เชิญบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จากอินเดีย

14 ก.พ. 2567 | 22:30 น.

เชิญบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จากอินเดีย คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

รัฐบาลไทยและอินเดีย เชิญพระบรมสารีริกธาตุจากอินเดีย มาร่วมฉลอง 72 พรรษาในหลวง ระหว่าง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 18 มีนาคม 2567 ที่กรุงเทพ, เชียงใหม่, อุบลราชธานี และกระบี่

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนาขสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เปิดแถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงนิวเดลี และพระธาตุ แห่งพระอัครสาวกขวา-ซ้าย คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาญจีสถูป อินเดีย มาประดิษฐานในไทยเป็นการชั่วคราว ว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามแผนงาน เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

 

เชิญบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จากอินเดีย

 

คณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุของพระอัครสาวก กำหนด ถึงประเทศไทย ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ จะมีริ้วขบวนแห่ เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ มหามณฑป ท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนบูชา ตลอดเวลา 9 วัน แต่ละวันมีกิจกรรมเพื่อบูชา ทำบุญ ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ

หน่วยงานที่ประสานงานในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ที่ระบุได้คือ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีกรมการศาสนาประสานงาน และภาคเอกชนที่มีบทบาทมากคือ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ทางฝ่ายอินเดีย นอกจากรัฐบาลอินเดีย ก็มีสถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย

 

เชิญบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จากอินเดีย

 

"ความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ"

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา ณ สาลวโนทยาน แห่งมัลละกษัตริย์ นครกุสินารา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วิสาขบูชา) นั้น อีก 7 วันต่อมา จึงมีพิธีถวายพระเพลิง พระสรีระ สังขาร พระเพลิงเผาส่วนต่างๆ ของพระสรีระไปอย่างสิ้นเชิง คงเหลือส่วนต่างๆ ที่เพลิงไม่ไหม้

  1. ผ้าที่ห่อหุ้มพระบรมศพชั้นในสุด 1 ผืน ชั้นนอก 1 ผืน
  2. พระบรมอัฐิ 7 องค์ คือพระเขี้ยวแก้วทั้ง 4, พระรากขวัญทั้ง 2, พระอุณหิส 1, พระอัฐิทั้ง 7 นี้ไม่กระจาย

 

เชิญบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จากอินเดีย


สำหรับพระอัฐิส่วนอื่น แตกเป็นขนาดต่างๆ 3 ขนาด คือ

  1. ขนาดใหญ่ มีประมาณเท่ากับเมล็ดถั่วแตก 
  2. ขนาดกลางมีประมาณ เท่าเมล็ดข้าวสารหัก 
  3. ขนาดเล็ก มีประมาณเท่า เมล็ดพันธ์ผักกาด

"วาทะสร้างสันติ ของพราหมณ์ นามว่า โทณะ"

เมื่อกษัตริย์เมืองต่างๆ ทรงทราบข่าวสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และพิธีถวายพระเพลิงเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงเสด็จเมืองกุสินารา พร้อมๆ กัน 7 เมือง โดยมีกองทัพของตนติดตามมาด้วย เพื่อขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จากเจ้ามัลละ แก่งกุสินารา เพื่อนำไปบรรจุ ในพระสถูป ให้ผู้ศรัทธาในเมืองของตนได้สักการะบูชา

กษัตริย์จาก 7 เมือง ได้แก่ 1 ศากยะ แห่งกบิลพัสดุ์ 2 โกลิยะ แห่งรามคาม 3 กูลิยะ แห่ง อัลละกัปปะ 4 ลิจฉวี  แห่งไวสาลี 5 อชาตศัตรู แห่งมคธ 6 ผู้ครองนคร แห่งเวฏฐทีปกะ 7 เจ้ามัลละ (ชื่อซ้ำกับมัลละกษัตริย์แห่งกุสินารา) แห่งปาวานคร

 

แต่เจ้ามัลละ แห่งกุสินารา มีมานะกษัตริย์ ไม่ยอมแบ่ง ทำให้บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ไม่พอใจ จึงว่าถ้าไม่แบ่งให้โดยดีต้องทำสงคราม แย่งพระบรมสารีริกธาตุกันแล้ว

เป็นเรื่องโชคดีที่สงครามไม่เกิด เพราะพราหมณ์ นามว่าโทณะ ใช้วาทะ หรือลิ้นทูต สร้างสันติหรือสงบศึกได้

ขอลอก วาทะของโทณะพราหมณ์ ที่อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ท่านแปลไว้ ดังนี้

ดูก่อน ผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่านจงฟังคำสำคัญของข้าพเจ้า

พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ทรงสรรเสริญ "ขันติธรรม" การจะมาประหารกัน เพราะแย่งส่วนแบ่งพระพุทธสรีระของพระองค์ ผู้ประเสริฐเช่นนี้ ไม่ดีเลย

ขอใหัพวกเรายินยอมพร้อมใจแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเถิด พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะไดัแพร่หลายไปในทิศต่างๆ ชนผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จักได้บูชา

