การกระจายรายได้ใหม่ ในโลกยุค Next Normal

19 เม.ย. 2566 | 04:43 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 04:43 น.

การกระจายรายได้ใหม่ ในโลกยุค Next Normal : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.วรมาศ ลิมป์ธีระกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,880 หน้า 5 วันที่ 20 - 22 เมษายน 2566

ปัจจุบันนี้ โลกของเราได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ผู้คนเริ่มกลับมาทำงาน เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศก็เริ่มฟื้นตัว ท่ามกลางความผันผวนจากปัจจัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลพวงของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน และ การคลัง

รวมทั้งปัจจัยทางด้านอุปทานของราคาพลังงานจากความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซีย และยูเครน หนี้สาธารณะของนานาประเทศก็สูงขึ้น เป็นประวัติการณ์ 

 

 

 

 

ในช่วงปี ค.ศ. 2020-2022 อัตราการฟื้นตัวของแต่ละประเทศหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้ สูง เช่น กลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้น ค่อนข้างฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้น้อย 

ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งนั้น สามารถปรับตัวได้ดีกว่าในวิกฤตการณ์ต่างๆ เนื่องจากมีการสะสมสินทรัพย์ ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งและระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น ในขณะที่รัฐบาลของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้ตํ่านั้น ต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณ
 

สำหรับคอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ ฉบับนี้ จะขอนำบทวิเคราะห์จาก รายงาน Poverty and Shared Prosperity 2022 โดย World Bank และ รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมลํ้าของประเทศไทย ปี 2564 โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาเปรียบเทียบการกระจายของรายได้และทรัพย์สิน ระหว่างค่าเฉลี่ยของโลกกับประเทศไทยให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกัน

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา สัดส่วนคนจน (Poverty rate) ของประชากรโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 38 เหลือร้อยละ 10.5 ในปี 2015 และ ลดลงเหลือร้อยละ 8.4 ในปี ค.ศ. 2019

แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีค.ศ. 2020 เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนคนจนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 9.3 หรือมีคนตกอยู่ในความยากจนถึง 713.8 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 93 ล้านคน) จากสถานการณ์ดังกล่าวราคาอาหาร และผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้นอีก 95 ล้านคน 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ต่างจากวิกฤตการณ์ในอดีต ที่มีผลกระทบค่อนข้างจำกัด เช่น Asian Economic Crisis ที่ค่อนข้างรุนแรง ก็เพิ่มสัดส่วนคนจนขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้น หากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในทิศทางเดิม สัดส่วนคนจนของประชากรโลกในปี 2030 อาจยังคงอยู่ที่ร้อยละ 7 

 

 

การกระจายรายได้ใหม่ ในโลกยุค Next Normal

 

 

สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนคนจนในปี พ.ศ. 2564 เท่ากับ ร้อยละ 6.32 (4.4 ล้านคน) ลดลงจากร้อยละ 6.83 ในปี พ.ศ.  2563 กลุ่มคนยากจนในประเทศไทยนั้น มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.51 หากแต่เป็นการเพิ่มขึ้นเงินโอนจากรัฐและสิ่งของที่ได้รับมากว่า 3 ใน 4 ส่วนรายได้จากเงินเดือนและการประกอบธุรกิจนั้น ลดลงร้อยละ 12.9 และ ร้อยละ 5.5   

นอกจากปัญหาความยากจนจะทวีความรุนแรงขึ้นแล้ว ปัญหาความเหลื่อมลํ้าด้านรายได้ก็รุนแรงขึ้นเช่นกัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ความเหลื่อมลํ้าด้านรายได้ระหว่างประเทศ มีแนวโน้มที่จะลดลง เนื่องจากอัตราการขยายตัวของรายได้ของกลุ่มประชากรที่ยากจนนั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 

แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลับย้อนทิศทางที่เป็นบวกเหล่านั้น และทำให้ปัญหาความเลื่อมลํ้าเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมลํ้าด้านอื่นๆ นั้นเด่นชัดขึ้น โดยระหว่างปี ค.ศ. 2020-2022 กลุ่มที่มีรายได้สูงมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.3 ในขณะที่กลุ่ม Bottom 40 มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.1-2.5 

