สภาพเมืองย่างกุ้ง หลังการสู้รบในเมืองเมียวดี

28 เม.ย. 2567 | 22:15 น.

สภาพเมืองย่างกุ้ง หลังการสู้รบในเมืองเมียวดี คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันที่ 24-27 เมษายนที่ผ่านมา ผมได้พาคณะผู้ประกอบการรายใหญ่จากประเทศไทยสามสิบกว่าท่าน เดินทางไปเยี่ยมเยือนกรุงย่างกุ้ง การไปครั้งนี้เราได้รับเกียรติอย่างสูงจากฯพณฯท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง ฯพณฯท่าน มงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ และท่านทูตพาณิชย์ไทยประจำเมียนมา ท่านเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา ที่ให้การต้อนรับคณะของสภาธุรกิจไทย-เมียนมาอย่างอบอุ่น ซึ่งพวกเราโชคดีมากที่ได้มารับรู้สถานการณ์ที่แท้จริง ท่ามกลางสงครามกลางเมือง ณ เมืองเมียวดีที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ 

สิ่งที่ฯพณฯท่านเอกอัครราชทูตได้บรรยายให้พวกเราฟัง คงจะสามารถให้ความกระจ่างแก่กลุ่มเพื่อนๆ ผู้ประกอบการ ที่ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้อย่างดี แต่ตัวผมอยากจะเล่าถึงสภาพของกรุงย่างกุ้งที่พวกเราได้ไปเห็นกับตาก่อน ในการไปครั้งนี้แรกเลยทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ต้องการรับผู้ประกอบการร่วมเดินทางร่วมคณะเพียง 20 ท่านเท่านั้น แต่สุดท้ายก็รับไปได้มากถึง 32 ท่าน ทุกท่านที่ไปก็ได้เห็นสภาพของรถราบนท้องถนน ที่ในช่วงกลางวันจะมีรถยนต์หนาตามาก ไม่เหมือนกับที่ข่าวคราวที่ออกมาเลย ผู้คนบนท้องถนนและในห้างสรรพสินค้าก็มีผู้คนมาจับจ่ายใช้สอยกันไม่น้อยเลยเช่นกัน 
 

เป็นไปตามที่ฯพณฯท่านเอกอัครราชทูตเล่าให้เราฟังทุกประการ ซึ่งได้เล่าถึงความรู้สึกว่าเสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ จะยังไม่ค่อยไว้วางใจในสถานการณ์ อาจจะเป็นเพราะข่าวในด้านลบ ที่เผยแพร่ออกมามากมายเหลือเกิน ทำให้ทุกคนอาจจะมีความหวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงในหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และอีกหลายๆเมืองยังคงมีความสงบอยู่ ในช่วงที่พวกเราพำนักอยู่ที่นั่น 4 วัน ทุกอย่างเป็นปกติเงียบสงบ ไม่ได้ยินแม้แต่เสียงปืนเลยครับ

ส่วนใหญ่ที่จะมีปัญหา ก็จะมีแต่บริเวณชายแดนของประเทศเมียนมาเสียเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งผู้คนยังคงใช้ชีวิตกันอย่างปกติสุขดี จะมีเพียงเงินเฟ้อที่เกิดจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำเท่านั้น ที่สร้างปัญหาให้แก่ประชาชนชาวเมียนมา เพราะสินค้าในประเทศเมียนมาราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ค่าแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย อัตราการตกงานของกลุ่มแรงงานก็เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมมาก อีกทั้งมีความพยายามที่จะเดินทางออกไปทำงานที่ต่างประเทศของแรงงานเมียนมาอย่างมาก
 


วันนั้นฯพณฯท่านเอกอัครราชทูตได้เล่าว่า หน่วยงานราชการและองค์กรเอกชนของเมียนมา ต่างมองประเทศไทยไปในสายตาที่ขอบคุณแทบทั้งนั้น เพราะว่าในช่วงที่เกิดปัญหาถาโถมเข้ามาสู่ประเทศเมียนมา โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านๆ มา ตั้งแต่ช่วงปี 2019 ที่โรคระบาดโควิด-19 ได้เข้าสู่ประเทศเมียนมา และพอเกิดมีการเปลี่ยนแปลง ทางชาติตะวันตกได้เริ่มเข้ามาแซงชั่นเมียนมา ทำให้เศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกอยู่แล้ว แต่ประเทศเมียนมาก็ยังต้องโดนกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆ อีกหลายเท่า ในขณะที่ประเทศไทยเรา ก็ไม่เคยทอดทิ้งเมียนมา

