คาดการณ์แนวรบเมืองเมียวดี

15 เม.ย. 2567 | 00:00 น.

คาดการณ์แนวรบเมืองเมียวดี คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

การสู้รบในเมืองเมียวดีที่เริ่มขึ้นในอาทิตย์ที่ผ่านมา เชื่อว่าคนไทยทุกคนต่างได้รับรู้ข่าวสารกันถ้วนหน้าแล้วนั้น ผลออกมาเป็นอย่างไรผมคงไม่ต้องอธิบายมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ทหารฝ่ายพันธมิตรที่เป็นการจับมือกันของกระเหรี่ยงหลายฝ่ายกับกลุ่ม PDF ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาล ในช่วงเกิดการรัฐประหารในปี 2021 เข้ามาฝึกการรบกับกลุ่มทหารชนชาติพันธุ์ วันนี้ความเข้มแข็งของกองกำลังชนชาติพันธุ์กับ PDF ได้พิสูจน์ให้เห็นจากผลของการสู้รบดังกล่าวแล้วครับ

ส่วนผลที่จะตามมาแรกๆก็มีเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งถ้าให้ผมวิเคราะห์ตามประสบการณ์ที่เคยพบเห็นมา ในช่วงหลายปีมานี้ ผมก็ยังคงไม่ค่อยสบายใจมากนัก เพราะทุกครั้งที่มีคำถามเข้ามา ผมก็จะบอกว่า อย่าเพิ่งมองแค่ผิวเผินว่ากระเหรี่ยงชนะแล้ว ในความเห็นส่วนตัวของผม ก็ยังคงคิดว่า นี่เป็นเพียงฉากทัศน์เริ่มต้นเท่านั้น สิ่งที่จะตามมาบางท่านอาจจะยังไม่ได้คาดคิดถึงก็ได้ครับ

โดยส่วนตัวผมยังไม่เชื่อว่า รัฐบาลทหารจะยอมยกดินแดนของประเทศเมียนมา ให้ถูกแบ่งแยกไปเป็นอีกประเทศหนึ่งอย่างแน่นอน เพียงแต่ตอนนี้เขาอาจจะกำลังคิดหรืออาจจะได้มีแผนการอะไรบางอย่างแล้วก็ได้ ดังนั้นเราคงจะต้องจับตาดูการเคลื่อนไหว และการปรับเปลี่ยนกลยุทธของฝ่ายรัฐบาลทหารอย่างใกล้ชิดต่อไปนะครับ

ในช่วงแรกของการบุกโจมตีฐานที่มั่นของฝ่ายทหารรัฐบาล สิ่งที่ผมกังวลใจมากที่สุด คือการตอบโต้เอาคืนทางทหาร จากภาครัฐว่าจะมีความรุนแรงอย่างไร? ซึ่งผมก็ได้ตั้งแนวคิดไว้สามแนวทางคือ การเอาคืนที่อยู่ในระดับต่ำสุด นั่นคือการส่งทหารราบจากส่วนกลางเข้ามาบุกยึดคืนเมืองเมียวดี วิธีนี้คงจะต้องมีการสูญเสียชีวิตทหารฝ่ายรัฐบาลมากที่สุด เพราะถนนหนทางที่จะเข้ามาสู่เมืองเมียวดี มีอยู่เพียงสามเส้นทางเท่านั้น คือทางที่หนึ่งจากเส้นทางสายเอเชีย ซึ่งแน่นอนว่าการเข้ามาจะต้องพบกับการต่อต้านจากฝ่ายพันธมิตรกระเหรี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางที่สองคือจากถนนสายเก่า ที่ใช้เป็นเส้นทางขนส่งจากยุคก่อนที่จะมีถนนสายเอเชีย เส้นทางเส้นนี้ต้องผ่านเขตแดนอิทธิพลของฝ่ายกระเหรี่ยง ที่ยึดครองพื้นที่นั้นอยู่ ซึ่งก็ไม่ง่ายเช่นกัน เส้นทางที่สามคือผ่านหมู่บ้านเล็กๆ(ผมจำชื่อของหมู่บ้านไม่ได้ เพราะเคยไปขายของอยู่แต่นานมาแล้ว) ก็คงต้องวัดใจว่าชาวบ้านเขาจะเอาด้วยกับรัฐบาลทหารหรือเปล่า? ซึ่งผมก็คิดว่ายาก....ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเป็นชนชาติพันธุ์ที่เป็นคนไตหรือคนไทยพลัดถิ่นและคนกระเหรี่ยง

