*** เจ๊เมาธ์ได้ข่าวว่าประธานกรรมการ ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT ได้เสนอชื่อบุคคลเข้าสู่กระบวนการสรรหาเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการ ทอท. แทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลงจากการลาออกไปก่อนหน้า 5 คน และจะว่างลงจากการหมดวาระ ซึ่งประกอบไปด้วย
1. พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ
2. นายสมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
3. นายยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการ บริษัท สโคป จำกัด
4. ศาสตรจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. นางสาวสลักจิต พงษ์ศิริจันทร์ รองอธิบดีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง
6. พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
โดยในรายชื่อที่ว่านี้ ความน่าสนใจตกไปอยู่ที่รายชื่อของ พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากมีข่าวว่า พล.ต.อ.วิสนุ อาจจะได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ทอท. คนใหม่ ในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้
อย่าได้ลืมไปว่านามสกุล “ปราสาททองโอสถ” เป็นเจ้าของธุรกิจสายการบิน อย่าง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BA รวมไปถึงเจ้าของธุรกิจสนามบินอย่าง “สนามบินเกาะสมุย” ดังนั้น ถึงแม้ว่า พล.ต.อ.วิสนุ ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BA ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2566 แต่การเดินออกประตูนี้แล้วเข้าประตูนั้น มันจะต่างอะไรกับเด็กเล่นขายของกันหละ
นี่ยังไม่นับรวมไปถึงชื่อของ “ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์” ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งของ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ ของ บริษัท สโคป จำกัด แต่หากว่าเจาะลึกลงไปก็จะพบว่า บริษัท สโคป จำกัด แห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ของตระกูล “ชินวัตร” ที่ทาง SC เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนที่มากถึง 90%
ดังนั้น จึงทำให้เข้าใจได้ว่า “ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์” ก็คือเด็กฝาก...หรือร่างทรงของ ตระกูล “ชินวัตร” นั่นเอง
เฮ้อ...ก็ในเมื่อ AOT อุตส่าห์ได้ออกมาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งที ก็น่าจะให้ทุกอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ซะหน่อยนะคะ แต่ถ้ายังเดินวนเวียนอยู่ที่เดิมวนเวียนอยู่แต่กับเกมแบ่งเค้ก สืบต่ออำนาจ ก็ทำกันแบบนี้ แล้วเมื่อไหร่บ้านเมืองจะพัฒนาได้สักที เอ้อ...แค่คิดก็เหนื่อยแล้วเจ้าค่ะ
*** แน่นอนว่ากลุ่มหุ้นของเจ้าสัว ถือได้ว่าเป็นกลุ่มหุ้นที่เจ๊เมาธ์บอกมาตลอดว่าเล่นด้วยยากมาก แต่ใครจะไปเชื่อว่าหุ้นใหญ่อย่าง CPALL บริษัทเจ้าของร้านสะดวกซื้ออย่าง “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนแทบทุกคน จะมีสภาพที่ราคาหุ้นต่ำแล้วต่ำอีกได้แบบนี้
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยระดับราคาหุ้นที่ 55 บาทนิดๆ อย่างที่เป็นอยู่นี้ ไม่ใช่ราคาที่เพียงแค่อยู่ในกลุ่มราคาที่ต่ำที่สุดในรอบปีเท่านั้น แต่ระดับราคาที่ว่านี้ ยังถือได้ว่าอยู่ในกลุ่มราคาหุ้นที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ CPALL ได้เข้ามาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยกันเลยทีเดียวนะคะ
คราวนี้เรามาว่ากันถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นของ CPALL ที่ถึงแม้ว่าจะยังไม่ “ต่ำตม” แต่ก็เรียกได้ว่า ต่ำแล้ว...ต่ำอีก ในแบบที่เป็นอยู่เช่นนี้
อย่างแรกซึ่งเป็นคำตอบมาตรฐานที่แทบทุกบริษัทจะนำมาใช้ นั่นก็คือ การอ้างถึงเรื่องภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งยังไม่ทันที่จะฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ก็ต้องมาเจอสงครามรัสเซีย-ยูเครน และตามต่อด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาส จนทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ จนส่งผลให้ต้องลดนํ้าหนักการลงทุนในหุ้นใหญ่อย่าง CPALL ตามไปด้วย
อย่างที่สองเป็นเรื่องของผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ CPALL เป็นบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น หากจะเปรียบเทียบในเรื่องของผลตอบแทน ก็อาจจะต้องนำไปเทียบกันระหว่างหน่วยลงทุนของ CPALL และ ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรโดยเฉพาะพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งดูเหมือนว่า ผลตอบแทนพันธบัตรจะมีมากกว่าอยู่พอสมควร
อย่างที่สาม ก็เป็นเรื่องของผลตอบแทนการลงทุนในตัวหุ้นสามัญของ CPALL ซึ่งมีผลตอบแทนจากเงินปันผลในอัตราที่ไม่ถึง 2% ต่อปี เทียบกับตัวหุ้นกู้ของ CPALL ซึ่งล่าสุดเสนอผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตรา 4.20% ต่อปี
และด้วยการให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันขนาดนี้ ก็คงจะไม่แปลกที่นักลงทุนบางส่วน จะยอมขายหุ้นสามัญในตลาดฯ เพื่อนำเงินมาลงทุนในหุ้นกู้ของ CPALL ที่เพิ่งจะประกาศขายไป แทนที่จะรอรับเงินปันผลรายปี หรือไม่ก็รอลุ้นว่าเมื่อไหร่ราคาหุ้นจะขยับขึ้นซะทีก็เป็นได้
ท้ายที่สุดก็เป็นเรื่องของการแข่งขันในธุรกิจร้านสะดวกซื้อประเภทเดียวกับ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ซึ่งเริ่มจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคู่แข่งเบอร์ใหญ่หลายรายเข้ามาเล่นในตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็น “คาราบาวกรุ๊ป” ของทาง “เสถียร เสถียรธรรมะ” ซึ่งส่งทั้ง “ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส” และ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ซึ่งกระแสกำลังมาแรงเข้าประกวด
ส่วนทางฝั่งของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ร้านสะดวกซื้ออย่าง “บิ๊กซี มินิ” รวมถึงเตรียมยกระดับ “ร้านโดนใจ” ให้เป็นร้านโชห่วยสมัยใหม่เข้ามาแย่งส่วนแบ่ง
นอกจากนี้ยังมี “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” แห่งเครือสหพัฒน์ ซึ่งมี “ร้านสะดวกซื้อ 108” รวมถึง “ลอว์สัน 108” และนี่ยังไม่รวม “ตระกูลจิราธิวัฒน์” ที่พร้อมที่จะเสียบอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
สรุปรวมที่เจ๊เมาธ์ร่ายยาวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้บอกว่า CPALL กำลังแย่ แต่แค่จะหาคำตอบว่า ทำไมราคาหุ้นของ CPALL จึงยังไม่ไปไหน เรื่องมันก็มีเท่านี้เองเจ้าค่ะ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,935 วันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566