ผลของการรักษาโรคด้วยวิธีการถ่ายเลือด

16 ก.พ. 2567 | 20:50 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.พ. 2567 | 01:53 น.

ผลของการรักษาโรคด้วยวิธีการถ่ายเลือด คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

จากบทความของอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงวิธีการถ่ายเลือด (放血治療法 ) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ฉื่อโล้วจื่อเลี๋ยวฝ่า (剌絡治療法) ก็ได้รับความสนใจจากเพื่อนๆ พี่ๆ แฟนคลับพอสมควร มีคำถามจากพี่ไพบูลย์ ซึ่งเป็นเพื่อนจากสโมสรโรตารี เขียนมาถามว่า “คุณกริช ประสบการณ์เรื่องการถ่ายเลือดของคุณน่าสนใจและตื่นเต้นดี แต่อยากถามเพิ่มเติมเพื่อเป็นความรู้ว่า 1.จากการรักษาของกริช ไม่ทราบว่าได้ผลอย่างไร หายไหม? (รักษาครั้งเดียว?) หรือเหมือนเดิม 2.วิธีนี้รักษาโรคอื่นๆ อีกได้ไหม”  

ผมจึงขออนุญาตนำมาตอบในบทความ เพื่อจะได้เป็นการเสริมความเข้าใจกัน แต่ต้องไม่นำการรักษาด้วยวิธีการเช่นนั้นไปทำเอง หรือไปให้คุณหมอที่ยังไม่เชี่ยวชาญทำนะครับ เพราะเป็นเรื่องที่ควรระวังอย่างยิ่ง อีกทั้งตัวผมเองแม้แต่คุณหมอในประเทศจีน ผมก็ยังคงขยาดๆ กับการทำการรักษาแบบนี้เช่นกันครับ

อันที่จริงในประเทศไทยเรา ก็มีอาจารย์แพทย์แผนจีนที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่ได้เล่าเรียนมาทางแพทย์แผนปัจจุบัน แล้วท่านก็ไปต่อยอดแพทย์แผนจีนที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมา ก็ต้องยอมรับว่าท่านมีความสามารถที่เก่งมากๆ หลายท่าน 

ผมก็เคยให้บางท่านมาช่วยรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมของผมเช่นกัน ซึ่งก็ได้ผลดีมากเลยครับ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการรักษาในลักษณะฉื่อโล้วจื่อเลี๋ยวฝ่า (剌絡治療法) ท่านเองก็ยังไม่ได้ทำให้ผมเลยครับ 
       
จากการสืบค้นในงานวิจัยจากช่องทาง Google scholar ด้วยการใช้ Key word เป็นภาษาจีนว่า 剌絡治療法 ก็จะพบบทความที่เกี่ยวกับการรักษานี้มากมาย เอาเฉพาะตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ก็มีงานวิจัยเรื่องนี้มากถึง 2,610 บทความ เรียกว่าอ่านกันไม่หมดเลยละครับ ผมได้เข้าไปอ่านได้ประมาณสิบกว่าบทความเท่านั้น ซึ่งก็เป็นงานวิจัยจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนล้วนๆ 

ส่วนใหญ่จะมากันหลากหลายมณฑลมาก แต่แน่นอนว่าบทความของนักวิจัยเกือบทั้งหมด เป็นของนายแพทย์เป็นส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน สำหรับโรคที่ทำการรักษา นอกจากโรคที่เกี่ยวกับเลือดเกือบทุกชนิด หรือการเปลี่ยนถ่ายเอาเลือดที่ไม่ปกติแล้ว ยังมีโรคที่เกี่ยวกับหัวเข่าเสื่อม และโรคไต โรคเส้นเลือดขอดของหญิงหลังคลอดบุตร โรคสมองเสื่อมหลายๆ ชนิด ที่มีทั้งโรคอัลไซเมอร์(Alzheimer) ดีเมนเทีย(Dementia) พากินสัน(Parkinson’s) สารพัดโรคทางสมอง เป็นต้น 
        
การรักษาส่วนใหญ่ จะทำการรักษาร่วมกับวิธีการรักษาแบบฝังเข็ม และการรักษาแบบครอบแก้วหรือป๋ากว้าน Cupping therapy (拔罐) เป็นหลัก เพราะจะมีความเกี่ยวเนื่องกัน ตามที่พี่ไพบูลย์ถามมาว่า ที่ผมไปทำการรักษามานั้น มีความรู้สึกว่ายังไง? หรือหายมั้ย? ผมก็ต้องบอกว่า เนื่องจากผมทำเพียงครั้งเดียว ก็ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าหายหรือไม่?

