ในช่วงเดือนเมษายน และ พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ผู้อ่านน่าจะรู้สึกได้ถึงความร้อนแรงของสภาพอากาศในภูมิภาคที่ท่านอยู่ได้เป็นอย่างดี หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า ร้อนจนทนไม่ได้ก็เป็นได้ เราก็ตั้งคำถามกันมากมาย เช่น สมัยเป็นเด็ก มันไม่ร้อนขนาดนี้นะ หรือ มีความสงสัยว่า ความร้อนที่รู้สึกว่าร้อนแตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมา มันเกิดจากอะไรกันแน่
แน่นอนในภาวะอุณหภูมิของนํ้าในมหาสมุทร ที่เรียกว่า เอลนิโน ซึ่งทำให้เกิดสถาวะที่แห้งแล้ง ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ทว่า สภาวะนี้เป็นวัฏจักร ที่สับเปลี่ยนกันมาเป็นประจำ แต่ทำไมในรอบนี้เราถึงรู้สึกได้ว่ามันร้อนมากกว่าแต่ก่อน
หนึ่งในสาเหตุที่ชัดเจนคือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดการปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศที่มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างต่อเนื่อง
ก๊าซเรือนกระจก คืออะไร ตัวหลักหนึ่งได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ และยังมีก๊าซอื่นๆ อีก เช่น มีเทน ซึ่งเกิดได้จากของเสียต่างๆ หรือจากกระบวนการผลิตนํ้ามันฟอสซิล เป็นต้น ก๊าซอื่นๆ ที่เราอาจจะรู้จักกันก็เช่น ไนตรัสออกไซด์ โอโซน และ ไอนํ้า ทั้งนี้ยังมีมากกว่านี้
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เช่น การละลายของธารนํ้าแข็ง นำไปสู่การเพิ่มสูงขึ้นของระดับนํ้าทะเล อุณหภูมิของนํ้าทะเลที่เปลี่ยนไป มีผลต่อระบบนิเวศในทะเลและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมนุษย์ด้วย เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการชะลอปัญหานี้ ประเทศต่างๆ ในโลกได้มีแนวคิดเรื่อง Net Zero หรือ แนวคิดการสร้างความสมดุลระหว่าง ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ แล ะก๊าซเรือนกระจกที่ถูกกำจัดออกจากบรรยากาศ
เพราะการหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบจะเป็นไปไม่ได้ในความรู้และเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพราะในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความสะดวกสบายต่างๆ นั้น พื้นฐาน คือ การใช้พลังงานที่มากขึ้นทั้งสิ้น เมื่อความต้องการใช้พลังงานมีแต่จะเพิ่มขึ้น ก๊าซเรือนกระจกก็จะถูกปล่อยมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นแนวคิดเรื่อง Net Zero จึงมุ่งเน้นไปที่สมดุล มากกว่าการลดก๊าซเรือนกระจก
ในส่วนของประเทศไทยเอง รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างความสมดุลของก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2065 หรือปี พ.ศ. 2608 หรือในอีก 41 ปี ในขณะที่กลุ่มสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าไว้ในปี ค.ศ. 2050
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจก ที่ได้รับการปล่อยออกมามากที่สุด ทำให้เป็นเป้าหมายแรกสำหรับหลายประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองได้มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่ภาวะ Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอนภานในปี ค.ศ. 2050 หรือปี พ.ศ. 2593
โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นจากโรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง การผลิตพลังงานในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือชีวภาพ หรือการเกษตร
จะเห็นได้ว่า การลดนั้นทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น การผลิตพลังงานจากพลังงานทางเลือกอื่น ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่น้อยกว่าพลังงานที่ใช้ในปัจจุบัน
การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการใช้พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย เช่น การเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น หรือ การใช้อุปกรณ์ในการตรวจจับความเคลื่อนไหว เพื่อเปิดและปิดไฟเมื่อมีกิจกรรมในบริเวณนั้นๆ ไปจนการลงทุนปรับกระบวน การผลิต เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจและสังคมมีความก้าวหน้าและพัฒนา เครื่องอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีต่างๆ ล้วนแต่ใช้พลังงานหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ทำให้การลดการใช้งานลงเป็นไปได้ยาก เช่น การลดการใช้นํ้ามันโดยการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ในมุมของผู้ใช้ อาจจะลดต้นทุนค่าพลังงาน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ค่าไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างถูก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเชื้อเพลิง
เมื่อเรามองในภาพรวมด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องมองโครงสร้างและองค์ประกอบอื่น เช่น พลังงานไฟฟ้าผลิตจากเชื้อเพลิงอะไร ถ้าจะสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานเช่น การเข้าถึงสถานีชาร์จไฟฟ้าพร้อมไหม ต้องลงทุนมากน้อยอย่างไร โดยภาคส่วนไหน
หรือแม้กระทั่งโดยเทคโนโลยีปัจจุบัน กระบวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ของรถ เช่น แบตเตอรี่ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น การเข้าสู่ภาวะสมดุลของก๊าซเรือนกระจก หรือแม้แต่ความเป็นกลางทางคาร์บอน มีความซับซ้อน และต้องคำนึงถึงอีกฝั่งหนึ่งของการสร้างความสมดุลคือการกำจัดนั่นเอง
การกักเก็บคาร์บอนที่ปล่อยออก หรือ ที่มีอยู่ในบรรยากาศ มีทั้งรูปแบบที่เราทราบกันดี เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียว การปลูกป่า ปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยในการดูดซับก๊าซที่ไม่พึงประสงค์ ไปจนถึงการลงทุนใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนและต้นทุนที่สูง เช่น การกักเก็บไว้ในชั้นใต้ดิน หรือแม้แต่การใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน เพื่อสร้างแรงจูงใจ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการผลักดันไปสู่ความสมดุลของก๊าซเรือนกระจกนั้น มีต้นทุน ซึ่งรูปแบบหรือแนวทางที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับลักษณะลักษณะอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม สถานะทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เช่นพื้นที่ทีมีการเพาะปลูกเป็นหลัก การปลูกพืชหมุนเวียนเป็น การกักเก็บมีเทน ลดการขุดไถที่เป็นการปล่อยมีเทนในพื้นดิน หรือแม้แต่การใช้มีเทนจากของเสียเพื่อการสร้างพลังงาน
ในเชิงเศรษฐศาสตร์ เราสนใจเรื่องความเหมาะสมในการเลือกแนวทางทั้งในด้านประสิทธิภาพ ความเป็นไปได้ และต้นทุนที่ต้องจ่าย เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 100 เมกะวัตต์ อาจต้องใช้เงินลุทนถึงสี่พันล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ตํ่า และไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์สามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับครัวเรือนได้ราว 75,000 ถึง 80,000 ครัวเรือนต่อปี
แต่ต้องคำนึงถึงการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางคืน ค่าแบตเตอรี่ คุ้มค่าหรือไม่ในปัจจุบัน อนาคต ต้นทุนจะลดลงไหม เช่นราคาแผงโซลาเซลล์ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง คู่กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
ในระดับครัวเรือน เราช่วยได้หลายรูปแบบ โดยหลักการคือลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น เช่น การใช้เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวดังที่กล่าวไปข้างต้น หรือแม้แต่สิ่งง่ายๆ แค่เราลดการเปิดไฟในบ้านโดยเฉพาะในห้องหรือส่วนที่ไม่มีกิจกรรมเป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่ง การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน เช่น การเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED การเปลี่ยนกรอบประตูและหน้าต่างที่เก่าและเสื่อมสภาพ หรือ แม้แต่การปรับปรุงอาคารเพื่อให้สามารถเก็บความเย็นและลดอุณหภูมิภายในตัวอาคารได้ดี ก็เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานได้ โดยที่เราสามารถมีกิจกรรมหรือวิถีชีวิตที่ไม่ต่างจากเดิมนัก
ทั้งนี้การสร้างแรงจูงใจเชิงนโยบายจากรัฐบาล เช่น การที่เราสามารถนำรายจ่ายในการปรับปรุงอาคาร ที่อยู่อาศัย มาไช่วยลดภาระภาษีเงินได้ ก็สามารถช่วยสนับสนุนได้อีกทางนึง
