นับ 1 ว่าที่รัฐบาลใหม่ การเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน

06 ก.ค. 2566 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2566 | 07:00 น.

บทบรรณาธิการ นับ 1 ว่าที่รัฐบาลใหม่ การเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมรัฐสภา วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 พร้อมพระราชทานพระราชดำรัสทรงให้ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด

ตามด้วยการเปิดประชุมผู้แทนราษฎรนัดแรก (4 ก.ค.) เพื่อเลือกประธานสภาฯ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ เลือก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ และจะเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ถือเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากคนกลางที่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ช่วยลดกระแสความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคใหญ่ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ที่ช่วงชิงตำแหน่งนี้กันอย่างดุเดือดก่อนหน้านี้

 

ถือเป็นการนับ 1 ในการเตรียมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ แล้ว จะมีการประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อโหวตให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 (คาดเป็นวันที่ 13 ก.ค.) ซึ่งจะเป็นวันชี้ชะตาว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะสามารถฝ่าด่านสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่รวมกับเสียงจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคการเมืองอื่นๆ แล้วจะได้รับความไว้วางไว้มากกว่า 376 เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภารวมกัน (750 เสียง) หรือไม่ ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ข้างหน้าจะพลิกผันไปอย่างไร

ท่ามกลางกระแสกดดันจากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็น นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ยอมรับการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ตีกันการพลิกขั้วพลิกข้างในการจัดตั้งรัฐบาล สุ่มเสี่ยงการชุมนุมกดดันตามมา

ขณะที่อีกด้านหนึ่งภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงนักลงทุนต่างชาติต่างจับตามองการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยส่วนใหญ่ต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลได้ตามไทม์ไลน์ เพื่อได้รัฐบาลมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ โดยเร่งด่วน เพราะหากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้า หรือ ยืดเยื้อ จะยิ่งสร้างความเสียหาย นำมาซึ่งการสูญเสียโอกาสตามมาอีกมากมายของประเทศชาติ

ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ การขยายการค้าการส่งออก การดึงการลงทุน ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เวลานี้ทะลุถึง 90% ต่อจีดีพี แก้ปัญหาปากท้อง ลดค่าครองชีพ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายภาครัฐปี 2567 ที่จะล่าช้าออกไป การลดค่านํ้า ค่าไฟฟ้า ดูแลต้นทุนผู้ประกอบการ ดูแลราคาสินค้าและบริการ แก้ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ลดความเหลื่อมลํ้าในสังคม ฯลฯ

สิ่งที่หลายฝ่ายคาดหวังคือ การจัดตั้งรัฐบาลได้ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ไม่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย รุนแรง รัฐบาลชุดใหม่มีเสถียรภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหากนักการเมืองไทยยึดตามพระราชดำรัส ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด บ้านเมืองจะขับเคลื่อนต่อไปได้ และสปอตไลท์ของโลกจะฉายมายังประเทศไทยอีกครั้งอย่างแน่นอน