ในความรู้สึกส่วนตัวของผม ผมรู้แต่เพียงว่า ในครั้งนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าคุณหมอท่านไม่ได้มีการดูผลการตรวจที่เป็นวิทยาศาสตร์มาก่อนให้การรักษา อีกประการหนึ่งการถ่ายเลือดออกจากร่างกายมากมายขนาดนั้น และไม่มีการพักผ่อนหลังการถ่ายเลือดมากจนเกินไป จึงทำให้ผมแม้จะสามารถรับรู้ว่าดีขึ้นจากอาการปวดคอ บ่า ไหล่ แล้ว ยังทำให้วันรุ่งขึ้นได้มีอาการตัวร้อนเป็นไข้ไปเลยครับ 
       
อย่างไรก็ตาม อาการตามบทวิจัยที่ผมได้อ่านเจอ มีเรื่องหนึ่งที่ผู้วิจัยได้ทำการวิจัยเพื่อพิสูจน์ผลของการใช้การรักษาด้วยการทำ ฉื่อโล้วจื่อเลี๋ยวฝ่า (剌絡治療法) หรือการถ่ายเลือดมารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะนอกเหนือจากการรักษาโรคเลือดหรือโรคชนิดอื่นๆ แล้ว การวิจัยครั้งนี้ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อสังเกตประสิทธิภาพของการรักษาด้วยการถ่ายเลือดร่วมกับการครอบแก้ว และการฝังเข็ม ในการรักษาโรคกลากเรื้อรังชนิดขาดเลือด 

ซึ่งโรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ วิธีการเขาได้ทำการคัดเลือกผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดขาดเลือด ด้วยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ SPSS Random Coding คัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 64 ราย แบ่งออกเป็นกลุ่มควบคุม 32 ราย และกลุ่มบำบัด 30 ราย กลุ่มบำบัดจากการรักษาใช้วิธีการถ่ายเลือดด้วยการทำฉื่อโล้วจื่อเลี๋ยวฝ่า 剌絡治療法 และการรักษาครอบแก้วและการฝังเข็ม 

ส่วนกลุ่มควบคุมจะใช้ครีม mometasone furoate เฉพาะที่ ปรากฏการเปลี่ยนแปลงของคะแนน Visual Analog Scale (VAS) ที่มีอาการคันบริเวณที่เป็นโรคกลาก ดัชนีความรุนแรง (EASI) คะแนนคุณภาพชีวิตของกลากเรื้อรัง (EPQOLS) ในทั้งสองกลุ่มก่อนและหลังการรักษา เปรียบเทียบประสิทธิภาพทางกายภาพของทั้งสองกลุ่ม ผลลัพธ์ หลังการรักษา คะแนน VAS คะแนนบริเวณรอยโรคที่ผิวหนัง และคะแนนประสิทธิภาพทางคลินิกใน EASI ของทั้งสองกลุ่ม ต่ำกว่าก่อนการรักษาอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) 

และคะแนน VAS และคะแนนประสิทธิภาพทางคลินิกของ EASI ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มากกว่ากลุ่มควบคุม (P<0.05)  ที่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในคะแนนพื้นที่รอยโรคที่ผิวหนังของ EASI ระหว่างกลุ่มการรักษาและกลุ่มควบคุมหลังการรักษา (P>0.05) หลังการรักษา คะแนนรวม EPQOLS และคะแนนมิติทางกายภาพ จิตใจ และสังคมในทั้งสองกลุ่ม ต่ำกว่าก่อนการรักษา (P<0.05) 

และกลุ่มบำบัดต่ำกว่ากลุ่มควบคุมหลังการรักษา (P<0.05) อัตราประสิทธิผลรวมในกลุ่มการรักษาคือ 96.7% และในกลุ่มควบคุมคือ 37.5% ความแตกต่างระหว่างทั้งสองกลุ่มมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) สรุป ประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีการถ่ายเลือดหรือ ฉื่อโล้วจื่อเลี๋ยวฝ่า 剌絡治療法 ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีครอบแก้วและการฝังเข็ม ในการรักษากลากเรื้อรังเนื่องจากขาดเลือด จะดีกว่าครีมทาเฉพาะที่ mometasone furoate สามารถบรรเทาอาการคัน ควบคุมโรคผิวหนัง และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยครับ 
       
นี่คือผลบางส่วนที่อ่านเจอ ที่อยากจะนำมาให้อ่านเล่น คนที่อาจจะอ่านบทวิจัยไม่เข้าใจ ก็ไม่เป็นไรอย่าเพิ่งรำคาญนะครับ เอาแค่ทราบว่าเขามีการทำวิจัยแบบเข้มข้นจริงๆ จึงได้ผลออกมาที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้นั่งเทียนนึกเอาว่าใช่ก็พอแล้วครับ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขอย้ำอีกทีว่า แพทย์ที่จะทำการรักษาแบบถ่ายเลือดนั้น ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ นะครับ อย่าได้ไปทำด้วยกับผู้ที่ไม่ใช่แพทย์เป็นอันขาดครับ.......อันตราย !!!!