แจกเงิน ดิจิทัล 10,000 บาท ได้คุ้มเสียหรือไม่

09 ก.ย. 2566 | 00:00 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2566 | 08:13 น.

แจกเงิน ดิจิทัล 10,000 บาท ได้คุ้มเสียหรือไม่ บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3921

นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาลเพื่อไทย กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง หลังรัฐบาลบรรจุให้เป็น 1 ใน 5 นโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการหลังการเข้าบริหารประเทศ เพื่อหวังให้การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง

เบื้องต้นที่มีกระแสข่าวคือ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ประชาชนคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน จะได้รับเงินผ่านกระเป๋าดิจิทัล คนละ 10,000 บาทกันถ้วนหน้า รวมวงเงิน 560,000 ล้านบาท

แม้ว่าจะยังไม่ได้สรุปชัดเจนว่า จะเป็นการแจกเงินผ่านแอป เป๋าตัง ที่ดำเนินการมาแล้วและมีฐานข้อมูลพร้อม ไม่ต้องพัฒนาขึ้นมาใหม่ หรือจะเป็นการพัฒนาแอพลิเคชั่นขึ้นมาใหม่ผ่านบล็อกเชน แต่ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักเช่นกันว่า การอัดเงินมหาศาล 560,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 3% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) จะสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างน้อย 3% ได้จริงหรือไม่

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกมาวิเคราะห์ว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท อาจหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยไม่เกิน 1 รอบ กระตุ้นจีดีพีไม่ถึง 3% เนื่องจากการให้ถ้วนหน้า ดังนั้นจึงอาจมีเงินจำนวนไม่น้อยที่อาจตกอยู่ในมือของผู้ที่ยังไม่ต้องการใช้เงินในทันที

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายการแจกเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนช่วงภาวะวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมา แถมช่วงนี้้เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆ อย่างภาคการท่องเที่ยว ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนภาคการส่งออกแม้จะติดลบ แต่ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ แต่ก็สร้างเม็ดเงินเข้ามาในประเทศมากพอสมควร

อีกประเด็นที่พูดกันเยอะคือ ด้วยจำนวนเงินมหาศาลถึง 560,000 ล้านบาท รัฐบาลจะไปควานหาเงินได้จากไหนบ้าง เพราะด้วยเม็ดเงินงบประมาณที่มีจำกัดและยังถูกล็อคด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้กรอบวินัยการเงิน การคลัง

กระแสข่าวออกมาว่า รัฐบาลต้องมารื้อกรอบงบประมาณ 2567 ใหม่ หลังจากพิจารณาแล้วเห็นว่า วงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณเดิม 593,000 นั้นไม่พอแน่ๆ ดังนั้น ที่จะทำได้ จะต้องหันไปบีบกรมจัดเก็บรายได้ให้เพิ่มเป้ารายได้ขึ้นอีก เพื่อให้รัฐบาลสามารถเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายได้อีก ขณะเดียวกันก็ต้องมีการขยายเพดาน มาตรา 28 เพื่อให้สถาบันการเงินรัฐ สามารถกู้เงินให้รัฐเข้ามาเสริมกับการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกทางหนึ่ง

หลังจากที่มาตร 28 เต็มเพดาน 30% ไปตั้งแต่การจ่ายชดเชยประกันรายได้เกษตรกร จนต้องขยายเพดานชั่วคราวไปที่ 35% และปัจจุบันก็ยังค้างไว้ที่ 32% ยังไม่สามารถกดลงมาเข้ากรอบที่ 30% ได้