ทั้งๆ ที่ช่องว่างรายได้ระหว่างประเทศที่รํ่ารวยและประเทศที่ยากจนจะกว้างขึ้น แต่ค่าสัมประสิทธิ์ Gini ของโลกกลับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 0.620 ในปีค.ศ. 2019 เป็น 0.626 ในปี ค.ศ. 2020 (จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 0.619) เพราะได้อานิสงส์จากความเหลื่อมลํ้าด้านรายได้ภายในประเทศ ที่ลดลงนั่นเอง (ถ้าความเหลื่อมลํ้าด้านรายได้ภายในประเทศไม่ลดลง ค่าสัมประสิทธิ์ Gini อาจสูงกว่านี้ประมาณร้อยละ 37) 

ในปี พ.ศ. 2564 ค่าสัมประสิทธิ์ Gini ของประเทศไทย เท่ากับ 0.430 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.429 ในปี พ.ศ. 2562 แต่รายได้ดังกล่าวนั้น นับรวมเงินและสวัสดิการที่ครัวเรือนได้รับจากการช่วยเหลือของภาครัฐ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดลงหลังเศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ผลกระทบของโรคโควิด-19 นั้น ยังขยายวงกว้างไปกว่าเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning loss) เนื่องจากนักเรียนไม่ได้เข้าเรียนในชั้นเรียนปกติ ซึ่งอาจส่งผลลบต่อรายได้ประชากร ทั้งในระดับบุคคล และผลิตภาพของประเทศ ในอนาคต ต่อไปอีกถึง 10 ปี 

ปัจจัยแวดล้อมที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย และ ยูเครน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงของประเทศจีน รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อด้านอาหารและพลังงาน

ถึงแม้ว่าราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นผลบวกต่อครัวเรือนชนบทที่ประกอบอาชีพการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้น้อย  แต่ครัวเรือนยากจนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง จะได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลควรเข้าให้การช่วยเหลืออย่างจริงจัง

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศที่มีรายได้สูง (HICS) และ รายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (UMICS) ให้ความช่วยเหลือในรูปของเงินโอนให้แก่ประชาชน (Universal Transfers) ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย (LICS) และรายได้ปานกลางค่อนข้างน้อย (LMICS) ใช้วิธีให้เงินอุดหนุน และเงินโอนแบบเฉพาะกลุ่ม (Targeted Transfers) ซึ่งทำได้ง่ายละรวดเร็วผ่านระบบการเงินดิจิทัล 

ถึงแม้ว่าการให้เงินอุดหนุนในวงกว้างและรวดเร็ว รวมทั้งให้ผลดีในด้านประชานิยม แต่ก็มีข้อเสีย คือ ทำให้ราคาตลาดบิดเบือน  ผลการวิเคราะห์ได้แสดงให้เห็นว่า นโยบายการคลังนั้นช่วยลดสัดส่วนคนจนในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลางได้ถึงร้อยละ 2.4 

แต่ขณะนี้รัฐบาลหลายประเทศ ต้องเผชิญกับสภาวะการขาดดุลทางการคลัง และหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีช่องว่างทางการคลัง ในการที่จะฟื้นฟู หรือ เตรียมการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างจำกัด รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ และถอนคันเร่งนโยบายเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งย่อมส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งใน ระยะสั้น และระยะยาว

การช่วยเหลือผ่านเงินโอนและเงินอุดหนุนนั้น เป็นเพียงการเยียวยาบาดแผลเฉพาะหน้า และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งผลของนโยบายดังกล่าว ยังขึ้นอยู่กับการนำเงินที่ได้ไปใช้จ่าย

ด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำกัด รัฐบาลควรเน้นการลงทุนที่ส่งผลบวกต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนด้านการศึกษา ระบบสาธารณสุข ไฟฟ้า รวมถึงการวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อการเจริญอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

แหล่งที่มา :

1. World Bank (2022). Poverty and Shared Prosperity 2022 https://www.worldbank.org/en/publication/poverty-and-shared-prosperity

2. สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2565). รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมลํ้าของประเทศไทย ปี 2564 https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=13081