ช่วงที่ผ่านมา พวกเราคงได้เห็นภาพน้ำท่วมหนักจากภัยของพายุไต้ฝุ่นยางิ ที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดพะเยา เชียงใหม่ เชียงราย ซึ่งผมก็ต้องขอแสดงความเสียใจไปกับผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ด้วย สิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมภาคเหนือ ผมคงไม่ต้องรื้อพรมค้นหาเข็มหรอกนะครับ เพราะผมเชื่อว่า พูดไปก็เปล่าประโยชน์ เพราะไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ อีกทั้งสาเหตุที่แท้จริงอาจจะเกิดขึ้น ก็เป็นปัญหาหมักหม่มมานานมากแล้ว เอาเป็นว่าต่อไปเราชาวไทยต้องนำเอามาเป็นอุทาหรณ์ ต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมของธรรมชาติกันไว้ เพื่อตัวเราและลูกหลานของเราครับ
สิ่งที่เห็นในวันนี้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ถูกกระหน่ำด้วยน้ำผสมโคลน บางบ้านโคลนท่วมเกือบถึงหลังคา ซึ่งภาพที่ออกมาทางสื่อต่างๆ เห็นแล้วน่าเห็นใจมาก แต่ในโชคร้ายยังมีโชคดีอยู่บ้าง เพราะประเทศไทยเรามีกลุ่มจิตอาสาและทหารหาญ ที่ออกมาช่วยเหลือกันตั้งแต่วันแรกของอุทกภัยในครั้งนี้เลย ส่วนภาครัฐเอง แม้จะออกมาช้าไปนิด แต่ก็ยังดีที่ได้ออกมา เห็นแล้วก็เหมือนดูหนังไทยเลย ที่พระเอกหรือตำรวจจะต้องออกมาทีหลังก่อนหนังจบเสมอ
สิ่งที่เห็นในติ๊กต๊อกและสื่อออนไลน์อีกชิ้นหนึ่ง คือภาพที่มีสาวเมียนมา(ไทยใหญ่)คนหนึ่ง ที่ออกมาพูด(บ่น)มีใจความว่า เมืองท่าขี้เหล็กที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สายเรา ที่ถูกผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ ก็ได้รับผลกระทบรุนแรงมากเช่นกัน แต่สภาพของความเสียหาย ก็ยังคงไม่มีการเก็บกวาดให้กลับคืนสู่สภาพเดิม อีกทั้งไม่มีการดูแลจากภาครัฐของเมียนมา เหมือนว่าน้องคนนี้จะน้อยอกน้อยใจ ที่เกิดผิดฝั่งประมาณนั้น
หรืออีกคลิปเมื่อวันที่ 14-18 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่เพื่อนผมคุณสมพันธ์ เลียวเจริญ ได้พากลุ่มสมาชิกโรตารี่แม่จัน เพื่อนๆ ชาวอำเภอแม่จันและอำเภอแม่สาย ได้ร่วมกับมูลนิธิฝู่เตอะ ท่าขี้เหล็ก เข้าไปที่ตลาดท่าหล่อ เมืองท่าขี้เหล็ก เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่นั่นบ้านเรือนยังไม่สามารถเคลียร์สำเร็จ ยังอยู่ในสภาพที่จมอยู่ในดินโคลนกันอยู่ ซึ่งคาดว่าอีกหลายวันกว่าจะเคลียร์จบ เพราะตามที่ผมเห็นในวีดิทัศน์ที่ส่งมาให้ดู ค่อนข้างจะหนักกว่าพื้นที่ในฝั่งอำเภอแม่สายมาก นี่เป็นเพียงฉากทัศน์หนึ่ง ที่เราได้เห็นสภาพหลังจากน้ำท่วมในประเทศเมียนมาเท่านั้นครับ
ที่พูดเช่นนี้ว่าเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ พื้นที่ ที่ปีนี้ประเทศเมียนมาโชคร้ายมาก ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในปีนี้ ในความเป็นจริงแล้ว อุทกภัยดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่ไทยเราก็โดนไปด้วยเช่นกัน เพราะอุทกภัยครั้งนี้ เกิดจากพายุอิทธิพลพายุยางิ ซึ่งลดระดับจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นเป็นพายุดีเปรสชัน ซึ่งเป็นปัจจัยของน้ำท่วมหนักในรอบเดือนกันยายน ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่บริเวณที่แม่สาย เชียงราย เชียงใหม่ และส่งผลต่อจังหวัดริมแม่น้ำโขงในภาคอีสานบางส่วนเท่านั้น
