*** การติดแคชฯ หรือที่เรียกว่า “หลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย” ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ และเจ๊เมาธ์เองก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเพราะพฤติกรรมของผู้บริหาร พฤติกรรมของผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker: MM) หรือเพราะนักลงทุนหุ้นไทยชอบเล่นหุ้นซิ่งประเภทที่ได้เสียกันแบบทันใจและสะใจกันแน่ เพราะถ้าหากขาดผู้เล่นรายใดในกลุ่มผู้เล่นทั้ง 3 ที่ว่ามา ก็จะทำให้การติดแคชฯ ไม่ครบองค์ประกอบ เพราะราคาหุ้นจะถูกดันราคาได้ยากมาก
ขณะเดียวกัน หุ้นที่ติดแคชฯ ก็มักจะเป็นหุ้นหน้าเดิม หรือไม่ก็เป็นหุ้นที่มีรูปแบบการทำราคาหุ้นในแบบเดิมๆ เพราะเพียงแค่เห็นการขยับราคา ไม่ว่าจะมองในมุมไหน ก็รู้ว่าหุ้นตัวนี้จะน่าต้องถูกจับติดแคชฯ อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าจะโดนเมื่อไหร่ก็เท่านั้น
แต่หากนับตั้งแต่เปิดตลาดในช่วงต้นปีมาจนถึงวันนี้ หากไม่นับ MGI ซึ่งเป็นหุ้นน้องใหม่ที่พึ่งจะเข้าตลาด หุ้นที่เหลืออีก 3 ตัว ซึ่งประกอบไปด้วย BROOK ZIGA และ JTS ซึ่งถูกอัพเกรดเป็นแคชระดับที่ 2 ต่างก็ล้วนแล้วแต่เป็นหุ้นหน้าเก่าที่เคยติดแคชฯ ซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบด้วยกันทุกตัวตามรายละเอียดดังนี้
บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI รายนี้เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับที่ 1 เริ่มตั้งแต่วันที่ 2-18 มกราคม 2567 หลังจากที่ MGI เริ่มต้นการเข้าซื้อขายหุ้นครั้งแรกในวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ด้วยหุ้นไอพีโอจำนวน 60 ล้านหุ้น ที่ราคาจองซื้อ 4.95 บาท จนสามารถปิดตลาดในวันแรกไปที่ 8.50 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 71% ก่อนที่จะปิดราคาที่ 16.90 บาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 350% จากราคาไอพีโอในอีก 4 วันต่อมา
และหลังจากนั้นราคาหุ้นของ MGI ก็มีความผันผวนลากขึ้นลงอย่างรุนแรง จนปิดราคาในวันสุดท้ายของปี 2566 ไปด้วยราคา 19.00 บาท โดยมีค่าพีอีที่สูงกว่า 40 เท่าก่อนที่จะถูกจับติดแคชฯ ไปในวันที่ 28 ธันวาคม 2566 นั่นเอง
บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BROOK รายนี้เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับที่ 1 เริ่มตั้งแต่วันที่ 2-18 มกราคม 2567 หลังจากก่อนหน้านี้เคยถูกจับติดแคชฯ มาแล้วในช่วงที่ราคาบิตคอยน์กำลังบูมเมื่อปี 2564 ซึ่งตอนนั้นเจ๊เมาธ์เคยตั้ง
ขอสังเกตเอาไว้ว่า ราคาหุ้นของ BROOK ดูเหมือนจะเคลื่อนที่แบบไม่เป็นตัวของตัวเอง โดยเคลื่อนที่ตามราคาบิตคอยน์โดยตลอด ก่อนที่ล่าสุดหลังจากที่ราคาบิตคอยน์กลับมาแรงอีกครั้ง ราคาหุ้นของ BROOK ก็กลับมาวิ่งแรงตามไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2566 ก่อนติดแคชฯ ราคาหุ้นของ BROOK มีปริมาณการซื้อขายที่ผิดปกติรวมถึงราคาหุ้นก็ปรับขึ้นมาแรงกว่าปกติตามไปด้วย
บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA รายนี้เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับที่ 1 เริ่มตั้งแต่วันที่ 3-23 มกราคม 2567 หลังจากที่ราคาหุ้นพร้อมด้วยปริมาณการซื้อขายได้ปรับขึ้นมาแบบก้าวกระโดดจนวิ่งชนซิลลิ่งจากการซื้อขาย ในวันที่ 2 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นซื้อขายวันแรกของปี โดยไม่มีพัฒนาการใดที่สำคัญ หรือจะมีก็เพียงแค่เรื่องที่บอร์ดบริหาร ได้อนุมัติให้มีการไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดเวลาเพียงเดือนกว่าๆ เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ZIGA ก็เป็นหุ้นที่เคยถูกจับติดแคชฯ บ่อยที่สุดอีกตัวหนึ่งของตลาดหุ้นไทย ในช่วงเวลา 3-4 ปี ที่ผ่านมา เพราะการลากราคาหุ้นแบบที่ไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหนมาแล้ว ดังนั้น การถูกจับติดแคชฯ ในครั้งนี้จึงไม่น่าแปลกใจ...ก็ประมาณว่าถูกเตะตัดขาก็เท่านั้นเองค่ะ
ท้ายที่สุดก็เป็นทาง บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS เพียงแต่รายนี้จะแตกต่างไปจากหุ้น 3 ตัว ที่เจ๊เมาธ์ว่ามาแล้วเนื่องจากถูกจับติดแคชฯ มาก่อนหน้านี้แล้ว และรอบนี้เป็นเพียงการอัพเกรดจาก หลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับที่ 2 ต้องซื้อหุ้นนั้นด้วยบัญชีแคชบาลานซ์ ห้ามใช้หุ้นนั้นเป็นหลักประกันในการคำนวณวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกประเภทบัญชี และห้าม Net Settlement หลังจากที่ JTS ได้ถูกจับติดแคชฯ ระดับ 1 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 โดยมีสาเหตุมาจากการที่ราคาหุ้นถูกลากขึ้นมาแรง ตามกระแสของบิตคอยน์ และแม้ว่าจะติดแคชฯ ระดับ 1 ไปแล้ว แต่ก็ยังมีการลากราคาต่อไปอีก จนต้องถูกจับติดแคชฯ ระดับ 2 เพื่อลดความร้อนแรง
อย่างไรก็ตาม JTS เป็นหุ้นที่เคยติดแคชฯ เพราะเคยวิ่งแรงจนกลายเป็นหุ้น “ร้อยเด้ง” จากราคาไม่ถึง 5 บาท ดันขึ้นไปจนถึงราคาสูงสุดที่เกือบ 600 บาท จากธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ จนเป็นเหตุให้มีนักลงทุนติดดอยอยู่เป็นจำนวนมาก
และในตอนที่ราคาหุ้นของ JTS ร้อนแรงนั้น...ไม่ว่าจะถูกจับติดแคชฯระดับไหน ก็หยุดความแรงของ JTS ไม่ได้อยู่ดี ซึ่งครั้งนี้ก็คงจะต้องมาดูกันว่าจะมีมาตรการใดที่จะสามารถดับความร้อนแรงของหุ้นตัวนี้ได้อีก
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,955 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2567