FED นั้นเพิ่งประกาศขึ้นดอกเบี้ยไป 0.25% เป็น 4.75% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยบ้านเรานั้นก็ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เช่นกันไปอยู่ที่ 1.75% ซึ่งยังน้อยกว่าเยอะ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความอลหม่านของธนาคารในอเมริกาและยุโรป เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา เพราะเงินฝากที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงโควิดของธนาคารซิลิคอนวัลลี่ ถูกนำไปบริหารต่อเป็นสินทรัพย์โดยเป็นพันธบัตรระยะยาวที่มีความเสี่ยงตํ่าแต่ให้ดอกเบี้ยตํ่าตามไปด้วย
แต่คราวนี้เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนตํ่า อย่างเช่น ธนาคารซิลิคอน วัลลี่ ทำให้มูลค่าปัจจุบันของสินทรัพย์นั้นตกลงอย่างมาก ผู้ฝากเงินที่ดันเป็นรายใหญ่ก็พากันตื่นตระหนกไปถอนเงินออกมาจนธนาคารซิลิคอนวัลลี่นั้นรับไม่ได้ ธนาคารแปลงสินทรัพย์มาไถ่ถอนคืนไม่ทัน เกิดเป็นแบงค์รัน (Bank Run)
คราวนี้เฟดเลยต้องออกมาแทรกแซง มีนโยบายการเงินเร่งด่วน ที่ออกอีกไม่กี่วันถัดมาชื่อ Bank Term Funding Program (ดูอ้างอิง) โดยธนาคารพานิชย์สามารถนำพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวทั้งหลายที่มูลค่าปัจจุบันหดลงไปมากมา เป็นตัวคํ้าประกันเพื่อขอรับเงินกู้ฉุกเฉินได้จากทาง Fed
การขึ้นดอกเบี้ยโดย Fed จึงเป็นปัญหา มีนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองฝั่งซ้ายออกมาตำหนิว่า Jerome Powell นั้น ขึ้นดอกเบี้ยเร็วไปถึงสี่จุดรอบปี และคำถามก็คือ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยไปถึงเมื่อไหร่และด้วยอัตราไหน
“เงินเฟ้อ” คือ เหตุผลเดียวของการขึ้นดอกเบี้ย ที่มาจากการประกาศดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก นักเศรษฐศาสตร์ใช้วิธีวิเคราะห์แบบเคนส์เซี่ยน โดยคิดกันว่าดอกเบี้ยนั้น มีผลต่อการลงทุนที่เป็นส่วนหนึ่งของ demand ในระบบเศรษฐกิจ
หากความต้องการที่มาจากผลของการลงทุนนั้นมีมากไป ก็จะไปดึงให้เส้นอุปสงค์ หรือ เส้นดีมานนั้นเลื่อนออกไปทางขวา จนทำให้ราคาเพิ่มขึ้น เกิดเป็นเงินเฟ้อ
แนวทางที่ธนาคารทั่วโลกใช้ก็คือ การควบคุมดีมานนั้นโดยการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้ความต้องการการลงทุนลดลง เมื่อดอกเบี้ยกู้ยืมนั้นสูงขึ้น เป็นการควบคุมให้เส้นอุปสงค์เลื่อนกลับมาทางซ้ายเหมือนเดิม ระดับราคาเงินเฟ้อจะได้กลับมาลดลง โปรดดูภาพด้านล่าง
แต่ที่เป็นปัญหา ก็เพราะว่าเงินเฟ้อครั้งนี้นั้น ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ มาคราวนี้เงินเฟ้อเกิดขึ้น เพราะว่าภาคธุรกิจขึ้นราคา mark up เอากำไรมากกว่าเดิมในช่วงวิกฤต
หากท่านผู้อ่านดูภาพด้านล่าง ก็จะเห็นว่าตามสถิติแล้วเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดนี้สามารถจำแนกว่าเกิดจากการทำกำไรเกิน 50% ในขณะที่ค่าแรงมีส่วนไม่ถึง 8% แตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
ข้อเท็จจริงนี้ที่เงินเฟ้อในช่วงโควิด มาจากการเอากำไรเพิ่มขึ้นเป็นที่รู้กันในหมู่ธนาคารกลางชาติตะวันตก โดยอาทิตย์ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหราชอาณาจักร ก็ออกมาเตือนให้ภาคธุรกิจหยุดขึ้นราคา
ธนาคารกลางสหรัฐเองก็รับรู้ว่าเงินเฟ้อในครั้งนี้มาจากการโก่งกำไรของฝ่ายทุน โดยมีหลักฐานเป็นรายงานผลประกอบการของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในประเทศตะวันตก ในไทยเราก็เห็นว่า บริษัทพลังงานทำกำไรเพิ่มได้เป็นสิบๆ เปอเซ็นต์ เป็นที่ฮือฮาในช่วงที่สังคมอยู่ในวิกฤต
คำถามทางวิชาการจากหลักฐาน ข้อเท็จจริงใหม่นี้ก็คือ “เงินเฟ้อ” คืออะไร ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ควรต้องมาคิดทำความเข้าใจใหม่
โดยแนวคิดแบบเคนเซี่ยนฝั่งซ้ายที่เริ่มโดย Joan Robinson นั้นมองว่า เงินเฟ้อเป็นอาการ (symptom) ของความขัดแย้งในการกระจายรายได้ระหว่างทุนและแรงงาน แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับความเข้าใจฝั่งขวาแบบ Milton Friedman ที่บอกว่าเป็นเงิน เฟ้อเป็นเรื่องของจำนวนเงินในระบบ
ความเข้าใจนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปของธนาคารกลางอาจทำให้เกิด Hard Landing เศรษฐกิจตกตํ่าทั้งระบบ ประเทศตะวันตกขณะนี้มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ผลและซํ้ายังส่งผลร้าย
ในขณะที่เมืองไทยเราก็มีการควบคุมราคาไม่ได้มีเงินเฟ้อมาก แต่ก็มีปัญหาทางโครงสร้างของการกระจาย รายได้ระหว่างทุนและแรงงานที่ส่งผลกระทบถึงการเติบโต
https://www.federalreserve.gov/monetarypolicy/bank-term-funding-program.htm
https://www.kansascityfed.org/Economic% 20Review/documents/9329/EconomicReview V108N1GloverMustredelRiovonEndeBecker.pdf
https://www.epi.org/blog/corporate-profits-have-contributed-disproportionately-to- inflation-how-should- policymakers-respond/
https://www.bbc.com/news/business- 65067723?fbclid=IwAR2uIO2Y2nX2rwPKhveNev6 NvOMBp9D4M4iQYKeED0rE5Xfin-eFt3vpvZc