สังคมไทยในปัจจุบัน ถ้ามองจากสื่อมวลชนมุมหนึ่ง หรือเหรียญด้านหนึ่ง ดูช่างยุ่ง ยิ่งกว่ายุงตีกัน เพราะมีแต่เรื่องที่ชวนให้หดหู่ บางทีแค่มองหน้า ก็ฆ่ากันตาย หรือสังคมอีกระดับหนึ่ง ก็เต็มไปด้วยทุจริต คอร์รัปชัน แม้กระทั่งในวงการศาสนาก็ไม่เว้น
ท่านว่าปัญหาเหล่านี้ เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ละเลยศีลธรรมอันดีและขาดความกตัญญูต่อแผ่นดินหรือคนที่ควรเคารพก็ไม่สนใจที่จะเคารพกลายเป็นสังคมที่ผุกร่อน ต้องหาช่างมาปะผุก่อนสลายแล้วแก้ไม่ได้
ในฐานะที่อยู่ในสายธรรมะ หรือศาสนาก็ต้องการให้ใช้ธรรมเป็นยาวิเศษมาเยียวยา ก่อนสายเกินแกง
หลักธรรมะ ที่ผมว่าน่าจะช่วยเยียวยาสังคม ไม่ให้ผุกร่อนมากกว่านี้ คือความกตัญญูกตเวที ให้คนดีต้องกตัญญู ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
แม้ว่าคนที่มีความกตัญญูกตเวที จะถูกจัดให้อยู่ในประเภทหายากก็ตาม แต่ถ้าใครได้ทำ รับรองว่าดังไม่ใช่ดังแบบพลุ แต่ดังแบบยั่งยืนผ่านไปหลายปีหรือเป็นพันปีก็ยังมีคนพูดถึง
ในวันนี้ผมขอยกเรื่อง ดญ.วัลลี เด็กหญิงยอดกตัญญู ในเมืองไทย และพระสารีบุตรเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวามาเล่า ให้เห็นเป็นตัวอย่าง
"ดญ.วัลลี ยอดกตัญญู"
เมื่อ พ.ศ.2524 หรือ 43 ปีมาแล้ว ประชาชนติดตามข่าวในหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุที่เสนอข่าว เด็กหญิงยอดกตัญญู ชื่อวัลลี ณรงค์เวทย์ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 โรงเรียนวัดโรงธรรมมิตรภาพที่ 70 อย่างต่อเนื่อง ด้วยจิตใจปีติในความกตัญญู ของเด็กประถมคนนี้ ที่ต้องวิ่งไปบ้านและโรงเรียนระยะทาง 8 กิโลเมตร (เมื่อโรงเรียนพักเที่ยง) เพื่อไปป้อนอาหารแม่ที่เป็นอัมพาต และยายที่ตาบอดทั้ง 2 ข้าง
เมื่อคุณครูทราบข่าวเด็กหญิงยอดกตัญญู จึงได้รับการช่วยเหลือส่วนผู้เสพข่าว ก็ปีติ เพราะนานๆ จะมีข่าวสะท้อนสังคมที่ดีให้เห็นกันสักที
แต่ปัจจุบันข่าวแบบนี้ไม่ค่อยมีให้เห็น แม้ว่าจะเป็นสังคมข่าวสารก็ตาม
ในความเป็นจริงแล้ว ไทยเป็นสังคมชาวพุทธ ความกตัญญูกตเวที เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เช่นมีคำสอนทางพุทธศาสนาว่า ภูมิ เว สาธุรูปานํ กตัญญูกตเวทิตา
คุณธรรมคือความกตัญญูกตเวที ย่อม เป็นดุจพื้นที่สำหรับยืนหยัดแห่งสาธุชน
สมเด็จพระสังฆราช(สา) สังฆราชองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์คติพจน์ เพื่อเตือนใจ ว่า นิมิตตํ สาธุรูปานํ กตัญญูกตเวทิตา
แปลว่า ควากตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี
เมื่อกุลบุตรบวชพระหรือบวชเณร จะมีบทเรียนบทหนึ่งในหนังสือนวโกวาท เรียกว่า บุคคลหาได้ยาก 2 คือ 1) บุพพการี ผู้ที่ทำอุปการะก่อน 2) กตัญญูกตเวที ผู้ที่รู้อุปการะที่ท่านทำแลัวตอบแทน
ที่ว่าหาได้ยาก คือคนที่รู้ถึงพระคุณที่ท่านทำให้ก่อนเรียกว่ากตัญญูส่วนผู้สนองตอบคุณที่ท่านเคยทำเคยให้ เรียกว่ากตเวที
แต่ส่วนมากคนรับ ไม่ได้คิดถึงคนให้ ส่วนคนให้ ก็ไม่ได้รับตอบแทน รู้สึกผิดหวัง จึงมีคำพูดว่า ทำบุญคุณใครไม่ขึ้น
ดังนั้นผู้ใดที่มีคุณธรรม 2 ข้อนี้จะ กลายเป็นคนหาได้ยาก ย่อมได้รับการยกย่องในที่ต่างๆ
