พยุงราคาดีเซล : กับดักการคลังของไทย

03 ส.ค. 2565 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2565 | 16:38 น.

พยุงราคาดีเซล : กับดักการคลังของไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,806 หน้า 5 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม 2565

หนึ่งในความท้า ทายสำคัญของเศรษฐกิจโลก ขณะนี้คือ การเร่งตัวของเงินเฟ้อและราคานํ้ามัน ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยล่าสุดอยู่ที่เกือบ 8% ในขณะที่ราคานํ้ามันโลก WTI เพิ่มขึ้นราว 50% จากราคาเฉลี่ยในปีที่แล้ว

 

รัฐบาลแทบทุกประเทศรวมถึงไทยได้พยายามใช้หลากหลายมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของการเพิ่มขึ้นราคานํ้ามันนี้ แต่มาตรการเหล่านี้อาจจะสร้างความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต 

 

 

 

เราสามารถแบ่งมาตรการที่รัฐบาลทั่วโลกใช้ได้เป็น 2 แบบกว้างๆ โดยแบบแรกคือการอุดหนุนราคาทั่วไป (Universal price subsidy) ซึ่งหมายรวมถึงการลดหรือยกเว้นภาษีสรรพสามิต ภาษีการขาย และการใช้งบประมาณหรือเงินทุนเพื่ออุดหนุนราคานํ้ามันสำหรับการบริโภคทั่วไป ตัวอย่างของประเทศในกลุ่มนี้ ได้แก่ เวียดนาม สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย 

 

พยุงราคาดีเซล : กับดักการคลังของไทย

 

มาตรการแบบที่ 2 คือ การช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (Targeted fiscal support) ซึ่งหมายถึงการให้เงินหรือความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมาย เช่น ครัวเรือนรายได้น้อย และธุรกิจในอุตสาหกรรมที่กำหนด เป็นต้น ตัวอย่างของกลุ่มนี้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้และเยอรมนี

 

ในกรณีของไทย รัฐบาลเลือกใช้แบบแรก นั่นคือ การอุดหนุนราคาราคาดีเซลแบบทั่วไป ผ่านการเพิ่มอัตราการอุดหนุนของกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง และการลดอัตราภาษีสรรพสามิตชั่วคราว โดยตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลไปแล้ว 2 ครั้ง และล่าสุดอยู่ที่ 1.34 บาทต่อลิตร ตํ่ากว่าอัตราภาษีเมื่อต้นปีราว 5 บาท

 

ในขณะที่รัฐบาลได้ใช้กองทุนนํ้ามันเชื้อเพลงอุดหนุนราคาเฉลี่ย 7-8 บาทต่อลิตรนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ซึ่งสูงกว่าการอุดหนุนในช่วงเดือนมกราคมประมาณ 5 บาท

 

แต่การอุดหนุนนี้สร้างต้นทุนที่สำคัญให้แก่ภาคการคลังของประเทศ การศึกษาของผมชี้ว่าตั้งแต่เริ่มความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในช่วงกุมภาพันธ์ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 ต้นทุนการอุดหนุนนํ้ามันดีเซลสะสมอยู่ที่ราวหนึ่งแสนล้านบาท ซึ่งในช่วง 3 เดือนล่าสุด (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2565) การอุดหนุนเฉลี่ยต่อเดือนสูงถึงประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยกว่า 60% ของต้นทุนนี้มาจากการอุดหนุนของกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง และ 30% มาจากการลดภาษีสรรพสามิต (ดูรูปประกอบ)

 

 

พยุงราคาดีเซล : กับดักการคลังของไทย

 

ยิ่งปล่อยนานไปเรื่อยๆ มาตรการ “ชั่วคราว” เหล่านี้จะกลายเป็นกับดักทางการคลังของรัฐบาล ถ้าเราปล่อยให้อุดหนุนแบบนี้ไปถึงสิ้นปีและสถานการณ์ราคานํ้ามันไม่ต่างจากเดิมมากนัก ต้นทุนเหล่านี้มีแนวโน้มจะสูงถึงราว 180,000-200,000 ล้านบาทหรือประมาณ 6% ของงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลทั้งปี

 

ได้เวลาแล้วครับที่เราจะทบทวนมาตรการอุดหนุนราคานํ้ามันดีเซลแบบเหวี่ยงแห ที่ทำกันมาหลายสิบปี และเปลี่ยนมาใช้การอุดหนุนรูปแบบอื่นที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย อย่าปล่อยให้การอุดหนุนนี้คุกคามความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