สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) เสนอแนวคิดแก้ปัญหาความรุนแรง ที่เกิดจากเยาวชนและวัยรุ่นไทย โดยเสนอหลัก 5 ข้อและหลักย่อยๆ ให้ยึดโยงกัน พร้อมทั้งให้ข้อคิดเรื่องอย่างนี้ว่า ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอ
เรื่องนี้เจ้าพระคุณ เสนอไว้ เมื่อ 19 ก.ค. พ.ศ.2549 ในการแสดงธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ณ วัดญาณเวศกวัน ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์
แม้กาลเวลาที่แสดงธรรม นั้น ล่วงเลยมานาน ถึง 18 ปีแล้ว สถานการณ์ความรุนแรง ในสังคมไทยยังมีอยู่ ดังที่เราเห็นข่าวกลุ่มเยาวชน ทำฆาตกรรมหญิงชราที่จังหวัดสระแก้ว
ข่าวนี้สังคมไทยรู้สึกหดหู่ ว่าเด็กทำไปได้อย่างไร
ผมว่า หลายคนที่ติดตามข่าว ทางสื่อต่างๆ คงอยากฟังว่า จะมีวิธีอย่างไร ให้สังคมสุขสงบ สันติได้บ้าง
ก็ให้บังเอิญผมพบหนังสือ ชื่อ ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอโดยพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตโต อาจเป็นคำตอบได้
หนังสือเล่มบางๆ หนา 27 หน้า ที่บริษัทสหธรรมิก ขออนุญาต วัดญาณเวศกวัน พิมพ์เพื่อมุทิตา พระเถระ ที่ไดัรับเลื่อนหรือแต่งตั้งสมณศักดิ์ 5 ธันวาคม พ.ศ.2551 หนังสือนี้แสดงหลักการ และวิธีการลดความรุนแรงในสังคม ที่เกิดจากเยาวชน
เบื้องต้นท่านกล่าวถึงความสำคัญ ขอวันอาสาฬหบูชาและสารสำคัญของธัมมจักกัปวัตนสูตร และมัชฌิมาปฏิปทา เรื่องหลังนี้ท่านให้แยกแยะ ทางสายกลางและความเป็นกลางให้ถูก เพราะมีความหมายต่างกัน พร้อมกับเน้นว่าเป็นกลางแท้อยู่ที่ความถูกต้อง
การจะอยู่ในทางสายกลางได้ต้องรู้ธรรม อยู่กับความจริง ความถูกต้อง และความดีงามได้ เราจะต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญา ที่รู้และเข้าใจ
เมื่อรู้ว่าธรรมคืออะไร ความจริง ความถูกต้อง ความดีงามประโยชน์สุขที่แท้ อันพึงมุ่งหมายเป็นอย่างไรแล้ว ก็ตั้งหลักได้
คือมีหลักที่จะตั้งตัว หรือรู้ว่าจะตั้งตัวอยู่ที่ไหน และจะตั้งต้นไปอย่างไร
พระเดชพระคุณ นำเข้าสู่ปภระเด็นว่า การจะตั้งหลัก หรือจะตั้งตัวทึ่ไหน ต้องมีกำลังและความเข้มแข็ง
ถ้าอ่อนแอ ยึดหลักไม่อยู่ พอกระแสไหลมา ก็พัดพาไป ยิ่งในปัจจุบันกระแสแรงเหลือเกิน ทั้งๆ ที่รู้ว่าหลักคืออะไร แต่หลายคนยึดหลักไว้ไม่ได้ เพราะโดนกระแสโลภ กระแสลาภ และกระแสอะไรต่อมิอะไร พัดพาไป
เมื่อยึดหลักไม่ได้ก็เกิดอาการเบี่ยงเบนต่างๆ จึงเกิดปัญหาเบียดเบียน แย่งชิงกัน การทุจริต อาชญากรรมทางกาม
ความไม่ปกติทางเพศ เรื่องความรุนแรงต่างๆ แม้กระทั่งการรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย ก็ยังมีเรื่องความรุนแรงแฝงซ่อน ที่ดังระเบิดออกมาข้างนอก
เจ้าพระคุณว่า ความรุนแรงเหล่านี้ เกิดจากความอ่อนแอ
ท่านย้ำว่าความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอเชื่อไหม? แล้วบอกญาติโยมให้คิดดู
