โรคไตเรื้อรังในผู้สูงวัย

24 ส.ค. 2567 | 01:45 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2567 | 01:46 น.

โรคไตเรื้อรังในผู้สูงวัย คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวานนี้ อาจารย์ทางด้านพยาบาลศาสตร์สองท่าน คืออาจารย์ต้นกับอาจารย์ปุ๊ก (ต้องขออภัยที่ใช้ชื่อเล่นท่าน เพราะไม่ได้ขออนุญาตท่านก่อนนำมาเขียน) ได้มาเยือนผม เพื่อมาให้ผมสัมภาษณ์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการดูแลผู้สูงวัย ในการทำดุษฏีนิพนธ์เรื่อง “การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติที่เกษียณอายุของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ กรุงเทพมหานคร” หลังจากที่ผมได้พาท่านไปเยี่ยมชมสถานบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์”ของผม ระหว่างทางที่นั่งรถกลับมา เราได้คุยกันถึงเรื่องของผู้สูงวัยกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเรื่องของสุขภาพของผู้สูงวัยนั่นแหละครับ

อาจารย์ปุ๊กท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคไตเรื้อรัง ท่านได้ถามผมว่า ผมสนใจจัดหาเครื่องฟอกไตมาติดตั้งที่คัยโกเฮ้าส์หรือเปล่า? ผมจึงตอบไปว่า ปัจจุบันนี้การลงทุนเครื่องฟอกไตหนึ่งเครื่อง ก็คงต้องใช้เงินหลายแสนบาท เกรงว่าจะไม่คุ้ม เพราะลูกค้าของเรายังไม่มากพอ อีกอย่างคือเราต้องจ้างพยาบาลผู้ชำนาญการมาประจำ อีกทั้งต้องจัดหาอุปกรณ์และเครื่องผลิตน้ำอาโอ Reverse Osmosis (RO)อีก ท่านก็เลยบอกผมว่า ปัจจุบันนี้ เครื่องไม่จำเป็นต้องซื้อแล้ว เพราะมีบริษัทขายอุปกรณ์การแพทย์ เขาสามารถทำการให้เช่าซื้อได้ อีกทั้งน้ำอาโอ Reverse Osmosis (RO)ก็สามารถหาซื้อได้ง่ายดายมาก ไม่ต้องลงทุนอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่ถ้าเรามีคนไข้ไม่เยอะ บริษัทเขาคงไม่สนใจเราเท่านั้นเอง ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับท่านนะครับ อีกทั้งปัจจุบันนี้ผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยเรา มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ

โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งเป็นภาวะที่การทำงานของไตลดลงเรื่อยๆ ซึ่งวัดได้จากอัตราการกรองของไต (estimated Glomerular Filtration Rate, eGFR) หากอัตราการกรองของไตต่ำจนถึงจุดที่ไตไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ซึ่งการลดลงของการทำงานของไตนั้น สามารถเกิดขึ้นได้อย่างช้าๆ เป็นระยะเวลาหลายปี ในบางครั้งอาจไม่มีอาการเตือนให้ทราบก่อนล่วงหน้า บางคนที่ไม่ได้ใส่ใจ ซึ่งผมเองก็มีคนใกล้ชิดมากๆคนหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น ปกติเธอจะเป็นคนที่แข็งแรงมาก แต่พอเธอเริ่มรู้ตัวว่ามีอาการขึ้นมา ก็สายไปเสียแล้ว แพทย์จำเป็นต้องเจาะไตเพื่อใส่สายยางปัสสาวะเสียแล้วครับ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในผู้สูงวัยมีหลายประการด้วยกัน เช่น โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคไตเรื้อรัง ถ้าหากผู้สูงวัยปล่อยให้ความดันโลหิตที่สูงเป็นเวลานาน จนสามารถทำให้หลอดเลือดในไตเสียหาย ก็จะลดประสิทธิภาพการกรองของไต หรือผู้สูงวัยบางคนที่มีโรคเบาหวาน (Diabetes) ก็จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังได้เช่นกัน เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานาน สามารถทำลายหลอดเลือดในไต และทำให้ไตเสื่อมสภาพ ดังนั้นทั้งสองโรคที่กล่าวมา ต้องระมัดระวังดูแลตนเองให้ดี ควรจะต้องพบแพทย์เป็นประจำ เพื่อรับยาตามคำสั่งของแพทย์ อย่าได้ริอ่านซื้อยามาทานเองโดยเด็ดขาดนะครับ เพราะอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ ก็มาจากการใช้งานยาที่มีพิษต่อไตนี่แหละครับ เป็นเพราะโดยทั่วไปผู้สูงวัยมักจะใช้ยาหลายชนิด เพื่อลดอาการของโรคต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจมีการใช้ยาที่มีผลข้างเคียงที่เป็นพิษต่อไตได้ เช่น ยาโรคความดัน ยาโรคเบาหวานบางตัว หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

