เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนเรื่อง การเตรียมตัวเข้าสู่วัยชรา ลงในคอลัมน์นี้ ได้มีเพื่อนหลายท่านที่แสดงความคิดเห็นเข้ามามากพอสมควร ผมคิดว่าน่าจะโดนใจคนที่มีอายุอย่างพวกเรา ที่จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันทุกคน เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเป็นห่วงว่า ในอนาคตหากลูกหลานไม่เอาเรา แล้วเราจะทำอย่างไร? แต่คนที่อ่านแล้วผ่านเลยไป เขาก็คงจะมีลูกหลานที่พอจะฝากผีฝากไข้ได้นั่นแหละครับ
แน่นอนว่าการเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายและจิตใจของมนุษย์ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกเหนือจากปัญหาทางกายภาพที่เกิดขึ้นตามวัย เช่น โรคเรื้อรัง ความเสื่อมสภาพของร่างกาย นอกจากนี้ปัญหาทางสังคมและจิตใจ ยังเป็นประเด็นสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย หรือชีวิตในบั้นปลายของเราชาวผมสีเงินทั้งหลาย ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียบทบาทในครอบครัวและสังคม การสูญเสียคนที่เรารัก หรือการเผชิญกับความเหงาและซึมเศร้า ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ปัญหาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เรื่องที่สำคัญที่สุด ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมเชื่อว่าความเหงาและการขาดการติดต่อกับสังคม เป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยในคนแก่อย่างเรามาก ซึ่งสาเหตุอาจจะเกิดจากการสูญเสียการเชื่อมโยงกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเกษียณจากการทำงาน ที่ผู้สูงวัยที่กำลังเกษียณอายุจากงาน ต้องปรับตัวกับการไม่มีเพื่อนร่วมงาน ไม่มีการทำงานประจำวัน และบางครั้งอาจพบว่ามีเวลาว่างมากเกินไป สิ่งเหล่านี้ทำให้คนชราทั้งหลาย จะรู้สึกว่าเราถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเดียวดาย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่คนเดียวหรือมีลูกหลานที่แยกย้ายไปใช้ชีวิตของตนเอง หรือบางคนที่ไม่ได้แต่งงานมีครอบครัว ก็จะพบมากเป็นพิเศษ
เราจะเห็นว่าการขาดการติดต่อกับสังคม ที่กำลังคืบคลานมาในชีวิตหลังเกษียณอายุ อาจทำให้ผู้สูงวัยเหล่านั้นรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมายในชีวิตอีกต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก ผมเองก็เคยพบเห็นเพื่อนบางคน ที่รู้สึกเป็นเช่นนั้นจากการผ่านการพูดคุย เขามักจะบอกว่า ชีวิตสมัยใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงมากจนไม่อยากที่จะเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไอที หรือเรื่องคอมพิวเตอร์ ทำไมชีวิตต้องยุ่งยากขนาดนั้น ความรู้สึกนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและความเครียด ดังนั้นการสนับสนุนจากคนในครอบครัวเช่นลูกหลานหรือเพื่อนฝูง เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยลดความเหงา ด้วยการให้กำลังใจ ผมมักจะพูดกับเพื่อนๆเหล่านั้นว่า อย่าได้ไปกลัวว่าเราทำไม่ได้ ทุกเรื่องไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะเรียนรู้ ขอเพียงกล้าที่จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ และไม่ต้องอายลูกหลาน เพราะฉะนั้นจงเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ได้ หรือไม่ก็ต้องเปิดโอกาสให้เราเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมหรือชุมชน ก็จะทำให้มีโอกาสน้อยที่จะประสบกับความเหงา และลืมวันเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วได้นั่นเองครับ
การที่เราอายุมากขึ้นหรือพูดง่ายๆคือ “แก่แล้ว” สิ่งที่จะตามมาคือ การสูญเสียบทบาทในครอบครัวและสังคมมักจะเปลี่ยนแปลงไป บางท่านที่เคยมีบทบาทเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นผู้ที่คอยสนับสนุนการทำงานของบุตรหลาน อาจรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถทำหน้าที่เช่นเดิมได้อีกต่อไป การถูกลดบทบาทหรือความสำคัญในครอบครัวเป็นสิ่งที่กระทบต่อจิตใจของผู้สูงอายุ ทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการ ไม่เพียงแต่ในครอบครัวเท่านั้น ในทางสังคมบางคนอาจรู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือไม่ได้รับการยอมรับเท่าเดิม ซึ่งปัญหานี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และยุคเทคโนโลยีใหม่ ๆเข้ามาสู่ชีวิตเรา ที่อาจทำให้เราไม่คุ้นเคย หรือไม่สามารถเรียนรู้ได้เร็วเหมือนคนรุ่นใหม่ การขาดความเข้าใจในเทคโนโลยี ก็จะทำให้เรารู้สึกห่างเหินจากสังคม และยิ่งทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ ในส่วนตัวของผม ผมเองไม่มีทางจะยอมแพ้ให้กับเรื่องดังกล่าว ผมยอมที่จะไปใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาปริญญาเอก เมื่อตอนที่ผมมีอายุ 67 ปี แม้ผมจะไม่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆได้ทันเพื่อนๆนักศึกษา(อนุบาลลูกหมี)รุ่นเดียวกัน แม้ผมจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้มากกว่าเพื่อนๆเหล่านั้น ผมก็ยอมทำ เพียงเพื่อไม่ให้ผมต้องตกยุคไปกับชีวิตที่ล่วงเลยไปทุกวัน เพื่อนๆทุกคนจึงบอกผมว่า “พี่กริชไม่มีทางจะเป็นอัลไซเมอร์อย่างแน่นอน” ผมเชื่อว่าผมไม่มีทางจะยอมมีภาวะซึมเศร้าและปัญหาทางจิตใจเช่นกันครับ
แต่อย่างไรก็ตามผมก็เชื่อว่าเมื่อเรามีอายุมากขึ้น บางครั้งเมื่อเราได้ทราบข่าวว่าเพื่อนคนโน้นจากไป พี่คนนี้เสียชีวิต หรือคนใกล้ตัวต้องไปสวรรค์เสียแล้ว ข่าวเหล่านี้อาจจะบั้นทอนจิตใจเราไปบ้าง จนบางครั้งอาจจะเป็นการสูญเสียสุขภาพจิต หรือการสูญเสียขวัญกำลังใจไปชั่วขณะ แต่ผมมักจะบอกคนที่อยู่ในวัยเดียวกัน ที่กำลังเผชิญอยู่กับเหตุการณ์เหล่านั้นว่า อย่าให้ความเศร้าโศกในการสูญเสียนั้น มาบั้นทอนชีวิตที่เรายังเหลืออยู่ในโลกใบนี้อีกไม่กี่สัปดาห์เลย จงคิดเสียว่านี่คือสัจธรรมในชีวิต ที่ทุกคนหนีไม่พ้นนั่นเอง ถ้าเราคิดได้เช่นนี้ ก็จะทำให้เราไม่ต้องสูญเสียสุขภาพจิตและกำลังใจ ที่จะอยู่กับบั้นปลายของชีวิตเรา จงทำวันนี้ให้มีความสุขที่สุด แล้วเราจะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุขใจเสมอครับ