เมื่อสองวันก่อนตอนประมาณสี่ทุ่มกว่า ผมได้รับข่าวจากเพื่อนสนิทท่านหนึ่งโทรศัพพ์มาแจ้งข่าวว่า เพื่อนอีกคนหนึ่งที่สนิทกันมากในสมัยที่ผมเข้าไปทำธุรกิจที่เวียดนามใหม่ๆ ซึ่งช่วงหลังๆมานี้ เขาได้อพยพไปอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่อาทิทย์ที่ผ่านมา หลังจากที่เขาได้เดินทางมาพักร้อนกับลูกสาวสองคนที่เวียดนามอีกครั้ง และกำลังจะเดินทางกลับไปยังอเมริกา เขาได้แวะท่องเที่ยวที่กรุงไทเป ได้เกิดมีปัญหาโรคหัวใจล้มเหลวกระทันหัน ลูกสาวได้รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ไทเป แพทย์ที่นั่นจึงได้ดำเนินการผ่าตัดโดยเร่งด่วน โดยใช้เวลาผ่าตัดร่วมแปดชั่วโมง จนกระทั้งพ้นขีดอันตราย ในขณะที่กำลังผ่าตัดอยู่นั้น ทำเอาลูกสาวทั้งสอง รวมทั้งญาติๆและเพื่อนฝูง ต่างตื่นตกใจกันใหญ่เลยครับ
ผมเคยเตือนกลุ่มเพื่อนๆเสมอว่า ในยุคที่สังคมโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงวัย จนหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้ว การดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยอย่างพวกเรา ได้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัยก็คือ “ปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดหัวใจ” โดยเฉพาะภาวะเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจแตก (Aortic Dissection) ซึ่งถือเป็นภาวะที่มีความรุนแรงและมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ง่ายๆ ถ้าโชคดีที่เพื่อนผมได้รับการช่วยเหลือทันเวลา แต่บางรายที่ช่วยเหลือไม่ทัน ก็ต้องขึ้นไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้เลยก็มีความเป็นไปได้สูงมาก ดังนั้นพวกเราต้องทราบถึงสาเหตุ ความเสี่ยง การป้องกัน และการรักษาภาวะเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจแตกในผู้สูงวัยไว้บ้างก็ดีนะครับ
อันดับแรกเราควรทราบถึงสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของภาวะเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจแตก ที่เกิดขึ้นเมื่อชั้นในของผนังเส้นเลือดใหญ่ (Aorta) ฉีกขาด ทำให้เลือดไหลเข้าไปในชั้นกลางของผนังเส้นเลือด ซึ่งจะทำให้ผนังเส้นเลือดแยกออกจากกัน อาจนำไปสู่การฉีกขาดของเส้นเลือดทั้งผนังและการเสียชีวิตในที่สุด ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับภาวะนี้ได้แก่ ความดันโลหิตสูง (Hypertension) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ที่ทำให้เกิดการฉีกขาดของผนังเส้นเลือดใหญ่ เพราะโรคความดันโลหิตสูง จะทำให้ผนังเส้นเลือดเสื่อมสภาพและเปราะบางมากขึ้น จึงเกิดการฉีกขาดของเส้นโลหิตใหญ่ได้ง่ายนั่นเอง ส่วนใหญ่โรคหลอดเลือดหัวใจ (Atherosclerosis) มักจะเกิดจากการสะสมของคราบไขมันในผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดแข็งและมีโอกาสฉีกขาดได้ง่ายขึ้นครับ
คนที่มีอาการดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้วจะมีประวัติครอบครัว ซึ่งมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยมีประวัติภาวะเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจแตกมาก่อน อีกอย่างความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ก็จะเพิ่มขึ้น คือการสูบบุหรี่จัดของนักดมควันทั้งหลาย ซึ่งก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และภาวะเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจแตกได้เช่นกัน เพื่อนผมคนนี้ เขาก็เป็นคนที่สูบบุหรี่จัดมากคนหนึ่งเช่นกันครับ อีกประการหนึ่งคือ อายุก็มีส่วนให้เป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน ความเสี่ยงของภาวะเช่นนี้ มักจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่แก่ตัวลง เนื่องจากผนังเส้นเลือดเสื่อมสภาพตามกาลเวลานั่นแหละครับ
