“จีนบุกไทย”ทำไมง่ายกว่า“ไทยบุกจีน”

25 เม.ย. 2567 | 04:46 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2567 | 04:59 น.

“จีนบุกไทย”ทำไมง่ายกว่า“ไทยบุกจีน” : คอลัมน์บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3986

ในสภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ซบเซา การแข่งขันในโลกธุรกิจกลับไม่ได้ลดลง ดีกรีความร้อนแรงยิ่งทวีคูณ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการรักษายอดขายไม่ให้ลดลง หรือ เพลียงพลํ้าคู่แข่ง ซึ่งวันนี้ไม่ได้มีแค่คู่แข่งทางตรง แต่มีทั้งคู่แข่งทางอ้อม ทางเบี่ยง ทางลัดที่พาเหรดเข้ามา

หนึ่งในนั้นคือ “สินค้าจีน” ที่วันนี้ยังคงทะลักเข้ามาแบบไม่หยุดหย่อน ด้วยต้นทุนการผลิต การได้สิทธิพิเศษทางภาษี และ Free Zone Warehouse ทำให้ได้เปรียบสินค้าไทยหลายช่วงตัว

ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปี 2566 พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าจีนสูงถึง 4.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 41% ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดของไทย ในขณะที่ค้าปลีกไทยมีมูลค่าโดยรวม 4 ล้านล้านบาท 
นั่นหมายถึงวันนี้สินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นร้านโชห่วย ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ หรือตามตึกแถว ตลาดสด ตลาดนัดเกือบครึ่งหนึ่งเป็นสินค้าจากจีน

5 กลุ่มสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้ามาตีตลาดในไทยมากที่สุด คือ อันดับ 1 คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า 43.3% รองลงมาได้แก่ ผักผลไม้สดและปรุงแต่ง 10% เสื้อผ้าและรองเท้า 9.3% เครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่ง 9.1% และ ของใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร 9%

เรียกว่า “สินค้าจีน” เข้ามาตีตลาดไทยทุกหัวระแหง และกลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ผู้ประกอบการไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าในหมวดแฟชั่น เครื่องแต่งกาย และ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งวันนี้มีอัตราการผลิตในโรงงานไม่ถึง 50% ของกำลังการผลิต ซํ้าเติมในด้านต้นทุนที่ไม่สามารถแข่งขันได้ และในระยะยาว ธุรกิจเหล่านี้ส่อแวว “ไม่ได้ไปต่อ”

แม้ตลอดระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมา ภาครัฐต่างผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยลุกขึ้นมาพัฒนาสินค้า เพิ่มคุณภาพ สร้างแบรนด์ วางกลยุทธ์การตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมกับการขยายตลาดใหม่ เพื่อชิงความได้เปรียบในธุรกิจ แต่ก็เป็นเพียงภาพฝันที่ไม่มีการสานต่อ

วันนี้ “ไทย” จึงเป็นหนึ่งในตลาดการค้าสำคัญของจีน ที่ต่างจดจ้อง 

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มนักธุรกิจไทย ส่วนหนึ่งที่ประกาศบุกตลาดจีน ด้วยเพราะเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน สูงกว่าไทยถึง 20 เท่าตัว เป็นโอกาสทองของสินค้าไทย ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร เครื่องสำอาง และแฟชั่น

แต่การจะบุก “จีน” ต้องมีวิทยายุทธ์ที่ลํ้าเลิศ ไม่ใช่แค่ของดี มีสกุล เฉกเช่น บิ๊กเนมไทยหลายแบรนด์ ที่ยกทัพไปบุกแดนมังกร หวังกอบโกยกำไร แต่ไม่ทันไรก็โบกมือลาถอนตัวกลับ (เหลือแต่ตัว) แบบขาดทุนย่อยยับ 

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผู้ประสบความสำเร็จ หากใช้กลยุทธ์ที่ตรงกับกฎหมาย วัฒนธรรม และ พฤติกรรมของผู้บริโภคจีน เช่น ควรใช้โซเชียลมีเดีย และ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่นิยมในจีน เช่น WeChat และ Douyin หรือ จะร่วมมือกับ KOLs และ Influencers และ อาจต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมจีน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและการรับรู้แบรนด์
 

“ไทย”จะไปบุก “จีน” ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