เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานสัมมนา 5 ปี จีโนมิกส์ประเทศไทย “พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน - หนุนงานวิจัย” ก้าวสู่การพัฒนาระบบสุขภาพและอนาคตการแพทย์ไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งในงานได้มีผลงานทั้ง 5 ปีที่ผ่านมา รายละเอียดผมเชื่อว่ามีสื่อหลายสำนักได้นำเสนอไปบ้างแล้ว ดังนั้นคงไม่ขอเจาะลึกนะครับ วันนี้อยากจะนำเอามุมมองส่วนตัวของผม ในฐานะคนที่เรียนสาธารณสุขศาสตร์มาเล่าสู่กันฟังแบบให้เข้าใจง่ายๆ นะครับ
อันที่จริงหลายๆ ท่านคงจะทราบดีว่า ร่างกายของมนุษย์เราทุกคน หนีไม่พ้นจะต้องมี Genomics อยู่ในตัวเราเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ อีกทั้งผมเองก็ได้เปิดไปดู 14 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตามที่ได้รับคำแนะนำจากท่าน รศ.ดร.พรรณี บัญชรหัตถกิจ อาจารย์ที่สอนผมมา
จึงได้รู้ว่า Genomics คือหนึ่งในโลกธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่กำลังคืบคลานเข้ามาสู่ตัวเราอย่างเต็มรูปแบบไปแล้ว ดังนั้นเพื่อจะทำให้ตัวเองไม่ตกยุค ผมจึงเข้าไปศึกษาเรื่องนี้ ด้วยการสืบค้นหาบทความวิจัยจากแหล่งต่างๆ มานั่งอ่านเพื่อจะได้ตามโลกยุคใหม่ให้ทัน
จากการอ่านจึงทราบว่า ไม่เพียงแต่เรื่องของพันธุกรรม ที่จะต้องเข้าถึง Genomics เท่านั้น ยังมีโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ก็ผ่านมาทาง Genomics ทั้งสิ้น ดังที่ผมได้ไปนั่งฟังในงานสัมมนาที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยได้มีแผนปฏิบัติการบูรณาการ จีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 (Genomics Thailand) ซึ่งเป็นแผนงานที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อ 26 มีนาคม 2562
โดยได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยประสานกลางขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรมชาวไทย จำนวน 50,000 ราย สำหรับสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมคนไทยจาก 5 กลุ่มโรค อันประกอบด้วย โรคมะเร็ง โรคหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเภสัชพันธุศาสตร์
เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ การวิจัย การบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุข ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนระบบบริการทางการแพทย์ของประเทศให้ดียิ่งขึ้น โครงการดังกล่าวรัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และให้การสนับสนุนในเชิงหลักการ
อีกทั้งยังได้จัดสรรงบประมาณมาให้ก่อน ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2563-2567 รวมประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยเลย เท่าที่ฟังในวันนั้น ทราบว่าเม็ดเงินดังกล่าว ไม่ได้ใช้หมดตามจำนวน
ซึ่งผมเองก็มีความรู้สึกเสียดายแทนคนไทย เพราะหากมีนักวิจัยสามารถนำเม็ดเงินดังกล่าว มาวิจัยงานด้านนี้อย่างเต็มที่ ผมเชื่อในความสามารถของคนไทยเรา ว่าน่าจะสร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศเราได้ แน่นอนว่าไม่เพียงแต่จะช่วยให้คนไทยเราเข้าถึงด้านการรักษาพยาบาลหรือสาธารณสุขขั้นสูงได้เท่านั้น ยังสามารถส่งผ่านไปยังภูมิภาคของเรา ไม่ว่าจะเป็นประเทศอาเชียน 10 ประเทศ ที่บางประเทศยังมีความล้าหลังเราอยู่มาก เรายังสามารถช่วยเหลือมวลมนุษยชาติได้อีกด้วยครับ
ในขณะที่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: MS) 6 ประเทศอยู่หลายครั้ง จึงทราบว่าทุกประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงนี้ ประกอบด้วย จีน(พี่ใหญ่) ไทย เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา
ซึ่งทั้งหมดนี้ จะมีเพียงสองสามประเทศรวมทั้งประเทศไทยเราด้วยเท่านั้น ที่มีการเข้าถึงสาธารณสุขพื้นฐานของประชาชน อยู่ในขั้นที่ดี ที่เหลือจะมีความยากลำบากกว่าเราเยอะ ในขณะที่ตัวสปอนเซอร์ใหญ่ของโครงการนี้ คือธนาคารการพัฒนาเอเชีย (Asian development Bank: ADB) ก็ได้มีการระดมความคิดจากภาครัฐและเอกชนทุกประเทศที่เป็นสมาชิก เพื่อเสาะหากรอบแนวคิดในการร่วมมือกันพัฒนา
ผมเองได้มีโอกาสเข้าร่วมในฐานะหนึ่งเป็นผู้แทนภาคเอกชนภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมนำเสนอเรื่องของการพัฒนาด้านสาธารณสุขของภูมิภาคนี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แน่นอนว่าเราไม่ได้มองแค่ด้านสาธารณสุขเท่านั้น ยังมีด้านการศึกษา ด้านสภาพแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านอาหารและการเกษตร เป็นต้น แต่ความสำคัญของทุกๆ ด้านนั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศในประเทศกลุ่มสมาชิกด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเรา ได้ให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาสาธารณสุข ผ่านโครงการ Genomics Thailand ดังที่กล่าวมาแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้ทุ่มทั้งเวลาและงบประมาณลงไป คงอีกไม่นาน ถ้าหากนักวิจัยทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้เข้ามาทำการวิจัยอย่างจริงจัง น่าจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านการแพทย์เกิดขึ้นแน่นอน
จากการที่ได้ไปดูงานจากหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวันและสิงคโปร์ ผมก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นบนโลกใบนี้มากมาย โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีการจัดงานแสดงสินค้าด้านเครื่องมือการแพทย์ (Medical Equipment Exhibition) ซึ่งจะจัดขึ้นปีละหลายๆ ครั้ง แต่ละครั้งจะมีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ มาจัดการแสดงเสมอ เรียกว่าสอง-สามปีไปดูที ก็จะตกเทรนด์ไปเลยครับ
ส่วนที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ไม่น้อยหน้าครับ โดยเฉพาะเรื่องเครื่องมือทางด้านการดูแลผู้สูงวัย เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้ไปเดินดูอาคารขายสินค้าทางด้านเครื่องมือการแพทย์ที่เมืองกวางเจา และไปดูโรงงานทำหุ่นยนต์เพื่อช่วยพยุงผู้ป่วยเดินที่เมืองเฉินตู เพียงแค่ไม่ถึงสามปี เขาพัฒนาไปไกลมาก ของเราแทบจะเรียกว่าล้าสมัยไปไกลเลยครับ ส่วนที่ไต้หวันเองก็เช่นเดียวกัน การแพทย์ของเขาก็มีการคิดค้นเทคโนโลยีด้านการแพทย์ใหม่ๆ ออกมาอีกเยอะมาก ทางด้าน Genomics เขาก็พัฒนาไปไกลมากแล้วเช่นกันครับ ถ้าเราไม่รีบเดินหน้า ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่ง เราคงต้องเป็นเพียง “ผู้ซื้อบริการ” เท่านั้นครับ