อีกสาเหตุหนึ่งที่เราผู้สูงวัยยากที่จะหลีกเลี่ยง คือการเสื่อมสภาพของไตตามธรรมชาติเมื่อมีอายุมากขึ้น ไตก็จะเสื่อมสภาพและสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานตามธรรมชาติ ทำให้ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรังมากขึ้นเป็นปกติ อีกหนึ่งสาเหตุคือนิสัยการชอบทานอาหารที่เค็ม หรืออาหารมักดอง ผมเลยแอบแซวอาจารย์ต้น ที่นั่งอยู่ในรถด้วยกันว่า อาจารย์คงต้องเพลาๆส้มตำปู-ปลาร้ารสแซบๆ ใส่ปลาร้าเยอะๆลงบ้างแล้วละครับ

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีคำถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีอาการโรคไตเรื้อรังแล้ว เพราะอาการของโรคไตเรื้อรัง อาจไม่แสดงให้เห็นชัดเจนในระยะเริ่มแรก จะรู้ก็ต่อเมื่อโรคมีความรุนแรงขึ้น แต่เราก็สามารถสังเกตุอาการข้างเคียง ที่ผู้ป่วยอาจพบอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะน้อยลง หรือมีเลือดในปัสสาวะ บางคนก็อาจจะมีอาการบวมตามร่างกาย โดยเฉพาะที่ขาและเท้า บางคนอาจจะเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน คันผิวหนัง และผิวหนังแห้ง อาการดังที่กล่าวมานี้ ควรเข้าโรงพยาบาลตรวจร่างกายและแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อแพทย์จะได้ทำการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ ดูความผิดปกติของการทำงานของไตได้ นอกจากนี้ถ้าหากว่าแพทย์เห็นว่ามีความจำเป็นอาจจะทำการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ หรือทำการสแกนไต เพื่อหาความผิดปกติในไตได้เช่นกันนะครับ

เมื่อเราพบความผิดปกติของการทำงานของไตในระยะเริ่มต้น บางคนอาจจะใจเสีย ผมต้องบอกว่า โรคทุกชนิดไม่สามารถพ้นมือแพทย์ได้หรอกครับ ถ้าหากว่าเรารู้ก่อนจะเกิดอาการรุนแรง แพทย์ก็จะสามารถช่วยเราได้ทุกโรคแหละครับ นอกเสียจากว่าเราไม่รู้ว่าเป็นโรค กว่าจะรู้ก็สายไปเสียแล้วนั่นแหละครับ เมื่อเป็นเช่นนี้ต่อให้หมอเทวดาที่เก่งแค่ไหน ก็ไม่สามารถช่วยท่านได้ และเมื่อเรารู้ว่าเริ่มมีอาการแล้ว เราก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ในเรื่องการรับประทานยาตามท่านสั่ง อีกทั้งเราต้องรู้ตัวเองว่าอาหารประเภทไหนที่ควรทานหรือไม่ควรทาน? อีกทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน ว่าควรต้องปฎิบัติตัวอย่างไร? ถ้าแพทย์สั่งให้ท่านทำอะไรก็ควรต้องทำตาม อย่าดื้อ!!ถ้ายังไม่ว่างไปเฝ้าพระอินทร์ครับ