ครบรอบ 4 ปีของโควิด-19 บาดแผลที่ Real GDP ไทยยังไม่กลับไปจุดเดิม

24 พ.ย. 2566 | 03:50 น.

ครบรอบ 4 ปีของโควิด-19 บาดแผลที่ Real GDP ไทยยังไม่กลับไปจุดเดิม คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ “มูลนิธิ สวค.”

ศักยภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นเช่นไร บทความนี้จะให้คำตอบท่าน ในช่วงก่อนโควิดระบาดเศรษฐกิจไทยที่แท้จริงนั้นเติบโตตามแนวเส้นประสีแดงซึ่งมีความชันหรืออัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ต่อปี นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยึดเลขนี้เป็น “ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย”

ทั้งนี้การวัดการเดินทางของเศรษฐกิจไทยที่แท้จริงบนเส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวก่อนการระบาดของโควิด-19 (balance growth path: pre-covid19) ในช่วงปี 10 ปี ช่วง 2553-2562 จะได้ค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับศักยภาพ (potential GDP growth) ที่ระดับร้อยละ 3.2 ต่อปี โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจโตด้วยภาคบริการนำมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ของ GDP มีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก

โดยในปี 2562 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนเกือบ 40 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวประเทศจีน 10 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้นได้ชื่อว่า “จ่ายหนักและอยู่พำนักนาน” ทำให้ปีนั้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) จบปีที่ 10,919,319 ล้านบาท ก่อนจะเกิดการระบาดของโรคโควิด19 จะเริ่มต้นในช่วงต้นปี 2563

แม้ว่าจะผ่านมาแล้วเกือบจะ 4 ปีประเทศไทยก็ยังไม่กลับสู่ที่เดิม โดยปี 2563 2564 และ 2565 เศรษฐกิจของประเทศไทย -6.07 +1.49 และ +2.60 ตามลำดับ โดยในปี 2565 Real GDP อยู่ที่ 10,680,306 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าปี 2562 จนถึงปัจจุบันปลายปี 2566 นักวิเคราะห์และนักพยากรณ์เศรษฐกิจส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะกลับไปสูงกว่าปี 2563 ได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเหลือเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือนจะจบปี 2566 แล้วนั้น สิ่งที่ไม่คาดคิดหลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศ Real GDP ไตรมาส 3 ออกมาขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น รวมทั้งได้พยากรณ์ทั้งปี 2566 ไว้ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 นั่นหมายความว่าในไตรมาส 4 Real GDP growth ต้องขยายตัวร้อยละ 4.0 จึงจะบรรลุจุดนั้น อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2566 ขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 จริงตามสภาพัฒน์คาดการณ์ก็จะทำให้ Real GDP ของประเทศไทยจบปีอยู่ที่ 10,947,314 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2563 เล็กน้อยเพียง 28,000 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2 หรือน้อยกว่า นั่นจะทำให้จบปีเศรษฐกิจไทยจะมีค่า Real GDP อยู่ที่ 10,915,273 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าปี 2563 นั่นเอง

“สิ่งที่ต้องจับตาคือ Real GDP growth ในไตมาส 4 ปี 2566 จะออกมาเท่าไหร่” ถ้าหากขยายตัวมากกว่าร้อยละ 3 จะทำให้ Real GDP growth ทั้งปี 2566 ขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 2.2 ต่อปี แต่หากขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 จะทำให้ Real GDP growth ทั้งปี 2566 ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2.2 ต่อปี หรือจะกล่าวได้ว่า “โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักกว่า 4 ปี” นั่นเอง ซึ่งสะท้อนศักยภาพของประเทศและกระบวนการแก้ปัญหาของรัฐไทยที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกวิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ขยับตัวสูงขึ้นถึงระดับร้อยละ 62.1 ทำให้เป็นข้อจำกัดต่อ policy space สำหรับรัฐบาลใหม่
 


จากรูปอธิบาย balance growth path: pre-covid19 ที่เศรษฐกิจไทยควรจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ต่อปีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ช่วงปี 2563-2566 เป็นช่วงเวลาแห่งความพยายามที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปยืนเหนือระดับก่อนโควิด-19 (ปี 2562) ให้ได้อีกครั้ง ซึ่งจนถึงปัจจุบันผ่านมาเกือบ 4 ปียังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าผ่านไปได้

ทั้งนี้หากคาดการณ์ไปในปี 2567 เป็นต้นไป เพื่อที่จะให้เส้นทางของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกลับเข้าไปสู่แนวโน้มเดิม ทวงคืนมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หายไปในช่วงเวลาแห่งโควิด-19 ระบาด หากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ในปี 2573 หรือภายใน 7 ปีประเทศไทยจะกลับไปสู่แนวโน้มเดิม แต่หากเติบโตต่ำกว่านั้นค่าเสียเวลาและโอกาสของประเทศไทยอาจจะยาวนานกว่า 10 ปี รวมทั้งหากเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี อาจจะทำให้ประเทศไทยล่มสลายทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้หากไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะสังคมผู้สูงอายุที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างมีนัยสำคัญต่อโครงสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ในเกิดเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มสูง เป็นไปได้ว่าศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยบัดนี้ได้ลดลงมาต่ำว่าร้อยละ 3.2 เมื่อเที่ยบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเลขที่แท้จริงอาจจะอยู่แค่เพียงร้อยละ 2.0-2.5 ต่อปีเท่านั้น ตามผลิตภาพการผลิต (TFP) กลไกรัฐและกฎหมายที่เป็นอุปสรรค สังคมผู้สูงอายุ ทักษะของแรงงาน การใช้เทคโนโลยี รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลงซึ่งทั้งหมดล้วนนำไปสู่เสถียรภาพทางด้านการเงินและการคลังในระยะต่อไปหากไม่รีบดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง