เทียบเคียงเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน

17 ก.ย. 2566 | 22:00 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2566 | 23:18 น.

เทียบเคียงเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีคำถามจากแฟนคลับท่านหนึ่งถามผมว่า “อยากให้ลองเทียบเคียงการเกษตรของประเทศเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้านดูว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร?” แหม....ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาเทียบเคียง ให้ได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นนะครับ แต่ก็จะลองเปรียบเทียบดูนะครับ แต่ต้องบอกว่า นี่ไม่ใช่เป็นการไปด้อยค่าหรือบลูลี่ประเทศใดทั้งนั้น เพียงแต่จะลองเปรียบเทียบ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงประเทศให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง ถือว่าอ่านสนุกๆ อย่าได้เอามาเป็นสาระนะครับ เดี๋ยวจะทำให้เสียความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างประเทศไปเปล่าๆครับ

การเกษตรในประเทศไทย เราสามารถพูดได้ว่าเราได้ก้าวข้ามการเกษตรพื้นฐานไปแล้ว และได้เข้าสู่เกษตรพัฒนาไปกว่าสามสิบปีแล้ว (ตามความคิดของผมที่ไม่ใช่จากทางการไทยนะครับ เพราะไม่มีที่มาอ้างอิง) ประเทศไทยเรามุ่งเน้นการนำเอาผลิตผลทางการเกษตร มาผลิตเป็นสินค้าแปรรูปมานานมากแล้ว และเราก็มุ่งเน้นไปที่การหานวัตกรรมใหม่ๆ ของผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดตลอดเวลา

ไม่ว่าจะเป็นในรูปของผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิด หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือที่เรียกว่า “Dietary supplements products” อีกทั้งเราเองยังได้มีการนำเอาสินค้าการเกษตรบางชนิดเข้าสู่วงการสินค้าเครื่องสำอางค์ (Cosmetic products) รวมไปถึงสินค้าที่เป็นนาโนเทคโนฯไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม เราก็อย่าได้หลงระเริงว่าเราเป็นแชมป์ของการผลิตนวัตกรรมทางด้านการเกษตรในภูมิภาคนี้โดยเด็ดขาด เพราะตราบใดที่เรายังคงอยู่ในความชื่นชมยินดีปรีดากับการเป็นแชมป์ แล้วละเลยต่อการพัฒนาเกษตรพื้นฐาน ที่เป็นสารตั้งต้นหรือวัตถุดิบของสินค้าเหล่านั้น เราก็จะถูกประเทศที่มีความขยัน อดทน และมุ่งมั่นในการพัฒนา แซงหน้าเราไปอย่างแน่นอนครับ

หากจะเอาประเทศเมียนมาเป็นจุดศูนย์กลาง แล้วหันไปมองซ้ายมองขวา ในขณะที่ประเทศที่อยู่ทางด้านขวามือ ใช่ว่าจะมีแต่ไทยประเทศเดียวเท่านั้น  ยังมีประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสปป.ลาว ประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชาอีก ในส่วนของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็คงไม่ต้องไปเปรียบเทียบเขานะครับ เพราะแม้ว่าเขาจะมีขีดจำกัดทางด้านพื้นที่เพาะปลูกกับภูมิอากาศ แต่เขามีเทคโนโลยีและความขยันของประชาชน อีกทั้งเขามีแม้กระทั่งงบประมาณที่ภาครัฐฯ เขาทุ่มลงมาช่วยเหลือเกษตรกรมากมาย เอาง่ายๆ แค่การขนส่งสินค้าการเกษตร(โลจิสติกส์) ที่รัฐบาลส่งงบประมาณลงมาช่วยอย่างเดียว ก็มากกว่างบประมาณด้านอื่นๆ ของประเทศในแถบนี้แล้วครับ ดังนั้นคงต้องขอยกเว้นไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับเขา 

ที่น่าสนใจคือการเกษตรของประเทศเวียดนาม ที่ปัจุบันนี้ได้พัฒนาด้านการเกษตรไปไกลกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ไปแล้ว เพราะปัจจัยด้านความมานะอดทน และความขยันของเกษตรกรเอง ยังมีบุคลากรทางด้านวิชาการการเกษตร ที่มีความเหนือชั้นกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้มาก หากจะเปรียบเทียบกับประเทศเมียนมา ผมคิดว่าการเกษตรของประเทศเมียนมายังด้อยกว่าเวียดนามหลายช่วงชกทีเดียวครับ 