พระราชธรรมวาที(ชัยวัฒน์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กล่าวถึง ผู้ที่ควรกตัญญูว่ามี 4 ประการ
1) ถิ่นที่เคยอยู่ ได้แก่ ปิตุชาติ มาตุภูมิ แผ่นดินถิ่นที่กำเนิด
2) อู่ที่เคยนอน คือ ที่ที่เคยอยู่อาศัย
3) หมอนที่เคยหนุน ได้แก่ บุคคลที่เคยให้เกียรติ ให้โอกาส ให้ความก้าวหน้า
4) พระคุณที่เคยพึ่ง ได้แก่ บุคคลที่เคยส่งเสริม สนับสนุน อุปถัมภ์ค้ำชู
ผู้กตัญญูพึงรำลึกถึง 4 ข้อนี้เสมอ
"พระสารีบุตร เถระยอดกตัญญู"
พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา มีความเป็นเลิศทางปัญญา ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า
1) เป็นผู้มีปัญญาอนุเคราะห์บรรพชิตด้วยกันได้
2) เป็นธรรมเสนาบดี
3) มีความกตัญญูเป็นเลิศ
ในเรื่องความกตัญญู นั้น ท่านจะนอนหันศีรษะไปในทิศที่พระอัสสชิอยู่ เพื่อสักการะบูชา ในฐานะพระอาจารย์ ที่แสดงหลักธรรม ทางพุทธศาสนาจนท่านบรรลุโสดาบัน
อีกเรื่องหนึ่งแค่ข้าวสุกหนึ่งทัพพีถือเป็นบุญคุณต้องทดแทน
เมื่อพระสารีบุตรอยู่เมืองสาวัตถี ออกบิณฑบาต ได้รับอาหารเป็นข้าวสุกหนึ่งทัพพีจากพราหมณ์ผู้ชรานามว่า ราธะ ต่อมาพราหมณ์ชรานั้นต้องการบวช แต่ไม่มีพระเถระรูปใดรับเป็นอุปัชฌาย์
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงถามที่ประชุมสงฆ์ว่ามีใครเคยรับอุปการะจากพราหมณ์นี้บ้างไหม
พระสารีบุตรกราบทูลว่า พราหมณ์นี้เคยใส่บาตรด้วยข้าวสุกหนึ่งทัพพี พระพุทธองค์จึงสรรเสริญว่าพระสารีบุตร เป็นยอดกตัญญูและให้เป็นอุปัชฌาย์บวช ราธะพราหมณ์นั้น
"โปรดโยมแม่ ก่อนนิพพาน"
โยมแม่พระสารีบุตรนั้น ยังนับถือศาสนาอื่น คือเป็นมิฉาทิฐิ แม้ว่าพระลูกชายเป็นถึงอัครสาวก แต่ได้ตำหนิพระลูกชาย ที่ไม่ได้บวชคนเดียว ยังพาน้องชายอีก 7 คนไปบวชจนหมด ไม่มีใครสืบตระกูล
ส่วนพระสารีบุตรทราบว่าตนถึงเวลานิพพานแล้ว จึงทูลลาพระพุทธเจ้าว่าจะมานิพพานที่บ้านเกิด ที่นาลันทาและจะเทศน์โปรดโยมแม่ด้วย เมื่อได้รับอนุญาตจึงเดินทาง 7 วันจากสาวัตถี ถึงบ้านนาลันทา
โยมแม่ทราบก็ดีใจว่าลูกบวชนานคงเบื่อ จะสึกเมื่อแก่ จึงจัดที่พักและอาหารให้แก่พระบริวารของพระสารีบุตร ส่วนพระสารีบุตรขออนุญาตโยมแม่ว่าจะพักในห้องที่เคยเกิดโยมแม่อนุญาต
ในคืนนั้นท่านข่มอาการอาพาธไว้แล้วเทศน์โปรดโยมแม่จนโยมแม่บรรลุโสดาบัน เท่ากับปิดประตูนรก เปิดประตูสวรรค์ให้โยมแม่ จึงนิพพานเช้าตรู่ในวันนั้น
บัดนี้อัฐิธาตุของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะที่เก็บไว้ที่สาญจิ สถูป อินเดีย ถูกเชิญมาประดิษฐานเคียงข้างพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า ณ มณฑลท้องสนามหลวงให้ประชาชนบูชาถึงวันที่ 3 มีนาคมนี้
จึงไม่อยากเห็นผู้ศรัทธาพลาดโอกาส อันหาได้ยาก นี้ เพราะการที่พระบรมสารีริกธาตุกับพระอรหันตธาตุ จะมาประดิษฐานในที่เดียวกันไม่เคยมีมาก่อน
แต่เพราะความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอินเดีย กับรัฐบาลไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนาและสถาบันโพธิคยา 980
เรื่องอัศจรรย์ที่ไม่เคยเกิด ก็ได้เกิดแล้วที่เมืองไทย