นายพัลลภ ไทยอารี ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เปิดเผยว่า การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นั้น เพื่อให้ชาวโลกร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงพระราชทานการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และศาสนาต่างๆ ในประเทศไทยโดยไม่เลือกปฏิบัติในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก
องค์การ พ.ส.ล ตั้งมาแล้ว 73 ปี เป็นองค์กรสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนิกายในศาสนาพุทธให้เป็นหนึ่งเดียว มีภาคีสมาชิก 200 กว่าแห่งทั่วโลก ในปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ตั้งที่กรุงเทพมหานคร
เพื่อให้สาธุชนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) จึงขออัญเชิญพระราชกรณียกิจ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน แด่นานาศาสนา ในโอกาสต่างๆ มาเสนอบางส่วนเพื่อให้ทุกท่านซาบซึ้งในพระราชกรณียกิจที่ทรงมุ่งให้เกิดความรักสามัคคี และสันติสุขอันเป็นบ่อเกิดแห่งพหุวัฒนธรรมในชาติด้วย
พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธา ในพระพุทธศาสนานับแต่ครั้งทรงพระเยาว์
ผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เดือนพฤศจิกายนพ.ศ.2521 ณ พระอุโบสถวัดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัธยาจารย์ ทรงได้รับพระฉายาว่า วชิราลงฺกรโณภิกขุ โดยเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเศน์
ตลอดเวลาแห่งการผนวชนั้นทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานาประการร่วมกับคณะสงฆ์ เช่น ทรงร่วมทำวัตรเช้า เย็น ทรงทำสังฆกรรม (ฟังพระสวดพระปาฏิโมกข์) สะดับพระธรรมเทศนาและทรงศึกษาพระธรรมวินัยร่วมกับพระภิกษุอื่นๆ
ทรงปฏิบัติกิจของสงฆ์สม่ำเสมอ จนกระทั่งลาผนวชเมื่อ 20 พฤศจิกายนพ.ศ 2521
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 เวลา 16:00 น. ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระองค์มีพระราชดำรัส ประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภ์ว่า
"พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส และได้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้นๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นบัดนี้ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ บรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมพระเจ้าและพระสังฆะเจ้า จะได้รับการจัดการให้ความคุ้มครอง รักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดี ว่าข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปถัมภก เถิด" พระสงฆ์ประชุมในมหาสมาคมทั้งนั้น เปล่งสาธุการพร้อมกัน
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ทรงสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร มหาเถระ) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม ขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ท่ามกลางมหาสมาคมแห่งคณะสงฆ์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ มีพระจริยาวัตรเรียบง่าย สมถะ เคร่งในพระธรรมวินัย เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงคุ้นเคยและเคารพในสมเด็จพระสังฆราช เป็นการส่วนพระองค์มานาน ตั้งแต่เสด็จไปทรงรับการศึกษาวิชาทหาร ณ โรงเรียนนายร้อย ดันทรูน ประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่สมเด็จพระสังฆราช(อัมพร) ยังมีฐานะเป็นพระปริยัติกวี พระราชาคณะชั้นสามัญ พระธรรมทูตสายต่างประเทศ ของคณะธรรมยุต ประธานสงฆ์วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในปี พ.ศ.2516 และทรงรักษาพระราชศรัทธาในเเจ้าพระคุณต่อเนื่องตราบถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2562 ทรงสถาปนาพระอัฐิ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก พระราชอุปัธยาจารย์ และสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ) สมเด็จพระสังฆราช พระราชกรรมวาจาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าด้วยมีพระราชหฤทัยรำลึกถึงพระคุณที่มีต่อพระองค์ และพระพุทธศาสนา
พระองค์ทรงดำรงตนเป็นพุทธมามกะเปี่ยมด้วยพระราชศรัทธา สืบทอดประเพณี ทางพระพุทธศาสนาโดยเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันสำคัญทางศาสนา
การที่ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก เสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำ อาทิทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามตามฤดูกาล
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและเสด็จไปวัดต่างๆ เพื่อถวายผ้าพระกฐิน รวมทั้งเสด็จตามคำกราบบังคมทูล เพื่อยกช่อฟ้า และทรงตัดหวายลูกนิมิต เป็นต้น
นอกจากนั้นยังทรงอุปถัมภ์และส่งเสริมทุกศาสนาในประเทศ เช่นทุกๆ ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในศาสนพิธีและโอกาสสำคัญของชาวไทยมุสลิมอย่างสม่ำเสมอ อาทิ งานเมาลิดกลาง เป็นต้น
ในส่วนของศาสนาคริสต์นั้น เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเสด็จ สมเด็จพระสันตะปาปา ประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน อย่างสมพระเกียรติด้วยพระราชจริยวัตรที่งดงาม แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีเป็นที่ประจักษ์แก่คริสตศาสนิกชน ในขณะเดียวกัน ทรงอุปถัมภ์และส่งเสริมทุกศาสนาในประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกัน
