บทบาทของหม่าอิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวันกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนสองฟากฝั่งทะเล

14 ก.ค. 2567 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2567 | 01:03 น.

บทบาทของหม่าอิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวันกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนสองฟากฝั่งทะเล คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ทุกปีของเดือนกรกฎาคม เพื่อเป็นการระลึกถึงท่านซุนยัดเซ็น ผู้เป็นบิดาแห่งประเทศจีน ผู้ที่ได้เข้ามาก่อตั้งสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทยเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทางสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทยจะต้องมีการจัดสัมมนาเชิงวิชาการ เพื่อรำลึกถึงท่านซุนยัดเซ็นเสมอ ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยในปีนี้ทางสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย ได้รับเกียรติจากท่านอดีตประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่ว เข้ามาเป็นองค์ปาฐกให้ โดยครั้งนี้ท่านจะบรรยายในหัวข้อเรื่อง “สันติภาพและความสัมพันธ์ระหว่างสองฟากฝั่งทะเลจีน” ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีของพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ที่จะได้รับรู้ข่าวสารในด้านสันติภาพของสองฝั่งทะเลจีน อันเป็นที่จับตามองของหลายๆประเทศอยู่ในขณะนี้ครับ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ที่ผ่านมาประเทศจีนได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองประเทศ โดยมีประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนกับจีนไต้หวัน ซึ่งในอดีตเรามักจะเรียกไต้หวันว่า “ประเทศสาธารณรัฐจีนหรือจีนคณะชาติ” อันเกิดจากการที่เมืองภายในประเทศจีน ที่มีการฝักใฝ่ลัทธิทางการปกครอง หลังสงครามโลกครั้งที่สองประเทศจีนได้ถูกแบ่งแยกมาตั้งแต่ปีค.ศ.1949

โดยทางฝ่ายของฝักใฝ่ลัทธิการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์เป็นผู้ชนะ จึงได้ปกครองประเทศจีนเกือบทั้งหมด ขณะที่ผู้พ่ายแพ้อย่างจีนคณะชาติที่ฝักใฝ่ลัทธิการปกครองแบบไตยประชาโดยพรรคก๊กหมินตั๋ง จึงได้ถอยร่นไปยังเกาะไต้หวัน จนกระทั่งทุกวันนี้

แม้ในช่วงแรกที่ถอยรนมา จะได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ ที่ให้การรับรองเพียงจีนเดียวในยุคสงครามเย็น แต่ต่อมาในปีค.ศ.1971 สหประชาชาติก็หันไปสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้ง ทำให้ไต้หวันต้องถูกโดดเดียวจากประชาคมโลก แม้กระทั่งธงชาติของสาธารณรัฐจีนที่มีความหมายว่า “ท้องฟ้าครามดวงตะวันสีขาว” ก็ยังถูกให้หันมาใช้ธงชาติแบบใหม่ ที่เราเห็นๆ กันในการแข่งขันกีฬาสากลทุกประเภท เพลงชาติที่กล่าวถึงลัทธิไตยประชา ก็ได้ถูกประชาคมโลกไม่ยอมให้ใช้ในทุกสถานการณ์ ทำให้เป็นที่น่าสะเทือนใจต่อคนที่รักชาติของจีนคณะชาติในอดีตเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกกีดกันหรือไม่เป็นที่ยอมรับ ไต้หวันก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้กับสถานการณ์มาจนถึงทุกวันนี้ครับ

ในขณะที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝั่งทะเล แม้จะลุ่มๆ ดอนๆ มาโดยตลอด แล้วแต่สมัยของการปกครองของฝั่งไต้หวัน ซึ่งหากมองจากมุมของพวกเราชาวจีนโพ้นทะเล ก็สามารถรับรู้ได้จากนโยบายของประธานาธิบดีของไต้หวันและจีนในแต่ละยุคสมัย ซึ่งในปลายสมัยของประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค ผมได้ไปเรียนหนังสือที่ไต้หวัน จนกระทั่งถึงสมัยของท่านประธานาธิบดีเจียงจิงกั๋ว ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝากฝั่ง ยังค่อนข้างจะตรึงเครียดมาก เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าเป็นยุคของผู้พ่ายแพ้และสูญเสียอำนาจ ซึ่งประธานาธิบดีเจียงจิงกั๋วเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ต่อจากประธานาธิบดีคนที่ 2 คือท่านแหยนเจียก้าน