เจ้ายางิยังได้เหมารวมจากประเทศเวียดนาม ลาวแล้วจึงเข้าไทย ต่อไปจนถึงประเทศเมียนมา ด้วย ความรุนแรงของยางิ อย่างที่เราเห็นนั่นแหละครับ ในขณะที่ประเทศเมียนมา ก็ไม่ค่อยได้เห็นข่าวมากนัก เพราะอาจจะเป็นเพราะว่าช่วงนั้นในประเทศไทยเรา ก็สาหัสมากอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าในช่วงนั้น หากมีนักข่าวคนใดกล้าที่จะรายงานข่าวประเทศเพื่อนบ้านมาก เดี๋ยวคงได้เห็นรถทัวร์มาจอดเต็มหน้าบ้านแน่นอนครับ
ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศเมียนมาจะโดนพายุทั้งไต้ฝุ่น พายุดีเปรสชัน เข้ามาเยี่ยมเยือนทุกปีก็ว่าได้ หนักบ้างเบาบ้าง บางปีก็โดนไปหลายลูก จนทำให้ช่วงฤดูฝนทุกปี ในกรุงย่างกุ้งเราจะเห็นอาสาสมัครชาวเมียนมาหลายๆ หน่วยงาน เดินกันเต็มบนถนนในทุกสี่แยก เพื่อขอเรี่ยไรปัจจัยไปช่วยอุทกภัยเป็นประจำ ตั้งแต่ผมอยู่ที่นั่นมาสามสิบกว่าปี จะเห็นแทบทุกปีเลยครับ ถ้าปีไหนไม่เห็นนั่นสิแปลก
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เพราะเมียนมามีแม่น้ำสายสำคัญอยู่สองสายใหญ่ คือแม่น้ำสาละวินทางฝั่งขวาหรือทางทิศตะวันออก ส่วนทางฝั่งซ้ายหรือฝั่งตะวันตก จะเป็นแม่น้ำอิระวดี นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำสายรองอีกหลายสิบสาย นี่น่าจะเป็นอภินันทนาการจากพระเจ้ากระมั้ง ที่สร้างให้ประเทศเมียนมา เป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง เรียกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บนภูเขามีป่าไม้ ใต้พื้นดินมีอัญมณี”
ในส่วนของแม่น้ำที่เป็นช่องทางในการระบายน้ำสู่ทะเล ในทางฝั่งตะวันออกที่เป็นแม่น้ำสาละวิน น้ำจะไหลออกทะเลที่เมืองเมาะละแหม่ง (Mawlamyine) นั้น ปากน้ำจะกว้างมาก หากใครเคยเดินทางไปเที่ยวที่นั่นมา ก็จะเห็นว่าช่วงที่แม่น้ำสาละวินไหลมาถึงเมืองเมาะตะมะ (Moke Ta Ma) จะเป็นสี่แยกแม่น้ำ สายแรกเป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากพะอาน จะมาไหลรวมกับแม่น้ำอีกสาย ที่ไหลมาจากสายที่สองจากเมืองซาตะปิ่น (Zar Ta Pyin) จากนั้นสายที่ไหลตรงไปทางทิศใต้ ก็จะตรงออกไปจากสี่แยกแม่น้ำที่เมืองเมาะตะมะ เพื่อไหลออกทะเลที่เมืองเมาะละแหม่ง
ส่วนอีกสายหนึ่งก็จะไหลไปทางทิศตะวันตก เพื่อออกสู่ทะเลที่เมืองอันลา (Ahlat) ถ้าเรามาพิจารณากันดูจากการไหลและความกว้างของปากแม่น้ำแล้ว ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเรายังแคบกว่าปากแม่น้ำของเขาเยอะมาก ก็ไม่น่าจะมีน้ำท่วมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวบ้านที่อยู่ตามชายขอบแม่น้ำ จะถูกน้ำท่วมทุกปีเลยครับ
ในส่วนของแม่น้ำอิยะวดีก็เช่นเดียวกัน แม่น้ำอิยะวดีที่ไหลลงมาจากรัฐกระฉิ่น ตอนเหนือของประเทศเมียนมา ไหลผ่านมาหลายรัฐ เช่น รัฐกระฉิ่น รัฐสะกาย รัฐมัณฑะเลย์ รัฐมะไกว รัฐพะโค(บางส่วน) ก่อนจะเข้าสู่รัฐอิยะวดี แล้วจึงแตกออกเป็นแม่น้ำสายต่างๆ อีกสิบกว่าสาย รวมทั้งสายที่ผ่านไปยังกรุงย่างกุ้งด้วย ถ้าดูตามแผนที่ทางภูมิศาสตร์แล้ว ก็ไม่น่าจะมีน้ำท่วมได้เช่นกัน เพราะแม่น้ำน่าจะไหลผ่านทะลุทะลวงได้ง่ายๆ แต่ก็มีน้ำท่วมทุกปีเช่นกัน โดยเฉพาะที่เมืองมัณฑะเลย์ เราจะเห็นช่วงปลายฤดูร้อนก่อนเข้าฤดูฝน ชาวบ้านจะหอบลูกจูงหลาน มาพร้อมกับสัตว์เลื้ยง เช่น วัว ควาย หมู หมา มากันครบ เพื่อมาจับจองข้างริมถนนหลวง แล้วปลูกกระต๊อบชั่วคราวเพื่อหนีน้ำท่วม มาอยู่กันเต็มไปหมดเลยครับ
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ ก็มีหลากหลายเหตุผลในสายตาของผม ไว้โอกาสหน้าผมจะเล่าให้ฟังต่อนะครับ เพราะบทความตอนนี้หน้ากระดาษหมดเสียแล้วครับ เอาไว้รออ่านโอกาสต่อไปนะครับ