปีต่อมา โดยชี้ให้เห็นว่าองค์ประกอบต่างๆของบุคลิกภาพถูกใช้ร่วมกันในหมู่สมาชิกครอบครัว และที่สำคัญกว่านั้นคือโปรไฟล์บุคลิกภาพที่ใช้ร่วมกันเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อตัวเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่เลยทีเดียว

ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญที่ดูเหมือนว่าจะมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์เชิงบวกและเชิงลบของความสุขและสุขภาพในวัยผู้ใหญ่ นั่นคือความไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Neuroticism) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่มีระดับความไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Neuroticism) สูงมักมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบกับผลลัพธ์ทางจิตที่ไม่พึงประสงค์ (Adverse Psychological Outcomes)

เช่นกัน ดังนั้นครอบครัวควรตะหนักถึงความสำคัญในการหล่อหลอมบุคลิกภาพที่เหมาะสมให้กับสมาชิกในครอบครัว เพราะย่อมจะส่งผลในระยะยาวต่อชีวิตในระดับตัวบุคคลไปจนถึงธุรกิจครอบครัวในอนาคตอีกด้วย

 

ที่มา: Ronald E. Riggio.  2021.   Do People in the Same Family Share a Personality Type?.  Available: https://www.psychologytoday.com/intl/blog/cutting-edge-leadership/202112/do-people-in-the-same-family-share-personality-type

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,966 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567