ในขณะที่ต่อมาได้มีท่านประธานาธิบดีหลี่เตินหุย เป็นท่านที่ 4 ประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยนเป็นท่านที่ 5 ประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่ว เป็นท่านที่ 6 ประธานาธิบดีช่ายอิงเหวิน เป็นท่านที่ 7 และปัจจุบันนี้ ท่านประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ซึ่งเพิ่งจะชนะการเลือกตั้งในวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมานี้ครับ ในความรู้สึกส่วนตัวของผมเอง ผมมีความรู้สึกว่ายุคของสมัยของท่านประธานาธบดีหม่าอิงจิ่ว น่าจะเป็นยุคที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝากฝั่งดีที่สุดก็ว่าได้ครับ 

ผมจึงขอนำเอาความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน มาเล่าให้ฟังคร่าวๆ ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญและซับซ้อนที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกก็ว่าได้ ความสัมพันธ์นี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ท่านหม่าอิงจิ่ว (馬英九) อดีตประธานาธิบดีของไต้หวันท่านที่ 6 (ปีค.ศ.2008-2016) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งทะเลจีนให้มีความราบรื่นและสร้างสรรค์ที่สุดก็ว่าได้  โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการค้า ในช่วงที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งอยู่ ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ได้ลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจหลายฉบับ ซึ่งรวมถึง ข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Framework Agreement: ECFA) ซึ่งช่วยเพิ่มการค้าระหว่างสองฝั่งทะเล และช่วยลดข้อจำกัดทางการค้าและการลงทุน ข้อตกลงนี้เป็นเสาหลักในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย และมีส่วนช่วยในการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่

นอกจากนี้ หม่าอิงจิ่วยังได้ส่งเสริมการเดินทางระหว่างสองฝั่งทะเล ทำให้การเดินทางระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น มีการเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างเมืองต่าง ๆ ของไต้หวันและเมืองสำคัญในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว การเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้นนี้ช่วยให้ประชาชนจากทั้งสองฝั่งทะเลสามารถพบปะและสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้มากขึ้น

ถึงแม้ว่าหม่าอิงจิ่วจะประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ยังมีข้อกังวลและความท้าทายอยู่บ้าง ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความตึงเครียดทางทหารระหว่างสองฝั่งทะเล ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงจากจีนแผ่นดินใหญ่ในกิจการภายในของไต้หวัน และความเป็นอิสระของไต้หวันในระดับสากล แม้จะมีการเจรจาและความพยายามในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี แต่ปัญหาด้านความมั่นคงและการทหารยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญ จีนแผ่นดินใหญ่ยังคงมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของตน ซึ่งเสมือนว่าจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ยอมรับการเป็นอิสระของไต้หวัน ขณะที่ไต้หวันมุ่งหวังที่จะรักษาความเป็นอิสระและเสรีภาพของตน ทำให้การเจรจาและความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งทะเลยังคงมีความซับซ้อนและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

ดังที่กล่าวมา ผมจึงคิดว่าการมาของท่านครั้งนี้ ท่านจะมาบรรยายให้ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยเราฟังว่า ท่านมีมุมมองอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่หาฟังได้ยากมาก ในขณะที่ทางสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทยได้จัดงานนี้มาให้พวกเราได้รับฟังกัน งานนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคมเวลา 13:00 น. ณ โรงแรมแชงการีล่า ถนนเจริญกรุง ท่านสามารถเข้าร่วมรับฟังได้ฟรี ไม่มีค่าบัตรผ่านประตูแต่อย่างใดครับ เพื่อไม่ให้พลาดการเข้าร่วมสัมมนา ท่านสามารถโทรศัพพ์มาจองที่นั่งได้ที่ 02-236-7777 ตั้งแต่วันนี้นะครับ ที่นั่งมีจำนวนจำกัดครับ