ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจไทย

04 ม.ค. 2568 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2568 | 01:19 น.

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจไทย : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4059

ในปี 2568 คงจะเป็นอีกปีที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อาจจะอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก หรือ ต้องใช้แรงขับเคลื่อนค่อนข้างสูง

ผลสำรวจของSCB EIC Consumer survey 2024 ระบุว่า ผู้บริโภคกว่า 60%ชี้ให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะแย่ลงกว่าปี 2567 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้ตํ่า ที่มีแนวโน้มปรับลดการใช้จ่ายลง เพราะไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต
 

เมื่อมาพิจารณาดู ในปี 2568 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย มีค่อนข้างมาก ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ ที่จะกระทบต่อภาคส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งจากนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ที่จะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตทั่วโลก 10-20% 

ขณะที่จีนจะเก็บเพิ่มขึ้นไม่ตํ่ากว่า 60% เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น และลดการพึ่งพาต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการทำสงครามการค้ากับจีน จะส่งผลต่อขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าจากไทย เนื่องจากสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม
 

ขณะเดียวกัน จะทำให้สินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐฯ ลดลง และไทยจะเป็นเป้าหมายประเทศส่งออกสำคัญ ที่สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้น

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ในหลายภูมิภาคของโลก ทั้งรัสเซียกับยูเครน ที่ยังยืดเยื้อและอาจจะขยายวงกว้างไปสู่สหภาพยุโรป ขณะที่ความขัดแย้งในประเทศตะวันออกกลาง ที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะเศรฐกิจโลกชะลอตัวลง และราคาด้านพลังงานปรับตัวสูงขึ้น

รวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจของจีนลงอีก จากภาระหนี้สินครัวเรือน และภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และการได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางกาค้าของ นายโดนัลด์ ทรัมป์

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทย มีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่อง จากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาตีตลาดในประเทศมากขึ้น สะท้อนให้เห็นการผลิตไทยเผชิญกับแรงกดดันจากสินค้าจีน

ขณะที่นักลงทุนจากต่างชาติ อาจชะลอแผนการลงทุนในไทย จากนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจขยายนโยบายกีดกันการค้าไปกลุ่มประเทศอื่น ๆ

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง ส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศชะลอตัว จากการระมัดระวังรายจ่าย โดยเฉพาะการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกนาคม 2568 เป็นต้นมา จะเป็นแรงส่งให้สินค้าทยอยปรับขึ้นราคา จะเป็นอีกแรงกดดันหนึ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยน้อยลง

ส่วนการจะพึ่งภาคการท่องเที่ยว มีการประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในปี 2568 คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยเพียง 6.9% ต่อปี ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด รวมถึงปัจจัยทางการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

SCB EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเผชิญความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน โดยการส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวจาก 3.9% ในปี 2567 เหลือ 2% ในปี 2568

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะชะลอจาก 5% เหลือ 2.1% เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลดลง

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,059 วันที่ 5 - 8 มกราคม พ.ศ. 2568