ลิ้นทูตของโทณะพราหมณ์ สามารถระงับสงครามลงได้ โดยกษัตริย์ทั้งนั้น ยินยอมให้แบ่งเท่าๆ กัน เมืองละหนึ่งทะนาน

ในขณะที่พระเจ้าโมริยะ แห่งปิปผลิวัน มาช้า ไม่ได้ส่วนแบ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ได้รับมอบ อังคารธาตุ เพื่อนำไปบรรจุ ให้ชาวเมืองได้สักการะบูชาเหมือนกัน

ส่วนโทณะพราหมณ์ ขออนุญาตกษัตริย์ที่ประชุมนั้นขอนำทะนานที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุ ไปสร้างสถูปบรรจุ ที่เมืองกุสินารานั้น (ที่ประชุมไม่ขัดขัอง)

 

เชิญบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จากอินเดีย

 

มีเกร็ด เรื่องนี้ว่า โทณะพราหมณ์ขณะทำหน้าที่สำคัญนี้ แอบนำพระเขี้ยวแก้วข้างหนึ่งใส่มวยผมตนไว้ แต่พระอินทร์เห็นคิดว่าไม่ถูกต้อง จึงขมายไปบรรจุ ณ จุฬามณี บนสรวงสวรรค์

อ.เสฐียรพงษ์ ว่าท่านอรรถกถาจารย์เขียนอย่างนี้ ท่านจึงว่าคล้ายคดีเพชรซาอุ ดังนั้นโปรดใช้วิจารณาญาณ

พระบรมสารีริกธาตุ ที่รัฐบาลอินเดีย ส่งมาไทย เป็นพระบรมสารีริกธาตุ  ที่ศากยะกษัตริย์ แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ ได้รับส่วนแบ่งนำไปบรรจุในสถูปแห่งเมืองนั้นนั่นเอง

"อานิสงส์ บูชาพระบรมสารีริกธาตุ"

ชาวพุทธนิยมไปสร้างบุญ ที่สังเวชนียสถาน 4 แห่งเพราะเชื่อว่ามีอานิสงส์คือได้บุญ ตายแล้วไปสู่สุคติ

ถ้าได้สักการะบูชา  พระบรมสารีริกธาตุ จะมีอานิสงส์อย่างไร

คำตอบนี้มีในหนังสือพระบรมสารีริกธาตุ วัดนางชี (พระอารามหลวง) ใกล้วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดนี้มีประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุ ประจำทุกปี ในช่วงกลางเดือน 12 ได้กล่าวถึงอานิสงส์การบูชาพระบรมสารีริกธาตุว่า 1.เสวยสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 2.บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 3.ไม่ไปเกิดในทุคติภูมิ 4.เสวยสมบัติในมนุษยโลก เช่นร่ำรวย ทรัพย์ สิน เงินทอง 5.ได้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และ อภิญญา 6
และสุดท้ายข้อ 6 จะบรรลุพระนิพพาน

 

เชิญบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จากอินเดีย

 

มีเรื่องเล่าว่าอานิสงส์ บูชาพระบรมสารีริกธาตุ เกิดทันตา

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ ฉลองสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่นครราชคฤห์นั้น ไดัมีหญิงชราถือดอกบวบขม 4  ดอกจะไปบูชา แต่ระหว่างเดินทางไปด้วยจิตจดจ่อเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้น ถูกวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตาย นางไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพธิดามีรัศมีกายเปล่งปลั่ง

ท้าวสักกะเห็นจึงหาข่าว ทราบว่า นางตั้งใจจะไปบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยดอกบวบขม 4  ดอก แต่ถูกวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตาย ด้วยความตั้งใจนั้นจึงมาเกิดในชั้นดาวดึงส์

ท้าวสักกะ ว่าแค่ตั้งใจมีอานิสงส์ถึงปานนี้ ถ้าได้บูชาตามที่ตั้งใจ จะมีอานิสงส์ปานไหน

ท้าวสักกะ จึงตรัสกับมาตลีเทพบุตรว่า แค่ตั้งใจบูชาด้วยดอกบัวขม ที่มีค่าน้อย ยังได้อานิสงส์มาก ทำให้เกิดในสวรรค์ได้ จึงตรัสเชิญชวนบูชาพระเขี้ยวแก้ว ที่บรรจุ ณ จุฬามณี

 

เชิญบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จากอินเดีย

 

ดังนั้น สาธุชนทั้งหลาย เมื่อทราบอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ จงอย่าลังเล รีบวางแผนไปบูชากันเถิด เพราะมีเวลาเพียง 9 วัน (24 กพ.-3 มีค.) เท่านั้น สำหรับชาวกรุงเทพมหานคร

มิเช่นนั้น ต้องตามไปบูชา ที่หอคำหลวง เชียงใหม่ วันที่ 5-8 มีนาคม

ที่วัดมหาวนาราม อุบลราชธานี วันที่ 10-13  มีนาคม

ที่วัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) กระบี่ วันที่ 15-18 มีนาคม 2567

จากนั้นอัญเชิญไปกัมพูชา และกลับอินเดีย