เรือขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์...มาถึงแล้ว

08 ก.ค. 2567 | 00:00 น.

เรือขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์...มาถึงแล้ว คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อเช้าวานนี้ เรือขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ลำแรก เข้ามาจอดเทียบท่าเรือจังหวัดระนองเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่เลื่อนมาเกือบหนึ่งอาทิตย์ นับว่าเป็นการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา อย่างเป็นทางการได้เริ่มต้นแล้ว ต้องขอแสดงความยินดีกับพี่น้องพ่อค้าชายแดนจังหวัดระนอง ที่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของมรสุม ที่เป็นปัญหาหลักของการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ที่ทุกๆ ปีของฤดูมรสุมมาช้านาน วันนี้เราได้เห็นการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นแล้วครับ

การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ เกิดจากเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้เกิดการสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลเมียนมา กับกลุ่มกองกำลังกระเหรี่ยงหลายฝ่ายที่เมืองเมียวดี จนทำให้การค้าชายแดนทางด่านอำเภอแม่สอดกับด่านเมืองเมียวดี ต้องปิดด่านชายแดนด้านนั้นยาวเกือบสองสัปดาห์ ต่อมาได้มีการเจรจาและเปิดด่านใหม่อีกครั้งในต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในช่วงจังหวะการชุลมุนวุ่นวายกันอยู่นั้น ในวันที่ 24-28 เมษายน ผมในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ได้พาคณะผู้ประกอบการไทยทั้งหมดกว่า 30 ชีวิต เดินทางเข้าไปเยือนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ณ กรุงย่างกุ้ง เพื่อเจรจาหาช่องทางในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากัน
 

ทางคณะของเราได้มีโอกาสเข้ากราบคารวะฯพณฯท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเมียนมา ท่านมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ และท่านทูตพาณิชย์ไทยประจำเมียนมา ท่านเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา ได้ให้คำแนะนำในการเจรจาครั้งนั้น ทำให้การเข้าพบกับทางสำนักงานการท่าเรือแห่งกรุงย่างกุ้ง ที่ให้การต้อนรับคณะของเราอย่างอบอุ่น และได้รับฟังขอเสนอให้มีการแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ที่มูลค่าการค้าส่วนใหญ่จะอยู่ที่ด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี เมื่อเกิดเหตุการความไม่สงบเกิดขึ้น ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การพบกันระหว่างคณะผู้ประกอบการไทยโดยสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กับท่านผู้อำนวยการการท่าเรือฯในครั้งนั้น ผมได้ร้องขอให้เปิดช่องทางเดินเรือ ด้วยการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อป้องกันสินค้าที่จะเสียหายระหว่างฤดูมรสุม ซึ่งกำลังจะมาในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ให้เป็นการค้าชายแดน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนที่ด่านแม่สอด-เมียวดีในระยะเวลาที่มีการสู้รบกันอยู่  เพราะทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ส่วนตัวผมที่อยู่ในระหว่างเจรจากันนั้น ก็พอจะมองออกว่า ท่านผู้อำนวยการท่าเรือย่างกุ้ง ท่านค่อนข้างจะรับฟังและเห็นด้วยกับแนวคิดนั้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนอย่างรวดเร็วครับ


หลังจากที่คณะเราเดินทางกลับมาไม่นาน ทางการท่าเรือของเมียนมา ก็ได้มีการดำเนินการสื่อสารมายังท่าเรือจังหวัดระนอง เพื่อร้องขอให้มีการปรับปรุงท่าเรือของจังหวัด ซึ่งทางการของไทยเราโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการรีบเร่งแก้ไขซ่อมแซมเครื่องเครนยกสินค้าอย่างเร่งด่วน จนกระทั่งพร้อมรับส่งสินค้าทันทีที่เรือขนส่งสินค้ามาถึง เราจึงได้เห็นภาพของเรือสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ได้เข้ามาเทียบท่าเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเช้าวานนี้ครับ

เรือขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์สองลำแรกที่เข้ามาสู่ท่าเรือระนองเมื่อเช้าวันนี้ ลำแรกมีชื่อว่า BEYPORE SULTAN อีกลำหนึ่งชื่อว่า MCL-4 ทั้งสองลำได้เข้าสู่ท่าเรือระนอง โดยขนเอาสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 87 ตู้ และ 41 ตู้ โดยขนมาจากท่าเรือย่างกุ้งเข้าสู่ท่าเรือเกาะสอง ต่อมายังท่าเรือระนอง ซึ่งเรือทั้งสองลำจะขนเอาสินค้าจากประเทศไทยกลับไปยังกรุงย่างกุ้ง โดยเรือ BEYPORE SULTAN จะขนกลับไป 30 ตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนเรือ MCL-4 จะขนกลับไป 28 ตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าที่จะส่งออกไปจะเป็นสิค้าสุขภัณฑ์ สายไฟฟ้าและเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น นี่เป็นเพียงเที่ยวทดลองเที่ยวแรก คิดว่าในอนาคตจะมีเที่ยวที่สองและต่อๆ ไปครับ 

อาจจะมีคำถามว่าทำไมสินค้าส่งออกมาทางเรือด้วยตู้คอนเทนเนอร์ จึงมีความสำคัญอย่างไร? ผมต้องขออธิบายว่า ประเทศเมียนมาได้มีการคิดภาษีนำเข้าสินค้า ระหว่างการนำเข้าทางชายแดนกับการนำเข้าทางท่าเรือแตกต่างกันประมาณ 20% ของมูลค่าสินค้า ที่คิดจากราคา C&F ท่าเรือย่างกุ้ง โดยที่มาจากการค้าระหว่างประเทศแบบปกติ จะมาจากการขนส่งผ่านทางท่าเรือ ซึ่งจะเขาจะคิดอัตราภาษีนำเข้าที่สูงกว่าการค้าชายแดน เพื่อไม่ให้สินค้าที่มาจากชายแดนเสียเปรียบสินค้าที่มาจากท่าเรือ ซึ่งที่ผ่านๆ มาทางการเมียนมาเขามักจะเหมารวมว่า หากสินค้าที่ใส่ตู้คอนเทนเนอร์และนำเข้ามาทางท่าเรือ ก็หมายถึงสินค้าที่เป็นการค้าระหว่างประเทศปกติเสมอ

ในขณะที่หากการค้าชายแดน ด้วยวิธีการขนส่งทางรถบรรทุก หรือถ้าเป็นการขนส่งมาทางเรือ ก็ต้องเป็นเรือบรรทุกสินค้าเทกอง หรือที่เรียกว่าเรือบาคร์ (Bulk Carrier)เท่านั้น ซึ่งในครั้งนี้ได้เริ่มเปิดให้เรือที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เป็นการค้าชายแดนได้ จึงนับว่าเป็นการเปิดกว้างให้การค้าชายแดนอย่างมากเลยครับ 
 


ส่วนสินค้านำเข้าครั้งนี้เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็ต้องมองว่า เป็นการแก้ปัญหาตามฤดูกาลจริงๆ เพราะการอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเมียนมา เข้ามาสู่ประเทศไทยโดยใช้โควต้าปราศจากภาษี ทุกปีจะมีช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคมเท่านั้น ในขณะที่ระยะที่ผ่านมาได้เกิดความไม่สงบขึ้นที่ชายแดนเมียวดี ทำให้การขนส่งสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เป็นปัจจัยในการผลิตอาหารสัตว์ที่สำคัญของเรา ได้ขาดช่วงไประยะหนึ่ง จึงต้องมีการเร่งขนส่งเข้ามาก่อนโควต้าปราศจากภาษีจะปิดลง เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการค้าระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นอย่างยิ่งครับ

ด้วยประสบการณ์การค้าชายแดนและการค้าระหว่างประเทศร่วมสามสิบห้าปี ส่วนตัวผมเชื่อว่า หากเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมาเงียบลง หรือหากการคมนาคมของเมืองเมียวดี-กรุงย่างกุ้งดีขึ้น หรือทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ การค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ก็จะต้องกลับไปใช้เส้นทางเดิมที่แม่สอด-เมืองเมียวดีเหมือนเดิม เพราะด้วยระยะเวลาการขนส่ง ความสะดวกในการขนส่งภายในทั้งสองประเทศ และอัตราค่าใช้จ่าย ช่องทางเดิมก็จะยังคงเหนือกว่าอยู่นั่นเองครับ การใช้ช่องทางเรือขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ในครั้งนี้ น่าจะเป็นแค่ “ทางเลือกเฉพาะกิจในห้วงไม่สงบ” ของการค้าชายแดนเท่านั้นครับ