สำหรับวิธีที่ 2 ที่จะเข้ายึดคืนเมืองเมียวดี คือการส่งทหารม้า ที่มีกองกำลังรถถังเป็นตัวนำหน้า แล้วใช้ทหารราบลุยตามหลัง ซึ่งวิธีนี้จะสูญเสียชีวิตทหารน้อยกว่าวิธีแรก แต่จะสูญเสียเมืองที่มีอาคารบ้านเรือนอาศัยอยู่หนาแน่นไม่น้อย เพราะการยิงกระสุนรถถัง จะเกิดการทำลายล้างอาคารบ้านช่องไปไม่น้อย ในขณะที่กำลังทหารของฝ่ายพันธมิตร ที่มีชัยภูมิที่ดีกว่า(ในตอนนี้) ย่อมสู้ใจขาดดิ้นแน่นอน วิธีที่ 3 ที่พวกเราคงไม่อยากเห็น คือการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบปูพรม ซึ่งถ้าเลือกใช้วิธีนี้ ผมก็คิดว่าการเก็บกวาดปฎิกูลสงคราม (War Waste)จะทำได้ยาก เพราะชาวบ้านที่เป็นชาวชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ ต่างขวัญเสียและจะไม่มีใจให้กับรัฐบาลอีกต่อไป นั่นเป็นการยากที่จะปกครองในอนาคตข้างหน้าก็ได้ อีกประการหนึ่งที่รัฐบาลทหารต้องคำนึงถึง คือประเทศเพื่อนบ้าน(ไทย) อาจจะถูกลูกหลงได้ เพราะการทิ้งระเบิดแบบปูพรม ระเบิดไม่มีตามองเห็นได้ แค่ระยะ 50 เมตรก็ข้ามแดนมาไทยแล้ว ความระส่ำระสายก็จะเกิดขึ้น ข้ามมายังฝั่งไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยงครับ

เราคงต้องมาอ่านใจแม่ทัพใหญ่จากฝั่งรัฐบาลแล้วละครับ ว่าท่านจะเลือกแผนยุทธการอย่างไร? ถ้าเรามองประวัติของแม่ทัพใหญ่ จากอดีตที่ผ่านมา ท่านพลเอกอาวุโส โซ วิน (Soe Win) ท่านเป็นนายทหารที่มีความเด็ดเดียวมาก อยู่ในสายเหยี่ยวที่ทุกคนทราบกันดี ท่านเป็นนายทหารคนสนิทของท่านนายพล หม่อง เอ ถ้าเราจำกันได้ ในอดีตยุคสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) ซึ่งในปี พ.ศ. 2540 สืบต่อจากสภาฟื้นฟูกฎหมายและความสงบเรียบร้อยแห่งรัฐ (SLORC) ที่สามทหารเสือได้ยึดอำนาจภายใต้การปกครองของท่านพลเอก Saw Maungในปี พ.ศ. 2531 และในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554 ประธานสภาอาวุโสและประธานสภา ที่ท่านพลเอกอาวุโส ตันฉ่วย (Than Shwe)ได้ลงนามในกฤษฎีกาที่เป็นทางการยุบสภา และแล้วสามทหารเสือที่มี ท่านพลเอกอาวุโส ตัน ฉ่วย พลเอกอาวุโส หม่อง เอ และพลเอกอาวุโส ขิ่น หยุ่น สามทหารเสือที่ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดของประเทศเมียนมา ในยุคนั้นทหารที่มีอำนาจอย่างมากคือท่านพลเอกอาวุโส หม่อง เอ ก็ได้มีนายทหารหนุ่มที่ชื่อว่า “โซ วิน” ท่านนี้แหละที่ได้รับความไว้วางใจจากพลเอกอาวุโส หม่อง เอ เป็นที่สุด

ในวันที่เกิดมีการปะทะกันขึ้นที่เมืองเมียวดี ก็มีข่าวอีกข่าวหนึ่งว่า มีการใช้โดรนทิ้งระเบิดใส่ห้องประชุม ที่กำลังวางแผนยุทธการอยู่ที่เมืองเมาะละแหม่ง ซึ่งช่วงแรกข่าวออกมาค่อนข้างจะสับสน ว่าท่านพลเอกอาวุโส โซ วิน อยู่ในห้องประชุมดังกล่าวด้วย และต่อมาทราบว่าท่านได้รับบาดเจ็บ แต่ได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอินเดีย และอยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว ซึ่งก็เป็นข่าวดีของทางฝ่ายรัฐบาลเมียนมา อย่างไรก็ตาม ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีผลต่อการปฎิบัติการ “เอาคืน”ของทหารรัฐบาลหรือไม่?

ทางด้านประเทศไทยเรา ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งตามที่ท่านรศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ซึ่งได้เคยนำเสนอไปแล้วว่า รัฐบาลไทยควรจะต้องเร่งรีบดำเนินการจัดตั้งวอร์รูม เพราะวันนี้หากเราวางตัวไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือมีการวางแผนไม่รัดกุม ความเสียหายของประเทศไทย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะมีแต่ความเสียหายยากที่จะแก้ไขได้ครับ