ถอดรหัสในวันวิสาขบูชา

22 พ.ค. 2567 | 22:30 น.

ถอดรหัสในวันวิสาขบูชา คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

ปฏิญญากรุงเทพฯ ออก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เนื่องในวันประชุมวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทย โดยมีสภาสากลวิสาขบูชาโลกร่วมกับรัฐบาลไทยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้โดยการสนับสนุนของรัฐบาลไทยและ มหาเถรสมาคมเป็นเจ้าภาพ ที่ประชุมใช้หัวข้อประชุมว่า "พุทธวิธีสร้างความไว้วางใจเและความสามัคคี" มาอภิปราย

เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม ได้มีการออกปฏิญญา กรุงเทพฯ ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567

ผมอ่านปฏิญญากรุงเทพฯ ด้วยความสนใจ สามารถถอดรหัสออกมาได้ดังนี้

1.ยกย่องประเทศเวียดนาม ว่าเป็นประเทศที่ใช้สติในปัจจุบันเพื่อพัฒนาประเทศ โดยลืมอดีตที่เปราะบางเสียทั้งสิ้น

2.ในส่วนของธรรมะนั้น ผมพิจารณาดูแล้ว ที่ประชุมทั้ง 3 วัน สรุปว่ามีหลักธรรมทั้งหมด 4 หัวข้อ ที่ควรนำไปใช้ในทุกกรณี และชีวิตประจำวัน คือ "สติ ขันติ กรุณา และสามัคคี" ตามหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา

โดยกล่าวว่า ขันติ สติ กรุณา และสามัคคีธรรมนี้ ถ้านำมาใช้ ในการเจรจาหรือปฏิบัติแล้วจะทำให้โลกมีความเข้าใจกัน ก่อให้เกิดสันติสุข และสามารถใช้เป็นสะพานเชื่อมความเห็นต่างระหว่างศาสนาได้ด้วย อีกทั้ง จะช่วย ลดช่องว่างระหว่างความจนและความรวย ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคมทั่วไป ทั้งนี้ทั้ง ขันติ สติ กรุณา และสามัคคี จะเป็นหลักในการเจรจา เพื่อทำความเข้าใจระหว่างกันและกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าทำได้ ก็เป็นที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง

3.ในการแลกเปลี่ยนความเห็น เป็นกรณีศึกษา คือที่ประชุมได้หยิบยกเรื่องการรับประทานอาหารอย่างมีสติ เหมือนการรับประทานอาหารแบบ "เซน" ที่เชื่อมโยงพวกเรากับทุกคน และกระบวนการที่ทำให้การรับประทานอาหารแต่ละครั้งเป็นไปอย่างมีสติ

 

ถอดรหัสในวันวิสาขบูชา

 

พร้อมกันนั้นก็ยกกรณีการศึกษาอย่างมีสติ โดยยกโครงการโรงเรียนมีสติ (สติปะสาละ) ของประเทศศรีลังกามาเป็นตัวอย่าง

นอกจากนั้นืปฏิญญากรุงเทพฯ ได้บอกว่า ควรใช้สติในทุกกิจกรรม เช่น การทูต การค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างชาติด้วย

อย่างไรก็ตาม วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เป็นวันวิสาขบูชา ชาวพุทธทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำบุญใส่บาตร เวียนเทียน เพื่อบูชาคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า เป็นประเพณีดั้งเดิม

เมื่อถึงวันสำคัญนี้ เราควรพิจารณาน้อมนำหลักธรรม หรือคำประกาศของพระพุทธเจ้า ในวันวิสาขบูรณะมี ว่ามีหลักการที่ควรนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานให้ทั่วถึง

พระวาจาที่สำคัญทั้ง 3 วัน ผมนำหลักที่อาจารย์ประณีต ก้องสมุทร แปลไว้ดังนี้

"วันประสูติ" วันแรก คือวันประสูติ หลังจากออกจากพระครรภ์มารดา ดำเนิน 7 ก้าว เปล่งอาสภิวาจา ประกาศความเด็ดเดี่ยวเป็นปณิธานแน่วแน่ว่า "เราเป็นผู้เลิศของโลก เราเป็นผู้ใหญ่ของโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว"