ดังนั้นพอกลุ่มนักธุรกิจที่นำโดยสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ได้พาคณะมาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นกลุ่มแรกๆ ของนักธุรกิจที่เข้ามาเป็นหมู่คณะใหญ่ ที่เข้ามาสู่ประเทศของเขา เขาจึงให้ความสำคัญกับพวกเราเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลังจากที่จบจากการเข้าเยี่ยมคารวะแล้ว เรายังมีโปรแกรมไปเยี่ยมเยือนทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนของเขา ผมจึงได้ประจักษ์กับตาว่า เป็นไปตามที่ฯพณฯท่านได้บอกเล่าจริงๆ ครับ

บางช่วงบางตอนก็ได้รับทราบว่า ยังมีบริษัทขนาดใหญ่ของไทยเรา ยังคงอดทนที่จะดำเนินกิจการต่อไป ทั้งๆ ที่ทุกบริษัทก็ต่างเข้าใจที่จะต้องแบกรับภาระความเสี่ยงอยู่ ดังนั้นแรงงานเมียนมาของบริษัทไทยที่อยู่ที่นั่น ที่เป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ของการรับราชการทหาร ทางการเมียนมาได้ตอบรับคำขอจากสถานทูตไทยประจำเมียนมา ให้มีการผ่อนผันได้ โดยทุกบริษัทไทยที่ประกอบการอยู่ในประเทศเมียนมา สามารถส่งรายชื่อของแรงงานไปยังสถานทูตไทย เพื่อขอรับใบคำร้องของดเว้นเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เพื่อนำไปแสดงต่อทางการเมียนมาได้เลย 

ช่วงท้ายก่อนที่จะจบการบรรยายฯพณฯท่านได้พูดถึงว่า ในช่วงที่เขายากลำบาก นักธุรกิจและผู้ประกอบการหลายๆ ประเทศ ต่างทำการถอนการลงทุน และกลับประเทศไปเยอะมาก กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านั้น หากประเทศเมียนมาสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ เขาคงจะไม่สามารถที่จะได้รับการต้อนรับอย่างดีเหมือนผู้ประกอบการไทย ที่ยังคงมีอยู่หลายบริษัท ที่อดทนดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้ทอดทิ้งเขาไปเหมือนประเทศอื่นๆ ครับ

อีกทั้งยังให้เคล็ดลับในการอยู่ดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมาต่อว่า “ต้องติดตาม เข้าใจ ทำใจ”  ล่าวคือ ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา และต้องเข้าใจในข่าวสารที่ได้รับ ว่าข่าวสารอันไหนเป็นข่าวจริงข่างเท็จ ส่วนทำใจคือ บางครั้งต้องทำใจไว้ก่อนเลยว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น นั่นคือวัฒนธรรมของเมียนมากับของคนไทยล้วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นหากคาดหวังสูงเกินไป อาจจะไม่ได้อย่างที่หวังก็คงต้องทำใจไว้ก่อนนั่นเอง อีกทั้งการทำธุรกิจในประเทศเมียนมา จะต้องมีสายปานยาวหลายๆ รอบ และต้องกล้าได้กล้าเสียด้วยครับ
 

ในส่วนของท่านทูตพาณิชย์เอกวัฒน์ ที่เป็นคนหนุ่มไฟแรง ที่เพิ่งเข้าไปรับตำแหน่งที่กรุงย่างกุ้งไม่นาน แต่สิ่งที่ท่านได้ดำเนินการไป ในส่วนตัวผมคิดว่าเสมือนท่านได้ทำงานมายาวนานเหลือเกิน เพราะนอกจากท่านจะมีความใฝ่เรียนรู้ เข้าใจบริบทของชาวเมียนมา เข้าถึงผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศเมียนมา ท่านยังช่วยผู้ประกอบการในการหาช่องทางในการนำเข้าสินค้าทางด่านชายแดนอื่นๆด้วย วันนั้นท่านยังได้บรรยายเรื่องดังกล่าวให้คณะของเราได้รับรู้ด้วยครับ

ผมคงมิบังอาจกล่าวอ้างเองว่า การเดินทางไปครั้งนี้เราได้ผลเกินคุ้ม แต่เป็นผู้ประกอบการเกือบทุกท่านที่ได้พูดคำนี้กัน อาทิตย์หน้าผมจะเล่าถึงความร่วมมือในอนาคต ระหว่างองค์กรเอกชนเมียนมากับสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ที่จะร่วมกันผลักดันกันในอนาคตครับ