ในส่วนของการกักเก็บคาร์บอน เทคโนโลยีที่มีใช้ในปัจจุบันยังไม่นิ่ง และมีการลงทุนค่อนข้างสูง เช่น โครงการที่ลงทุนระดับ สามหมื่นล้านบาท ถึง สี่หมื่นล้านบาท สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ปริมาณ หนึ่งล้านตันต่อปี โดยการกักคาร์บอนที่สร้างขึ้นและทำการเก็บไว้ใต้ดิน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่เริ่มใช้ไม่นาน ผลกระทบระยะยาว ยังไม่ได้รับการยืนยันครับ
ในภาพรวมระดับโลก องค์กรระหว่างประเทศด้านพลังงานเช่น IEA ได้เคยประเมินไว้ว่า หากเราจะสามารถบรรลุ Net Zero ในระดับโลกได้ภายในปี ค.ศ. 2050 เราต้องลงทุนในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด ถึงกว่า 5 ล้านล้าน USD ภายในปี ค.ศ. 2030 และเพิ่มเป็นกว่า 8 ล้านล้าน USD ในปี ค.ศ. 2050
สรุปง่ายๆ คือ เรื่องภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญ แต่การจัดการเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ต้องใช้ทรัพยากรและการลงทุนอย่างมาก
กลับมามองที่ประเทศไทยของเรา ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ การลงทุนที่จะดำเนินการ เพื่อไปสู่เป้าหมายทั้ง Net Zero และ Carbon Neutrality นั้น เราต้องลดการลงทุนที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน การวางแผนในระยะสั้น ระยะยาว การลดผลกระทบของการเปลี่ยนผ่าน หรือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะทำเช่นไร ประโยชน์ที่จะได้รับ
นอกเหนือจากด้านสิ่งแวดล้อมจะช่วยทำให้โครงการหรือการลงทุนเหล่านั้นคุ้มค่าหรือเหมาะสมมากขึ้นหรือไม่ อะไรที่ทำได้ง่าย เราควรรีบลงมือทำ เช่น การลดการเปิดไฟในอาคาร ในส่วนที่ไม่จำเป็น หรือการทยอยเปลี่ยนหลอดไฟ เป็นหลอดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อหลอดเก่าหมดอายุ การช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนและลดอุณหภูมิ เป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราช่วยกันทำได้
สำหรับการจัดการภาพใหญ่จากรัฐบาล ควรต้องเตรียมการให้ดี เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ที่เกี่ยวข้อง ในระยะสั้น เราอาจจะเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์และเทคโนโลยี ในระยะยาว การลงทุนในระบบการศึกษาที่มุ่งเป้าไปที่การพัฒนา และวิจัย
เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับลักษณะของประเทศไทยและทำได้เอง จะช่วยลดต้นทุนในการจัดการ และเป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในระยะยาวได้อีกด้วย
หรือแม้แต่การสร้างระบบภาษีหรือแรงจูงใจอื่นๆ เพื่อให้องค์กรเอกชนและภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมช่วยอย่างจริงจัง เช่น ผลประโยชน์ทางภาษี จะช่วยลดการใช้งบประมาณภาครัฐได้
ทั้งนี้เอกชนหลายรายได้ทำตรงนี้อยู่เนืองๆ ในรูปแบบ CSR เช่นการปลูกป่า อยู่แล้ว แต่การสร้างแรงจูงใจที่ดี อาจทำให้เราทำได้มากกว่าการเป็นโครงการ CSR หรือแม้แต่อาจจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีหรือแนวคิดใหม่ๆ ในการจัดการได้
สิ่งนึงที่เห็นได้ชัดแต่ยากในการควบคุมดูแล แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คือ การเผาในที่โล่ง หรือในพื้นที่ป่าเพื่อการเพาะปลูกหรือการหาของป่า จะเห็นได้ว่า เป็นการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศที่เกิดจากนํ้ามือพวกเรากันเอง และมีทางเลือกอื่นที่ทำได้ แต่อาจมีต้นทุนสูงกว่า หรือ ต้องปรับความคิดกับพฤติกรรมของคนในพื้นที่ให้ได้ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่น่าจะต้องรีบเข้าไปช่วยกันมากขึ้นครับ
การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและเรารับรู้ได้ การเตรียมตัวรับมือและการช่วยกันชะลอการเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น พวกเราทุกคนควรช่วยกันคนละไม้คนละมือครับ ครัวเรือน เอกชน ภาครัฐ และการร่วมมือกันระหว่างประเทศ เป็นสิ่งจำเป็น
เริ่มจากวันนี้ เราลองสำรวจพฤติกรรมของเราครับว่า เราสามารถปรับอะไรเพื่อลดการใช้พลังงานได้หรือไม่ และลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้นดู เพื่ออนาคตของพวกเราเอง