"ทรงอุปถัมภ์การศึกษาพระปริยัติธรรม"
ในฐานะพุทธมามกะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงสนับสนุนการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมโดยเฉพาะการศึกษาพระบาลี โดยปฏิบัติตามพระปฐมบรมราชโองการว่า จะสืบสานต่อยอดและพัฒนา จึงเห็น "โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย" ได้รับการต่อยอด
โครงการนี้เป็นพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงดำริจัดตั้ง 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 โดยพระราชทานทุนส่วนพระองค์เป็นปฐมฤกษ์
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานและต่อยอดพระราชปณิธานในรัชกาลที่ 9 นั้น เพื่อสนับสนุนพระภิกษุสามเณรให้ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรมให้ลึกซึ้ง มีโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนาชั้นสูง และนำไปเผยแผ่ต่อไป
มิใช่แต่เท่านั้น ทรงอุปถัมภ์การก่อสร้างถาวรวัตถุ เพื่อการศึกษาบาลีด้วย เช่นเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนเป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท ให้แก่ "มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย" อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่อร่วมสร้างสถานที่เพื่อการศึกษาภาษาบาลี และวิทยาการอื่นๆ สำหรับภิกษุ มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัยนี้ เป็นนามพระราชทานใหม่
เนื่องจากทรงสนพระทัย ในการเรียนการสอนบาลี เมื่อมีการสอบและตรวจข้อสอบจึงพระราชทานการอุปถัมภ์การสอบ และตรวจภาษาบาลี สนามหลวง เป็นประจำ ดังที่ พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และแม่กองบาลีสนามหลวง เขียนคำนำในหนังสือประกาศผลสอบบาลี ปี พ.ศ.2567 ว่า
"ในการสอบบาลีสนามหลวงครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2567 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารและเจ้าองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ให้ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร ผู้เข้าสอบพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวง พร้อมทั้งกรรมการ ผู้กำกับห้องสอบรวมถึงคฤหัสถ์ ผู้เข้าสอบบาลีศึกษา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยังหาที่สุดมิได้ เป็นมิ่งขวัญอย่างสำคัญยิ่ง ต่อพระภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบ และคณะกรรมการผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอบ รวมถึงคฤหัสถ์ผู้ศึกษาพระปริยัติธรรมด้วย"
ทรงสถาปนาพระอัฐิ สมเด็จพระสังฆราช 2 องค์ ที่เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ และพระราชกรรมวาจาจารย์ เฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่พิเศษทรงโปรดเกล้าคืนสมณศักดิ์ แก่เจ้าคุณเอื้อน วัดสามพระยา ที่ถูกถอดสมณศักเดิ์ คดี เงินทอนวัด ให้มีสมณศักดิ์ พระพรหมดิลก เสมือนไม่เคยมีมลทิน จึงนับพรรษาได้ต่อเนื่องเหมือนเดิม และพระเลขาเจ้าคุณพระพรหมดิลกที่ถูกถอดสมณศักดิ์ก็ได้คืนแบบไม่มีมลทิน เช่นกัน
ในการส่งเสริมให้พระเถระที่มีอินทรีย์สังวร ตั้งมั่นในธรรมวินัย จะทรงพระราชทานสมณฐานันดรตามความเหมาะสม หากดูพระราชกรณียกิจในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2567 จะพบว่า จะพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ แก่บรรพชิตจีนและญวนตามลำดับ
จะทรงสถาปนา และตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์จำนวน 73 องค์ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 อีกทั้งทรงตั้งฐานันดรแก่พราหมณ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพระราชสำนักด้วย
ในช่วงออกพรรษา ปี 2567 จะเสด็จด้วยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เสด็จถวายผ้าพระกฐิน ถวายพุ่มดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง เป็นพุทธบูชา แด่พระพุทธบาท ณ วัดพระพุทธบาทวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มิได้ทรงอุปถัมภ์ด้านการศึกษาและพระปริยัติธรรมเท่านั้น ยังทรงปฏิบัติบูชาจนเป็นที่ประจักษ์ด้วย
ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราท่านทั้งหลาย ทราบว่าพระเถระที่มีความเชี่ยวชาญในการเจริญสมาธิ ภาวนา และวิปัสสนากรรมฐาน ได้รับนิมนต์ให้เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังสวนดุสิต เพื่อถวายพระธรรมเทศนา และนำปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน บ่อยครั้ง จากการที่มีพระทัยน้อมไปในปฏิบัติบูชานั้น จึงเกิดธรรมนาวา"วัง"ขึ้น
คือ เมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2567 เวลา 14:00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ พร้อมคติธรรม ธรรมนาวา "วัง" ซึ่งประกอบด้วย หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ แบบวิธีระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย หลักอริยสัจ 4
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลอากาศตรี สุพิชัย สุนทรปุระ รองเลขาธิการพระราชวัง อัญเชิญ ธรรมนาวา "วัง" พระไตร และเครื่องไทยธรรม พระราชทาน ถวาย แด่กรรมการมหาเถรสมาคม ณ ตำหนักเพชร ทุกองค์