“ก.ล.ต.-ตลท.”ต้องรื้อตลาดหุ้นก่อนรายย่อยสูญพันธุ์

10 ม.ค. 2568 | 08:14 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2568 | 08:19 น.

“ก.ล.ต.-ตลท.”ต้องรื้อตลาดหุ้นก่อนรายย่อยสูญพันธุ์ : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,061

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทเอกชน เป็นแหล่งลงทุนของประชาชน แต่ดูเหมือนเจตนารมณ์เหล่านั้นกำลังผิดเพี้ยนไป 

นักลงทุนรายย่อยที่่เคยเป็นกำลังสำคัญในตลาดหุ้น และใช้ตลาดหุ้นเป็นแหล่งออมเงินระยะยาว กำลังอ่อนล้า หมดแรงซื้อและกลายเป็นเหยื่อในตลาดหุ้นไป

เริ่มต้นปี 2568 ก็เห็นชัดเจนจากการเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนพร้อมกัน 3 แห่ง ออกจากตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนได้ ประกอบด้วย บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK บริษัท โปรเฟชชั่นแนล เวสท์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) หรือ PRO และ บริษัท ซันไทยอุตสาหกรรมถุงมือยาง จำกัด (มหาชน) หรือ STHAI

ทั้ง 3 บริษัทได้เปิดให้ซื้อขายครั้งสุดท้ายระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึง 8 มกราคม 2568 ซึ่งการถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน หมายถึงอนาคตอันมืดมนของผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้ง 3 แห่ง ที่มีจำนวนรวมกันถึง 9,947 ราย ที่ต้องทำใจว่า เงินที่ลงทุนไว้ไม่ว่าจะที่ราคาไหน จะกลายสภาพเป็นศูนย์ทันที

ยิ่งแค่เริ่มต้นปี 2568 ฝันร้ายก็มาเยือนกับนักลงทุนรายย่อยอีกครั้ง เมื่อเกิดกระแสข่าวการนำหุ้นไปจำนำของ “เฮียฮ้อ” นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ จนถูกบังคับขาย หรือ Forced sell ทั้งในตลาดผ่านโบรกเกอร์ และยังมีธุรกรรมนอกตลาด มูลค่า 1,000 ล้านบาท  ซึ่งกระแสข่าวระบุว่า มีการนำหุ้นเร่ขายทั้งแบบจำนำหุ้น  Big lot และ ทำ Block Trade 

กระแสข่าวลือดังกล่าว ทำให้ราคาหุ้นบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS กอดคอบริษัทลูกอย่างบริษัท อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด จำกัด (มหาชน) หรือ RSXYZ ร่วงติดฟลอร์ 
 หากย้อนไป RS ไม่ใช่เคสแรกในตลาดหุ้นไทย เพราะก่อนหน้านี้ มีบริษัท วอริกซ์ สปอร์ตจำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX ก็พบว่า มีการนำหุ้น 15 ล้านหุ้นไปจำนำเป็นหลักประกันเงินกู้ หรือ  บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) หรือ YGG ก็พบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ “ธนัช จุวิวัฒน์” ถูกบังคับขายหุ้น จากการนำหุ้นไปวางคํ้าประกันเช่นกัน ซึ่งเมื่อเกิดบังคับขาย หุ้นดิ่งฟลอร์ คนที่รับกรรมย่อมเป็นรายย่อย 

ไม่มีใครคิดว่า บริษัทจดทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) อนุมัติให้เสนอขายหุ้น ระดมเงินจากประชาชนและตลาดหลักทรัพย์พิจารณาอนุมัตินำหุ้นเข้ามาซื้อขาย สุดท้ายกลับมาทำร้ายนักลงทุนรายย่อยเสียเอง

เรื่องนี้ทั้งก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์จะต้องถือเป็นวาระเร่งด่วนจัดการ ก่อนที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนักให้นักลงทุนรายย่อย จนต้องออกจากตลาดหุ้นไป

หน้า6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,061 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2568