ทำไม? ต่างชาติขาย บาทอ่อนและเงินเฟ้อ

05 ต.ค. 2566 | 23:00 น.

ทำไม? ต่างชาติขาย บาทอ่อนและเงินเฟ้อ คอลัมน์ เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่านับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาเงินทุนต่างชาติ (Fun Flow) ไหลออกไปจากประเทศถึง 162,246.45 ล้านบาท ซึ่งหากนับเอาแค่ 3 วันแรกของเดือนตุลาคม (2-4 ตุลา) ก็พบว่า ต่างชาติขายไปแล้วรวม 5,075.95 ล้านบาท และขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวดีขึ้น แต่การดีขึ้นที่ว่านี้กลับถูก “ตีกลับ” ด้วยการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปเคลื่อนไหวอยู่ที่ 37-37.30 บาท ซึ่งเกือบจะต่ำที่สุดในปี และก็เป็นการอ่อนค่าลงไปทั้งที่ กนง. เพิ่งจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เข้าสู่ระดับ 2.5% ต่อปี จนดอกเบี้ยทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี

คำถามก็คือ...ทำไมต่างชาติยังขาย ทำไมค่าเงินบาทยังอ่อน และเมื่อคุมเงินเฟ้อได้แล้วยังไงต่อ...???

คำถามแรก...ทำไมต่างชาติยังขาย

คำตอบก็ง่ายๆ นั้นก็เพราะการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ที่ 5.25-5.50% ซึ่งสูงสุดรอบ 22 ปี ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกา อายุ 3 ปี และ อายุ 10 ปี อยู่ในระดับที่สูงกว่า 4.7% ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของไทย ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.5% ต่อปี ทำให้เห็นได้ว่าเมื่อให้ผลตอบแทนที่ต่างกันมากขนาดนี้ ...มันก็ไม่แปลกที่ต่างชาติจะย้ายเงินลงทุนออกไปจากประเทศไทย

 

ส่วนคำอธิบายที่ว่า “ทำไมยังขายออกมาอย่างต่อเนื่อง” ก็ต้องบอกว่า เม็ดเงินของต่างชาติมีอยู่ในประเทศมีจำนวนไม่น้อย ดังนั้นจึงทำให้ต้องทยอยแบ่งขาย เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะขายออกมาให้หมดในช่วงเวลาสั้นๆ

ส่วนคำถามที่ว่า...ทำไมค่าเงินบาทไทยยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

คำตอบก็คงจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

อย่างแรก นั่นก็เป็นคำตอบที่ต่อเนื่องจากคำถามแรก นั่นก็คือ เมื่อมีความต้องการเงินสกุลดอลลาร์มากกว่าสกุลเงินบาท มีสัดส่วนที่แตกต่างกันมาก ทำให้เงินบาทถูกขายออกมาตามหลักของอุปสงค์และอุปทาน (Demand and Supply) หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเงินบาทไม่ค่อยเป็นที่ต้องการก็ขายไม่ออก และ เมื่อขายไม่ออกก็ต้องเพิ่มราคาขายให้สูงขึ้นเพื่อขายให้ได้นั่นเอง

อย่างที่สอง ก็เป็นความต่อเนื่องที่มีแนวโน้มว่า ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงตามภาวะเงินเฟ้อ ที่มาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการแจก Digital Wallet เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย รวมไปถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจก Digital Wallet ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท อาจเป็นเหตุให้รัฐบาลจะต้อง “กู้เงิน” เพื่อนำมาแจก และถึงแม้การแจกที่ว่านี้ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนได้จริง แต่เงินแจกที่มาจากการกู้เงิน ก็จะมีผลทำให้รัฐบาลต้องรับภาระที่มาจากดอกเบี้ยมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ส่วนคำถามที่ว่า...เมื่อคุมเงินเฟ้อได้แล้วจะยังไงต่อ

ต่อคำถามนี้เจ๊เมาธ์ก็บอกเลยว่าไม่มีอะไรที่แน่นอน เพราะแนวโน้มของค่าเงินบาทที่อาจจะอ่อนค่าลงไปอีก นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย Digital Wallet รวมไปถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยว ก็อาจเป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ในอนาคต ซึ่งหากเงินเฟ้อสูงมากเกินไป ก็จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องใช้กลไกของดอกเบี้ยในการควบคุม จนกลายเป็นภาวะ “งูกินหาง” วนกันไปมา

ขณะเดียวกัน ประเด็นในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจและการควบคุมเงินเฟ้อนี้ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากมุมมองของฝั่งของรัฐบาล “ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลักและให้ความสำคัญกับภาวะเงินเฟ้อเป็นเรื่องรอง”

ขณะที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกลับให้ความสำคัญกับ “ภาวะเงินเฟ้อเป็นเรื่องหลัก” ซึ่งหากทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับจูนกันได้ไม่ลงตัว หรือ เดินไปในทิศทางเดียวกันไม่ได้ ก็อาจจะส่งผลกับนโยบายเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งความขัดแย้งที่ว่าทำให้มีข่าวลือเรื่อง “ปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” ก่อนที่จะมีภาพของการออกมาเคลียร์ข่าวกันวุ่นวายไปหมด

*** อย่างไรก็ตาม หุ้นที่ได้อานิสงส์ในทางบวกจากเงินบาทอ่อนค่าก็เป็นทาง หุ้นกลุ่มเกษตรและอาหาร เช่น ITC AAI TU SUN และ PLUS หุ้นกลุ่มอิเลกทรอนิกส์ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกต่างประเทศ KCE และ HANA หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าที่ทำให้คนต่างชาติสนใจมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ได้แก่ ERW CENTEL และ AOT รวมไปถึงกลุ่มอื่นๆ ที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก ได้แก่ MEGA EPG TOG BANPU

*** ส่วนหุ้นที่ได้รับผลเสียเนื่องจากต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น ประกอบไปด้วยกลุ่มสายการบิน ซึ่งประกอบด้วย AAV และ BA กลุ่มพลังงานอย่าง PTTGC TOP IVL PTTEP และ SPRC และกลุ่มโรงไฟฟ้า เช่น GULF BGRIM GPSC RATCH GUNKUL

*** ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าช่วงนี้ยังไม่ต้องคันมากเกินไปนะคะ นั่งทับมือได้ก็นั่งทับไปก่อน ส่วนใครที่มีของอยู่ในมือก็ให้ถือซะว่า “ถ้ายังไม่ขายก็ยังไม่ขาดทุน” จังหวะนี้รอดูไปก่อนดีที่สุดเจ้าค่ะ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,929 วันที่ 8 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566