"วันตรัสรู้" อีก 35 ปีต่อมา ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันตรัสรู้ได้เปล่ง อุทานว่า "เราแสวงหานายช่างผู้สร้างเรือน คือตัณหา เมื่อยังไม่พบได้ท่องเที่ยว ไปสู่ชาติสังสารมิใช่น้อย การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์
ดูก่อนนายช่างผู้สร้างเรือน คือตัณหา เราพบท่านแล้ว ท่านจะสร้างเรือน คืออัตภาพร่างกายไม่ได้อีก ซี่โครงคือกิเลสทั้งมวล เราก็หักแล้ว ยอดเรือนคืออวิชชา เราก็รื้อทิ้งเสียแล้ว จิตของเราถึงวิสังขารคืนนิพพาน อันปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง ได้ถึงความสิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว"

พระพุทธเจ้า ตรัสนี้ เป็นการแสดงถึงชัยชนะและความสำเร็จของพระองค์ ที่ทรงได้รับหลังจากเสด็จออกบรรพชา และบำเพ็ญเพียรด้วยขันติ มานานถึง 6 ปี 

"วันนิพพาน" หลังจากนั้น อีก 45 ปี พระองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่เมือง กุสินารา ก่อนจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมะก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมะและวินัย (84,000 พระธรรมขันธ์) จะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว

และได้ตรัสอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อเตือนภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขาร มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"

 

ถอดรหัสในวันวิสาขบูชา

 

นี่คือพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่แม้ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ พระองค์ก็ยังเตือนสติ

พระวาจา 3 ครั้ง ทรงเปล่งในวันเพ็ญวิสาขบูรณะมีคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ ต่างกันแต่เวลาเท่านั้น

วาจาครั้งแรกตรัสในวันประสูติ ตรงกับวันวิสาขบูรณมี ก่อน พ.ศ.80 ปี

ครั้งที่ 2 ตรัสเมื่อวิสาขบูรณมี เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา คือ วันตรัสรู้ หรือก่อนพุทธศักราช 45 ปี

พระวาจาครั้งที่ 3 ตรัสเมื่อวันวิสาขบูรณมี หรือก่อนพุทธศักราช 1 ปี หรือวันปรินิพพาน

การนับพุทธศักราชหรือพ.ศ.นั้นเริ่มนับ 1 เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานครบ 1 ปี

ในฐานะชาวพุทธ ก็ควรนำ หลักการของพระวาจาที่พระองค์ตรัสใน 3 ครั้งนั้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

คือวันประสูติหรือวันเริ่มทำงาน หรือรับการศึกษา ก็จงตั้งปณิธานว่า เราจะต้อง ทำให้สำเร็จ ให้ประสบความสำเร็จ ตามปณิธานนี้ให้ได้

ส่วนในวันตรัสรู้ ก็มีหลักธรรมที่ควรนำมาใช้ก็คือว่าการเอาชนะกิเลสตัณหาต่างๆ รวมถึงการ ชนะใจตัวเองเพราะการชนะใจตัวเองนั้นเหนือกว่าชัยชนะทั้งปวง

ส่วนในวันปรินิพพาน น่าจะนำหลักธรรมที่พระองค์ตรัสแก่พระภิกษุมาใช้นั่นคือ ให้มีสติและไม่ประมาท

คำว่าสติและความไม่ประมาทนี้ ปัจจุบันเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ได้ใช้เฉพาะภิกษุเท่านั้น แต่ชาวโลกทั่วไปควรนำไปใช้ด้วย 

ถ้าเราน้อมนำหลักในพระวาจาทั้ง 3 วาระของพระพุทธองค์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

นอกจากจะประสบความสำเร็จแล้ว โลกของเราจะมีความสงบ สันติสุขและมีภราดรภาพ รวมทั้งความสามัคคี อย่างไม่ต้องสงสัย