คนที่มีอาการของภาวะเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจแตก ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง อาการขั้นต้นที่พบได้บ่อยได้แก่ปวดหน้าอกอย่างรุนแรง อาการปวดจะรู้สึกคล้ายกับการถูกแทง และมักจะลามไปยังหลัง คอ หรือแขน หากพบอาการเช่นนี้ ให้สัญนิษฐานไว้ก่อนว่า หัวใจอาจจะผิกปกติแล้ว อีกอาการหนึ่งคือ ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้สูงวัยอาจพบความดันโลหิตลดลงอย่างเฉียบพลัน หรือความดันโลหิตต่างกันระหว่างแขนทั้งสองข้าง เวลาเราวัดความดันด้วยตนเอง หากมีอาการสูงผิดปกติ ก็ทดลองวัดใหม่ที่แขนอีกข้างหนึ่ง ถ้าหากว่ามีความแตกต่างกันมากผิดปกติ ก็ไม่ควรปล่อยผ่าน ควรเข้าไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจเช็คอาการของหัวใจอีกครั้งนะครับ อีกอาการหนึ่งที่สำคัญ คือผู้สูงวัยอาจมีอาการเวียนศีรษะ หมดสติ หรือช็อกจากการสูญเสียเลือด นี่ก็เป็นอันตรายเป็นอย่างยิ่งครับ ถ้ามีโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ๆ ก็ควรรีบเข้าไปตรวจร่างกายโดยด่วนนะครับ ไม่ต้องอายใครหรอกครับ อย่ารอให้สายจนแก้ไม่ทันนะครับ เชื่อเถอะครับว่า ปัจจุบันนี้คุณหมอท่านเก่ง อีกประการหนึ่ง การวินิจฉัยภาวะเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจแตก จำเป็นต้องใช้การตรวจพิเศษ เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อยืนยันการฉีกขาดของผนังเส้นเลือด ดังนั้นการเข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดครับ
ส่วนการป้องกันและการรักษาภาวะเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจแตก แบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ คือการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและการผ่าตัด มักใช้ในกรณีที่การฉีกขาดไม่รุนแรง ซึ่งก็อยู่ที่การวินิจฉัยของแพทย์ ที่อาจจะใช้วิธีการรักษาเน้นการควบคุมความดันโลหิต และการป้องกันการฉีกขาดเพิ่มเติม ในกรณีของเพื่อนผมคนนี้ มีการฉีกขาดที่รุนแรงมาก แพทย์ต้องใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งเป็นเพราะว่าอาการของเขาเส้นเลือดใหญ่ฉีกขาดไปหลายเซ็นติเมตรแล้ว แพทย์ท่านจึงจำเป็นต้องทำการผ่าตัดโดยเร่งด่วน ยังดีที่ในกรณีนี้ แม้จะมีการฉีกขาดรุนแรง แต่ยังไม่มีอาการช็อค การผ่าตัดแพทย์ยังสามารถทำได้ โดยการซ่อมแซมผนังเส้นเลือดหรือการปลูกถ่ายเส้นเลือดเทียมให้ครับ แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการพักฟื้นอีกนานเลยละครับ
อย่างไรก็ตาม การป้องกันภาวะเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจแตก สามารถทำได้โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การควบคุมความดันโลหิต การรับประทานยาควบคุมความดันโลหิตตามคำแนะนำของแพทย์ และการปฏิบัติตามแนวทางการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม หรือการเลิกสูบบุหรี่ เพราะการเลิกสูบบุหรี่ สามารถลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจแตกได้ครับ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด และลดความดันโลหิตได้ด้วยครับ อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ไขมันต่ำ และลดการบริโภคเกลือ ก็สามารถช่วยลดความดันโลหิต ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นกันครับ
สำหรับผู้สูงวัยอย่างพวกเรา ภาวะเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจแตก เป็นเรื่องที่มีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัย จึงเป็นเรื่องที่คนแก่อย่างเราไม่ควรมองข้าม ถ้าเรายังอยากจะอยู่ดูโลกอันสวยงามนี้ต่อไปนะครับ