มหัศจรรย์เศรษฐกิจเมียนมา

02 มิ.ย. 2567 | 22:00 น.

มหัศจรรย์เศรษฐกิจเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

การปรับตัวอ่อนค่าของเงินจ๊าดในช่วงเดือนที่ผ่านมา น่าจะสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนอย่างมาก เพราะเป็นการปรับตัวที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องยากของธนาคารกลางของเมียนมาที่จะแก้ไขได้ ทำให้เราได้เห็นค่าเงินที่ต่ำสุดหรือที่เรียกว่า New Low เกิดขึ้น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเกิดจากผลพวงของการสู้รบทางด่านชายแดนเมียวดี-แม่สอด ระหว่างกลุ่มนักรบชนชาติพันธุ์กระเหรี่ยงหลายฝ่าย กับทหารรัฐบาลเมียนมา และสรุปโดยรวมว่า ทุกอย่างได้เข้าสู่ความสงบอีกครั้ง เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลของการสู้รบครั้งนี้ สร้างความไม่ไว้วางใจให้แก่การค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก จึงนำมาซึ่งการค้าชายแดนได้หยุดชะงักไปชั่วขณะหนึ่ง แม้ว่าต่อมาจะกลับคืนมาบ้าง แต่ก็ไม่สามารถชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปนั้นได้ นี่คือความโชคร้ายของประชาชน ที่ต้องมาแบกรับภาระที่เกิดขึ้นนั่นเองครับ

ในช่วงของปลายเดือนที่ผ่านมา ผลจากการสู้รบทางด้านด่านชายแดนเมียวดีนั้น ได้สร้างความเสียหายที่มองไม่เห็นให้แก่ประเทศเมียนมาอย่างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศเมียนมาหลังจากถูกการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า หรือการแซงชั่นจากชาติตะวันตก ทำให้การค้าระหว่างประเทศของเมียนมา ลดลงอย่างมาก (ตัวเลขที่แท้จริง ไม่สามารถหามาให้พวกเราเห็นได้) การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือที่เรียกว่า Foreign Direct Investment : FDI ลดลงอย่างมาก ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก

ทางการเมียนมาจึงหวังพึ่งการค้าระหว่างประเทศมาชดเชยการลงทุน แต่ก็ยากที่จะทำได้ เพราะการแทรกแซงจากชาติตะวันตก ทำให้เมียนมาไม่สามารถที่จะทำการค้าระหว่างประเทศทำได้ จะมีเพียงชาติพันธมิตรของเมียนมาบางประเทศ ที่ยังมีความสัมพันธ์พิเศษและประเทศที่มีชายแดนติดกับเมียนมาเท่านั้น ที่ยังคงมีการค้าต่อกัน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น

ในช่วงวันที่ 24 -27 เมษายนที่ผ่านมา ตามที่ผมได้ไปเยือนเมียนมา และได้ไปพบกับทั้งภาคเอกชนและภาครัฐของเมียนมา ก็ได้ยินจากปากของเขาว่า เขาต้องขอบคุณและชื่นชมประเทศไทย ที่ไม่ได้ทิ้งเขาไปอย่างไม่ใยดีเหมือนบางประเทศ ในขณะที่การค้าระหว่างประเทศของไทย-เมียนมา 80% เป็นการค้าชายแดน และส่วนใหญ่มาจากด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดีนี่แหละครับ เมื่อปัญหาการสู้รบที่ส่งผลกระทบมาสู่การค้าระหว่างประเทศ จึงสร้างความเสียหายให้แก่การค้าระหว่างประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงส่งผลทางตรงไปยังเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างหนักหน่วง ผลดังกล่าวนำมาซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่ตกหล่นลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จากเดิมที่เงินจ๊าดก็อ่อนค่าลงมากอยู่แล้ว เพราะในช่วงก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐต่อเงินจ๊าดเมียนมา อยู่ที่ 1: 1,340 ต่อมาหลังจากนั้นก็หล่นลงมาอยู่ที่ 1:1,380

 

พอสถานการณ์ขาดแคลนเงินสกุลต่างประเทศหนักหน่วงมากขึ้นตามลำดับ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ก็ได้ดำดิ่งลงไปต่ำสุดที่ 1: 4,600 จ๊าด หลังจากนั้นก็มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเงินมาอยู่ที่ 3,200-3,500 จ๊าด ซึ่งก็ยืนอยู่มายาวนานเป็นระยะเวลาเกือบสองปี จนกระทั่งมาเกิดเหตุที่เมืองเมียวดีเมื่อเดือนเมษายน อัตราแลกเปลี่ยนก็ยืนระยะมาอยู่ประมาณนั้น แต่ต่อมาเข้าสู่เดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะปลายเดือน ผมมาเริ่มสังเกตเห็นตอนปลายๆ แล้ว เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนมาอยู่ที่ 4,200 จ๊าด และเข้ามาถึงต้นอาทิตย์ ในวันที่ 28 พฤษภาคม อัตราแลกเปลี่ยนก็หล่นต่อ อยู่ที่ 4,250 และในวันที่ 29 พฤษภาคม อยู่ที่ 4,500-4,550 ซึ่งวันที่ 31 พฤษภาคมหรือเมื่อวานนี้ อัตราแลกเปลี่ยนตกลงมาต่ำสุดหรือ New Low อยู่ที่ 5,000 จ๊าดต่อ 1 US$ ซึ่งในชีวิตผม นี่คืออัตราแลกเปลี่ยนที่ย่ำแย่ที่สุดของเมียนมาเลยครับ

อาจจะมีคำถามว่า เหตุการณ์เช่นนี้ทางรัฐบาลเมียนมาทราบหรือเปล่าว่าจะเกิดปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนจะปรับตัวรุนแรงเช่นนี้ ผมเชื่อว่าเขาต้องทราบมาก่อนแล้วละครับ เพียงแต่อาจจะไม่เชื่อว่าจะรุนแรงเหลือจะรับมือได้ สังเกตจากปฎิกริยาของทางการเมียนมาก่อนจะเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน ธนาคารกัมโบซ่า(KBZ Bank) ที่รัฐยะไข่ ได้สั่งให้พักการดำเนินธุรกิจชั่วคราว อีกทั้งรัฐบาลได้มีคำสั่งเรียกให้ผู้ประกอบการนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์บางบริษัท ที่จัดงานในกรุงย่างกุ้ง เพื่อขายคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เข้าไปชี้แจง

ข่าวลือเล่ากันว่า เพื่อจะตรวจสอบการเงินที่ไหลออกไปต่างประเทศ ซึ่งตามที่ผมได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ชาวเมียนมาหลายท่าน เขาเชื่อว่า เป็นการสอบสวนเพื่อควบคุมเรื่องของเม็ดเงินสีเทาๆ ไม่ให้ดำเนินการได้สะดวก หรืออาจจะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูก็เป็นไปได้ครับ หรืออาจจะป้องปรามไม่ให้ประชาชนใช้จ่ายเงินนอกประเทศ ที่อาจจะทำให้เงินตราต่างประเทศไหลออกไป นั่นก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่ทำให้คนมีกระตังค์ชาวเมียนมา เริ่มไม่มั่นใจในค่าของเงินจ๊าด ก็จะเป็นการเร่งให้มีการเสาะหาเงินต่างประเทศเข้าไปเก็บไว้ในกระเป๋าตนเอง จึงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนไหลลงอย่างรวดเร็ว 

นอกจากนี้ ประชาชนบางส่วนเริ่มจะหาทางซื้อสินทรัพย์อื่น เพื่อเก็บออมง่ายกว่าเงินสกุลจ๊าดของตนเอง ทางเลือกอีกหนึ่งนั้นก็คือ “ทองคำ” แม้ในวันนี้มูลค่าทองคำในตลาดโลก จะมีมูลค่าปรับสูงขึ้นมาก แต่ที่เมียนมากลับปรับสูงมากกว่าในตลาดโลกเสียอีก  เชื่อว่าไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า สุดท้ายจะมีมูลค่าเท่าใด? ก็เหมือนกับอัตราแลกเปลี่ยนนั่นแหละครับ คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดครับ

สำหรับคนที่ลงทุนหรือทำการค้าอยู่ที่นั่นแล้ว คงจะลำบากไม่น้อย เพราะวันนี้สินค้าขายออกไป พรุ่งนี้ซื้อคืนยังไม่ได้เท่ามูลค่าของสินค้าที่ขายไปนั้นเลยครับ ส่วนคนที่เอาเงินไปลงทุนก่อนหน้านี้ก็เช่นกัน เงินที่ลงทุนไปในช่วงก่อนหน้านี้ จะต้องทำกำไรมากกว่าเดิมอีก 4-5 เท่า ถึงจะคืนทุนได้ คงได้แต่รอวันเวลาให้สถานการณ์ปรับตัวให้ดีขึ้นเท่านั้นแหละครับ ผมก็ได้แต่เอาใจช่วยทุกท่านนะครับ