ไม่ว่าจะเป็นสินค้าการเกษตรพื้นฐานที่ดูเป็นรายตัว เช่น ข้าว ข้าวโพด กาแฟ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ที่อดีตประเทศเมียนมามีความภาคภูมิใจมาก แต่ปัจุบันนี้ไม่สามารถเทียบเคียงกับเวียดนามได้เลย แม้ประเทศเมียนมาจะมีความอุดมสมบูรณ์มากๆ แต่ปัจจัยสำคัญที่พอจะเอามาเป็นข้ออ้างได้ ก็เป็นปัจจัยความไม่สงบนี่แหละครับ ที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงพื้นที่เข้าไปสู่เรือกสวนไร่นาได้ เพราะความปลอดภัยจึงทำให้เกษตรกรเลือกที่จะเข้าสู่ระบบแรงงาน ที่ไปทำงานที่ต่างประเทศเสียมากกว่า ทำให้พื้นที่การเพาะปลูกในประเทศถูกทิ้งร้างอย่างมากมาย จนกระทั่งสามารถพูดได้ว่า เมียนมาเริ่มเข้าสู่ปัญหาแล้วนั่นเองครับ

หากเรามองทางด้านสินค้าประมง ในอดีตประเทศเมียนมามีความอุดมสมบูรณ์มาก เรือประมงของประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ ต่างอยากเข้าไปจับปู-จับปลาที่ท้องทะเลอันดามันกัน แม้ว่าการเข้าไปจะต้องขอใบอนุญาตจับปลา ที่ต้องจ่ายในราคาที่สูงมากก็ตาม แต่ก็คุ้มค่าหากเทียบกับปลาที่จับได้ ทำให้ชาวประมงของประเทศไทยเราเอง ก็ต้องขวนขวายหาช่องทางเข้าไปจับปลากันที่นั่น เหตุเพราะของอุดมสมบูรณ์ของปลาในท้องมหาสมุทร

ถ้าให้ผมเปรียบเทียบท้องทะเลก็เหมือนกับโรงแรมนั่นแหละครับ หากโรงแรมแห่งใหนไม่มีการปรับปรุง หรือปล่อยให้รกรุงรังดูสกปรกลูกหูลูกตา ลูกค้าก็ไม่เข้ามาพัก ท้องทะเลก็เช่นเดียวกัน หากปล่อยปละละเลยให้ปะการังถูกทำลาย ไม่มีการจัดการที่ดี ปลาก็ไม่อยู่อาศัยเช่นกันครับ การดูแลท้องทะเลของเมียนมาในอดีตอันใกล้ๆ ที่ผ่านมา เขาทำได้ดีมาก ปลาชุกชุมมาก ผมเคยคุยกับคุณวิชัย เจ้าของโรงงานปลากระป๋องที่ประเทศเมียนมา ท่านบอกผมว่า ต่อให้มีโรงงานปลากระป๋องเกิดใหม่ที่ประเทศเมียนมา อีกยี่สิบ-สามสิบโรงงาน ปลาในท้องทะเลก็ยังเหลือเฟือ ให้จับมาทำปลากระป๋องไม่ขาดแน่นอนครับ

ทีนี้เรามาเทียบกับประเทศฝั่งซ้ายมือของประเทศเมียนมาบ้าง ก็มีประเทศอินเดียกับประเทศบังคลาเทศ ซึ่งก็ยังพอไหวอยู่นะครับ เพราะทั้งสองประเทศดังกล่าว ยังมีการพัฒนาที่ไม่น่ากลัวสำหรับประเทศเมียนมา แม้ว่าเขาจะเป็นประชาธิปไตยก็ตาม หากประเทศเมียนมาเปิดประเทศใหม่อีกครั้ง และสันติภาพเกิดขึ้นมาใหม่อีกเมื่อไหร่ ทุกอย่างก็จะเข้าสู่โหมดเดิมอีกครั้ง คราวนี้คงจะมีการส่งเสริมการอย่างจริงๆ จังๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอนครับ

ก็อยู่ที่ว่าคำตอบดังที่กล่าวมานั้น จะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่เท่านั้นแหละครับ ถ้าท่านถามผมต่อว่า “แล้วคิดว่าจะอีกนานเท่าไหร่ สันติภาพจึงจะเกิดละครับ?” ผมคงจะต้องตอบว่า “ผมก็ไม่ทราบว่าสันติภาพในประเทศเมียนมาจะเกิดขึ้นเมื่อใด....ถ้าผมรู้ผมก็คงรวยแล้วละครับ!!!”