ท่านตั้งคำถามว่า อ่อนแอ อย่างไร แล้วเฉลยว่า ที่อ่อนแอเพราะยึดหลักไม่ได้ กระแสอะไรมาก็ไหลไปด้วย อย่างน้อยก็กระแสความชอบ และไม่ชอบของตัวเอง แค่ชอบใจไม่ชอบใจ ก็ไปแล้ว
พระคุณท่านว่า การยึดหลักไม่ได้ ทำให้สังคมเจอปัญหาหนัก เพราะคนอ่อนแอกันมาก หรือความอ่อนแอระบาดไปทั่ว
อ่อนแอคืออะไร คือขาดกำลัง ทั้งกำลังนอก และกำลังใน หรือกำลังลดถอยลงจนน่าเป็นห่วง
แนวทางแก้ปัญหา
เมื่อเรารู้ว่า สังคมอ่อนกำลัง ก็ต้องสร้างกำลังขึ้นมาให้ได้
การสร้างกำลังให้ได้ ต้องสวนกระแสะ มิใช่ต้านกระแส เจ้าพระคุณว่า ทวนกระแสไหว ถ้าได้พลัง 5 ประการ
1. กำลังปัญญา ซึ่งเด็กต้องเรียนรู้ว่าที่พ่อแม่เลี้ยงดูก็เพื่อให้ครอบครัวเจริญ งอกงาม ต่อไปก็เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ เมื่อรู้และเข้าใจแบบนี้ กระแสอะไรมาพัดพาออกนอกลู่นอกทางก็ทำไม่ได้
2. กำลังที่ 2 คือสมาธิ นั่นคือบ่มเพาะให้จิตใจมั่นคง ไม่หวั่นไหวอะไรมากระทบกระแทกก็ไม่วอกแวก ไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นในสิ่งที่เราว่าถูกต้อง
3. กำลังที่ 3 คือ สติ สตินี้คือความตื่นตัว ทันต่อเหตุการณ์มีอะไรเกิดขึ้น ไม่เผลอ ไม่พลาด พอเห็นว่าอะไร เป็นอะไร ส่งให้ปัญญา รับลูกต่อและพร้อมจะตรวจตรา ท่านเปรียบสติว่า เหมือนนายประตู คอยตรวจว่าคนไหนร้าย คนไหนดี
4. กำลังที่ 4 ความเพียร คำนี้มาจากวีระ แปลว่าแกล้วกล้า เข้มแข็ง ใจสู้ จะเอาชนะภารกิจ ทำให้สำเร็จให้ได้ ความเพียร จึงเป็นตัวแสดงออกของความไม่อ่อนแอ
5. กำลังที่ 5 คือศรัทธา เรื่องนี้ต้องหาจากข้างนอก ให้ศึกษาดูความสำเร็จของผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเอามาเป็นตัวอย่าง ในการสร้างกำลังภายในของเราให้เจริญก้าวหน้า เหมือนคนที่เราศรัทธา
นอกจากนั้น ท่านบอกให้ยึดเสาหลัก ที่ใกล้ตัว คือ พ่อ แม่ ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญ นึกถึงท่านแล้ว พระคุณของท่านจะแผ่ซ่านขึ้นมาทันที และเมื่อนึกถึงพระคุณของท่าน ก็จะช่วยยับยั้ง หากคิดทำเรื่องให้ท่านเดือดร้อน
ครู เป็นผู้มีพระคุณอีกท่านหนึ่ง อาจช่วยยับยั้ง ไม่ให้ทำความชั่ว เมื่อนึกถึงคุณของคุณครู
อุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นบุคคลที่เป็นเสาหลักของกุลบุตร ที่เป็นศิษย์ เมื่อใดที่นึกถึงท่าน เราก็มีความละอายไม่ก่อกรรม ทำชั่ว
เรื่องสุดท้ายคือวัฒนธรรม ข้อนี้เป็นเครื่องนำใจ นำสังคมที่สำคัญ คนที่ยึดในวัฒนธรรมของตนซึ่งอาจเป็นหลักไม่ให้ ทำความเสียหายได้ เช่นกัน
สุดท้าย พระคุณท่านเสนอแนะให้เร่งพยุงเสาหลักขึ้นมา โดยทุกฝ่าย เช่นสถาบันชาติ สถาบันการศึกษา และสถาบันศาสนาต้องช่วยกัน เพื่อให้สังคมที่อ่อนแอ กลับมาเข้มแข็ง แล้วความร่มเย็นเป็นสุข จะเกิดขึ้น เป็นประโยชน์สุข ทั้งแก่ชีวิต ครอบครัวและประเทศชาติ สืบไป